รัฐประเมินภาวะเศรษฐกิจไทย – โลก ก่อนปรับลดสัดส่วน ‘หนี้สาธารณะต่อจีดีพี’
สบน.ยันฐานะการคลังไทยแกร่ง หลังเศรษฐกิจฟื้นตัวจากโควิด-19 จ่อทบทวนสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ขยับลดสัดส่วนลงจาก 70% ระบุคกก.นโยบายการเงินการคลังมีอำนาจทบทวนสัดส่วนทุก 3 ปี รมว.คลังชี้ต้องดูปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจโลก เตรียมรายงานผลประชุมฯเข้า ครม. 27 ธ.ค.นี้
ประเทศไทยมีการใช้กรอบวินัยการเงินการคลัง โดยคงระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่ระดับไม่เกิน 60% มานาน จนกระทั่งเกิดวิกฤติโควิด-19 ที่มีการขยายกรอบหนนี้สาธารณะไปที่ 70% ต่อจีดีพีเป็นการชั่วคราวเพื่อรองรับความต้องการก่อหนี้ของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นในการรับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นจึงเริ่มมีสัญญาณจากภาครัฐที่จะทบทวนสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอีกครั้ง
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)เปิดเผยภายหลังการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วานนี้ (19 ธ.ค.) ว่าขณะนี้ระดับหนี้สาธารณะของไทยอยู่ในระดับปกติ ไม่มีอะไรน่ากังวล (Under Control) และเมื่อเทียบกับการคาดการณ์ก่อนหน้านี้จะเห็นว่าตัวเลขหนี้สาธารณะของประเทศต่ำกว่าที่คณะกรรมการฯได้คาดการณ์ไว้ เนื่องจากในขณะนี้เศรษฐกิจได้กลับมาขยายตัวหลังจากสถานการณ์โควิด-19
สำหรับเป้าหมายการคลังระยะกลางรวมทั้งสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ปัจจุบันอยู่ที่ 70% ต่อจีดีพีนั้น ผ.อ.สบน.กล่าวว่าในเรื่องนี้คณะกรรมการฯมีอำนาจตามกฎหมายในการการทบทวนกรอบทุกๆ 3 ปีและติดตามสถานการณ์ความเหมะสมเป็นประจำทุกปี โดยหากเศรษฐกิจมีการขยายตัวก็สามารถที่จะปรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีลงได้ ทั้งนี้ต้องดูเรื่องของความจำเป็นในการใช้งบประมาณ และการลงทุนของภาครัฐด้วย
สำหรับการจำหน่ายพันธบัตรของรัฐบาลในขณะนี้ในส่วนของพันธบัตรที่มีการออกมาจำหน่ายในช่วงนี้นั้นเป็นการออกพันธบัตรเพื่อนำเงินไปใช้ในการชำระเงินกู้ในส่วนของการขาดดุลงบประมาณ ส่วนเงินกู้ตามพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินจากสถานการณ์โควิด-19 วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาทนั้นมีการดำเนินการออกพันธบัตรกู้เงินไปครบทั้งจำนวนแล้ว
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ว่า เศรษฐกิจของไทยดีขึ้นตามลำดับเศรษฐกิจในปีหน้ายังไม่มีความเสี่ยงอะไร ทั้งนี้การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังในวันนี้เป็นการประชุมตามปรกติตามรอบที่กำหนด โดยจะรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 27 ธ.ค.เพื่อรับทราบต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่าในระยะกลางประเทศไทยจะสามารถขยับกรอบหนี้สาธารณะให้กลับมาปกติที่ระดับ 60% ของจีดีพีได้หรือไม่ นายอาคมกล่าวว่า ยังคงต้องพิจารณาก่อน เพราะว่าขณะนี้เศรษฐกิจของเราอยู่ในช่วงที่เริ่มฟื้น และต้องดูผลกระทบจากหลายๆส่วนรวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่จะเกิดขึ้นด้วย
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบรายงานผลการดำเนินการตามาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2565 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยสาระสำคัญของเรื่องคือ การปรับปรุงสถานะหนี้สาธารณะ รายงานการกู้เงิน และรายงานการค้ำประกันที่เกิดขึ้นในปีงบประมาณที่ผ่านมา โดยมีรายการที่สำคัญได้แก่
1.การก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 1.263 ล้านล้านบาท คิดเป็น 88.41% ของแผนการก่อหนี้ใหม่วงเงิน 1.423 ล้านล้านบาท
2.ผลการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1.318 ล้านล้านบาท คิดเป็น 87.73% ของแผนการก่อหนี้ใหม่วงเงิน 1.502 ล้านล้านบาท
3.ผลการชำระหนี้วงเงิน 3.956 แสนล้านบาท คิดเป็น 10.3.09% ของแผนการชำระหนี้วงเงิน 3.84 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ระดับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปี งบประมาณ 2556 มีจำนวน 1.037 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2564 ที่มีจำนวน 1.036 ล้านล้านบาท
โดยหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล และเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งหนี้สาธารณะของประเทศยังคงอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด คือไม่เกิน70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยมีหนี้สาธารณะต่อ จีดีพี ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่ 60.41%
รายงานการประเมินโครงการพัฒนาและโครงการประจำปีงบประมาณ 2565 กระทรวงการคลังโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ดำเนินการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการพัฒนา และโครงการของรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ตามหลักเกณฑ์การประเมินผลโครงการในด้านความสอดคล้อง ของวัตถุประสงค์ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ผลกระทบ และความยั่งยืนของโครงการ แบ่งเป็น
1.โครงการพัฒนา ของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 4 หน่วยงาน 10 โครงการ และ 1 แผนงาน โดยมีหน่วยงานต่างๆ เป็นเจ้าของแผนงานร่วมกัน จำนวน 15 หน่วยงาน ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการ ขยายระบบส่งไฟฟ้า ระยะที่ 11 โครงการสายส่ง 500 เควี เพื่อการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อน น้ำเทิน และ โครงการระบบส่งเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนน้ำงึม 3 และน้ำเทิน 1
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบจำหน่าย โครงการก่สร้างและปรับปรุงเสริมระบบจำหน่าย ระยะที่ 6 โครงการ ก่อสร้างและปรับปรุงเสริมระบบจำหน่าย ระยะที่ 7
การประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการก่สร้างปรับปรุงขยายระบบประปาภูเก็ต โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะเร่งด่วน ประจำปีงบประมาณ 2558 (เพิ่มเติม)
การเคหะแห่งชาติ จำนวน 2 โครงการได้แก่ โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย ผู้มีรายได้น้อย โครงการบ้านเอื้ออาทร ระยะ 3 และ โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย โครงการบ้านเอื้ออาทร ระยะ 4
โครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน: มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (แผนงาน) โดยมีหน่วยงานต่างๆ เป็นเจ้าของโครงการร่วมกัน จำนวน 15 หน่วยงาน จำนวน 21แผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไข ปัญหา เยียวยา และพื้นพูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา เป็นเจ้าของแผนงานร่วมกัน จำนวน 9 หน่วยงาน