'กรมราง' ชี้นโยบายรัฐบาล ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าทำได้จริง
"กรมราง" ลุยศึกษากำหนดเพดานราคาค่าโดยสาร และยกเลิกค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนระบบรางทุกเส้นทาง เตรียมชง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางเข้า ครม.ใหม่ในเดือน ส.ค.นี้ ชี้นโยบายรัฐบาลลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าทำได้จริง
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ขร.อยู่ระหว่างจัดทำโครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูงค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง เนื่องจากปัจจุบันระบบรางเป็นระบบขนส่งเดียวที่ยังไม่มีการควบคุมเพดานราคาค่าโดยสาร ขณะที่ระบบขนส่งทางอากาศ ทางน้ำ และทางบก มีการกำหนดราคาที่ประกาศใช้อย่างชัดเจน ทำให้ผู้โดยสารได้รับความเท่าเทียมในการใช้บริการ ในเกณฑ์อัตราเดียวกัน โดยเบื้องต้น ขร.คาดว่าจะศึกษาโครงการนี้แล้วเสร็จในเดือน ก.พ.2567
"ปัจจุบันค่าแรกเข้าระบบรถไฟฟ้าอยู่ที่ 12 - 17 บาท แล้วแต่สัญญาสัมปทานกำหนดไว้ แต่หลังจากนี้ เมื่อมี พ.ร.บ.ขนส่งทางราง จะมีการกำหนดให้จัดเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว หากเดินทางเชื่อมต่อระบบรางทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง ต้องไม่เก็บซ้ำซ้อน และจะมีการกำหนดเพดานราคาค่าโดยสารให้เป็นอัตราเดียวกัน ทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยมีปริมาณผู้โดยสารมากขึ้นจากอัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรม ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน"
สำหรับการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูงค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง จะเป็นรายละเอียดเพิ่มเติมภายใต้ร่างพระราชบัญญัติขนส่งทางราง พ.ศ. .... ในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดหลักเกณฑ์อัตราค่าโดยสารขั้นสูง และการทบทวนหลักเกณฑ์อัตราค่าโดยสารขั้นสูง โดยการผลักดันให้มีผลบังคับใช้กำหนดเพดานค่าโดยสาร และยกเว้นค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนนั้น จำเป็นต้องรอให้ พ.ร.บ.ขนส่งทางราง มีผลประกาศใช้ ซึ่งขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 และ ขร.อยู่ระหว่างเตรียมเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเดินหน้าต่อในขั้นตอนพิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้
โดยตามขั้นตอนหากรัฐบาบชุดใหม่เห็นด้วยกับการผลักดัน พ.ร.บ.ขนส่งทางราง เมื่อมีการจัดตั้งสภาผู้แทนราษฎรแล้วเสร็จ ตามข้อกำหนด ขร.จะต้องเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับไปยัง ครม.ภายใน 60 วัน นับจากวันที่มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎร เบื้องต้นจึงคาดว่า หากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารอย่างเป็นทางการในเดือน ส.ค.นี้ และมีการเปิดสภาผู้แทนราษฎร ก็จะสามารถเสนอร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางไปยัง ครม.ภายในเดือน ส.ค.นี้ และหากรัฐบาลเห็นด้วย ก็คาดว่าจะเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎรได้ทันที เพื่อเริ่มต้นขั้นตอนพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ซึ่งจะเป็นขั้นตอนโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ดังนั้นคาดว่าจะใช้เวลาในขั้นตอนนี้ไม่นาน ก็สามารถประกาศใช้ พ.ร.บ.ขนส่งทางรางได้
นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า หลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ขนส่งทางราง ระบบรางทุกโครงการที่ยังไม่ทำสัญญาสัมปทาน หรือสัญญาสัมปทานเดิมสิ้นสุดลง จะต้องนำข้อกำหนดเพดานราคา และยกเลิกค่าแรกเข้าตามที่ ขร.ศึกษาไว้ ซึ่งเบื้องต้นรถไฟฟ้าที่มีแนวโน้มใช้เพดานราคาของ ขร. อาทิ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 ช่วง คือ หมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และแบริ่ง - สมุทรปราการ รวมไปถึงรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ รถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล - ทองหล่อ รถไฟฟ้าสายสีเงิน ช่วงบางนา - สุวรรณภูมิ รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม) รถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง และรถไฟฟ้าสายสีส้ม บางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งสายสีส้มจะมีผลต้องรอดูว่า พ.ร.บ.จะแล้วเสร็จก่อนมีการลงนามสัมปทาน
ขณะที่นโยบายหาเสียงของรัฐบาล ที่มีการพูดถึงการปรับลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า อาทิ พรรคก้าวไกลที่เคยระบุว่าจะกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าอยู่ที่ 15 - 45 บาท ขณะเดียวกันยังสามารถเชื่อมต่อระบบฟีดเดอร์อย่างรถโดยสารขนส่งมวลชน (รถเมล์) รวมอัตราราคาการเดินทางอยู่ที่ 8 - 45 บาท ส่วนพรรคเพื่อไทยมีนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งเบื้องต้น ขร.ประเมินแล้วพบว่านโยบายทั้งหมดทำได้จริง แต่ต้องหารือในรายละเอียดว่าจะสามารถประกาศใช้นโยบายเหล่านี้กับกลุ่มเป้าหมายใด และปัจจุบัน ขร.ได้ทำการศึกษารายละเอียดเป็นโมเดลของการผลักดันนโยบายเหล่านี้ไว้แล้ว อาทิ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มผู้ใช้บริการประจำ จะมีจำนวนผู้เดินทางเท่าใด และรัฐต้องสนับสนุนเงินส่วนต่างมากเพียงใด
"ทุกนโยบายทำได้จริง เพราะขณะนี้เรายังไม่รู้ว่าแต่ละนโยบายมีรายละเอียดอย่างไร จะใช้กับกลุ่มใด ดังนั้นต้องขอดูรายละเอียดก่อนว่ารัฐบาลจะมีนโยบายผลักดันใช้ในกลุ่มใด ซึ่งกรมฯ ได้ศึกษาโมเดลไว้ทุกกลุ่มแล้วว่ามีจำนวนคนใช้เท่าไหร่ หากจะเลือกกลุ่มนี้จะต้องใช้งบประมาณรัฐสนับสนุนอย่างไร แต่ปัจจุบันกลุ่มผู้ที่ใช้งานประจำ ถือเป็นผู้โดยสารเดินทางหลัก หากจะมีผลใช้กับกลุ่มนี้ รัฐต้องสนับสนุนเงินส่วนต่างให้เอกชนมากที่สุด"