"มช.-Dow" ชี้ถนนพลาสติกรีไซเคิล ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม จ่อทดสอบบนถนนภาครัฐ
"มช." ผนึก "ดาว ประเทศไทย" เผยผลศึกษาถนนพลาสติกรีไซเคิล ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมแล้วที่จะทดสอบบนถนนของหน่วยงานภาครัฐ
จากการริเริ่มของกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ซึ่งร่วมมือกับ SCGC นำโครงการถนนพลาสติกที่ Dow ได้ทำสำเร็จในหลายประเทศทั่วโลกเข้ามาทดลองทำในประเทศไทย สู่ความร่วมมือกับพันธมิตรหลายภาคส่วน ทั้งภาควิชาการโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคเอกชน บริษัท อริยสิน จำกัด และภาครัฐโดยกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ PPP Plastic (โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน) และรับการสนับสนุนงบประมาณวิจัยจากองค์กรระหว่างประเทศ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) เพื่อให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ทำการศึกษาวิจัยเจาะลึก เพื่อสร้างกระบวนการในการนำพลาสติกใช้แล้วมาประยุกต์ใช้สร้างถนนให้เหมาะสมกับกระบวนการที่ใช้ประเทศไทย รวมทั้งศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้มีการแถลงผลการศึกษาของเฟส 1 เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งมีผลดีที่น่าพอใจ พร้อมทั้งกำลังทำการศึกษาวิจัยต่อยอดในถนนทดลองจริงของภาครัฐ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนสำหรับสร้างเป็นอีกหนึ่งมาตรฐานที่ได้รับอนุญาตให้ใช้กับการสร้างถนนของภาครัฐต่อไป
นายนิโคลัส โคลเลช รองผู้อำนวยการองค์กร Alliance to End Plastic Wastes กล่าวว่า การศึกษานวัตกรรมถนนพลาสติก Paving Green Road Study เฟส 1 ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีการประเมินผลของการใช้พลาสติกเป็นส่วนผสมของถนนยางมะตอย รวมถึงผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศและน้ำ ความสามารถในการรีไซเคิล และคุณสมบัติเชิงกลศาสตร์ของยางมะตอย โดยจากผลการศึกษาเฟสแรกในห้องทดลอง พบว่าพลาสติกรีไซเคิลที่นำมาเป็นส่วนผสมของการทำพื้นถนน ไม่พบสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่มีความแข็งแรงของถนนดีขึ้นและมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น มีความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ถนน และประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา
"เฟสต่อไปของโครงการฯ จะก้าวเข้าสู่การทดลองบนถนนจริง ซึ่งต้องขอขอบคุณกรมทางหลวงชนบทที่ได้จัดสรร ถนนส่วนหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ให้ใช้ในการทดสอบ และเมื่อการทดสอบบนท้องถนนจริงประสบความสำเร็จ ก็จะสามารถสร้างตลาดใหม่เพื่อรองรับขยะพลาสติก และกลายเป็นช่องทางในการกำจัดขยะพลาสติกจากสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งนี้ จะมีการเผยแพร่การศึกษาวิจัยในครั้งนี้สู่สาธารณะชนในรูปแบบ open source เพื่อประโยชน์ในการจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืนต่อไป”
รศ.ดร.พีรพงศ์ จิตเสงี่ยม หัวหน้าคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การทดสอบในห้องทดลองมีการประเมินผล 4 ด้านหลัก ได้แก่ ปริมาณไมโครพลาสติกในอากาศ การปนเปื้อนพลาสติกในน้ำ คุณสมบัติด้านวิศวกรรมของแอสฟัลต์ผสมพลาสติก และความสามารถในการนำมารีไซเคิล ซึ่งผลการทดสอบในแบบจำลองห้องทดลองในเฟสแรก พบว่า วัสดุผสมระหว่างพลาสติกและหินร้อนยางมะตอยไม่ทำให้เกิดก๊าซพิษ (Toxic Gas) และไม่พบไมโครพลาสติกปนเปื้อนในอากาศ และเมื่อทดสอบในสภาพจำลองการขัดผิวเทียบเท่ากับการใช้ถนน 7 ปี ก็ไม่พบพลาสติกหลุดปนเปื้อนในแหล่งน้ำ
ขณะเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบกับแอสฟัลต์ที่ไม่ผสมพลาสติก พบว่า วัสดุแอสฟัลต์ผสมพลาสติกมีคุณสมบัติด้านวิศวกรรมดีกว่าทุกมิติ โดยเฉพาะความสามารถต้านทานการกัดเซาะของน้ำและความชื้นที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ยังสามารถนำวัสดุดังกล่าวที่ผ่านการใช้งานแล้วมารีไซเคิลเพื่อใช้งานใหม่ได้ประมาณ 10% ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า การสร้างถนน 1 กิโลเมตร จะใช้ขยะพลาสติกประมาณ 300-600 กิโลกรัม
ผศ.ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในปี 2565 ได้นำแอสฟัลต์ผสมพลาสติกไปใช้ในโครงการถนนทดสอบผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีตผสมขยะพลาสติกในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีผิวการจราจรกว้าง 4 เมตร ระยะทาง 900 เมตร โดยใช้แอสฟัลต์คอนกรีต 420 ตัน ยางมะตอย 20.5 ตัน ขยะพลาสติกทดแทนยางมะตอย 950 กิโลกรัม ช่วยลดการปล่อยคาร์บอน 2,200 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ขณะเดียวกันก็นำไปใช้สร้างถนนรองรับการจัดงานเกษตรภาคเหนือครั้งที่ 10 มีผิวการจราจรกว้าง 6 เมตร ระยะทาง 740 เมตร ใช้แอสฟัลต์คอนกรีต 533 ตัน ยางมะตอย 26 ตัน ขยะพลาสติกทดแทนยางมะตอย 1,053 กิโลกรัม ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 2,500 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งการสร้างถนนแบบนี้ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก และลดปริมาณยางมะตอยที่ต้องใช้ เท่ากับช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตยางมะตอยไปในตัว
นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ฝ่ายเลขานุการโครงการ PPP Plastics กล่าวถึงข้อดีของการใช้ขยะพลาสติกมาผสมกับแอสฟัลต์เพื่อสร้างถนนว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถรีไซเคิลขยะพลาสติกได้ประมาณ 18% ของขยะพลาสติกทั้งหมด ซึ่งจากสถิติพบว่า ขยะพลาสติกที่มีปริมาณมากที่สุด คือ ถุงพลาสติก ที่มีสัดส่วนประมาณ 50% ของขยะพลาสติกทั้งหมด รองลงมาคือ ฟิล์ม และขวดพลาสติก ขณะเดียวกัน ก็มีการนำถุงพลาสติกไปรีไซเคิลน้อย หรือประมาณ 17% เท่านั้น ทำให้เห็นภาพชัดว่า จะต้องบริหารจัดการขยะถุงพลาสติกมากขึ้น และการนำขยะถุงพลาสติกมาผสมกับแอสฟัลต์เพื่อทำถนนก็เป็นทางออกที่ดีเพื่อแก้ไขปัญหานี้
“นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประเมินว่า หากสามารถใช้ขยะพลาสติกปริมาณ 50,000 ตันต่อปีมาทำถนนก็จะช่วยลดปริมาณขยะได้มหาศาล โดยปัจจุบัน ประเทศไทยรีไซเคิลขยะพลาสติกได้ปีละประมาณ 500,000 ตัน จากปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมดกว่า 2 ล้านตัน ส่วนที่เหลือต้องฝังกลบและเผาเพื่อผลิตพลังงาน”
นายอนุสิษฐ แสงอริยวนิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท อริยสิน จำกัด บริษัทรับเหมาสร้างถนนโครงการนำร่องที่ใช้แอสฟัลต์ผสมพลาสติก กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ปรึกษากับกรมทางหลวงชนบทเพื่อออกแบบเครื่องจักรที่เหมาะสมสำหรับการผสมวัสดุปริมาณมาก และได้นำวัสดุดังกล่าวมาสร้างถนนโครงการทดสอบแล้ว 3 สาย ได้แก่ ทางหลวงชนบท สบ.3050 บ้านปากบาง จ.สระบุรี ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร กว้าง 8 เมตร ทางหลวงชนบท ปท.3026 บ้านหนองแค จ.สระบุรี ระยะทาง 0.85 กิโลเมตร กว้าง 9 เมตร และทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 3224 บ้านป่า-ท่าคล้อ จังหวัดสระบุรี ระยะทาง 0.6 กิโลเมตร กว้าง 9 เมตร
ส่วนผสมที่คิดค้นให้เหมาะสมกับประเทศไทยโดยทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นี้ สามารถใช้สร้างถนนที่ใช้งานได้จริง นี่คือนวัตกรรมที่สามารถนำขยะพลาสติกมารีไซเคิลและใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า ดังนั้นจึงอยากให้ผู้รับเหมารายอื่นๆ เปิดรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำขยะพลาสติกมาสร้างถนนในอนาคตด้วย