โจทย์ใหญ่รัฐบาลใหม่ฟื้นส่งออก เอกชนห่วงขึ้นค่าแรงเพิ่มต้นทุน
พาณิชย์ ถกทูตพาณิชย์-เอกชน เคาะแผนส่งออก 7 ภูมิภาค รวม 350 กิจกรรม ดันยอดตัวเลขส่งออกครึ่งปีหลังเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าทั้งปีพลิกกลับมาเป็นบวก 1-2% เอกชนห่วงค่าเงินบาทผันผวน ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกระทบต้นทุนการผลิต มั่นใจมูลค่าส่งออกพ้นจุดต่ำสุดแล้ว
ท่ามกลางรอยต่อระหว่างรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลใหม่ภายในการนำของพรรคก้าวไกล ที่อยู่ในขั้นตอนเตรียมการจัดตั้งรัฐบาล โดยได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมรัฐบาลอีก 7 พรรค เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2567 ซึ่งตกลงร่วมกันที่จะมีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
สถานการณ์การส่งออกของไทยมีมูลค่าติดลบมาตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 ถึงเดือน มี.ค.2566 โดยไตรมาส 1 ปีนี้ ไทยมีมูลค่าการส่งออก 70,280 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปี 2566 ติดลบ 4.5% การนำเข้ามีมูลค่า 73,324 ล้านดอลลาร์ หดตัว 0.5% และดุลการค้าไตรมาส 1 ขาดดุลการค้า 3,044 ล้านดอลลาร์
กระทรวงพาณิชย์ประชุมร่วมกับทูตพาณิชย์ที่ประจำใน 58 แห่ง 43 ประเทศทั่วโลก เพื่อผลักดันการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2566 ซึ่งจะเป็นแผนงานที่ดำเนินการในช่วงมีรัฐบาลใหม่
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนได้เตรียมความพร้อมรับมือการส่งออกมาตั้งแต่ปลายปี 2565 เพื่อผลักดันการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากคาดการณ์ว่าตัวเลขจะติดลบจากแนวโน้มปัจจัยแวดล้อมที่กดดัน
ทั้งนี้ จากการหารือภายใต้กลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.พาณิชย์) ได้เห็นชอบร่วมกันที่จะต้องมีการจัดทำแผนรองรับ และกำหนดตลาดเป้าหมาย 4 ตลาด คือ ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ CLMV และจีน ซึ่งเป็นตลาดที่ยังมีศักยภาพท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยได้มีการตั้งคณะทำงาน War Room เร่งรัดการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าว เพื่อลงลึกในรายละเอียดของแผนงาน
สำหรับแผนการส่งออกในครึ่งปีหลังได้มีการประชุมร่วมกับทูตพาณิชย์และภาคเอกชน เพื่อประเมินสถานการณ์แนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 และได้ร่วมกันจัดทำแผนขับเคลื่อนการส่งออกใน 7 ภูมิภาคพร้อมกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 350 กิจกรรม ซึ่งคาดการณ์ว่าจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ รวมกว่า 550 ล้านดอลลาร์ เพื่อผลักดันให้เป้าหมายการส่งออกในปีนี้ ที่ตั้งไว้ที่ 1-2%
เร่งแผนเพิ่มส่งออก7ภูมิภาค
ส่วนแผนเป้าส่งออกแต่ละภูมิภาคพร้อมมูลค่าคาดการณ์ ประกอบด้วย 1.ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกา จะเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้อีก 5,380 ล้านบาท และทำให้การส่งออกรวมเพิ่มขึ้น 20%
2.เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย เพิ่มมูลค่าการส่งออกขึ้นอีก 4,163 ล้านบาท ทำให้ส่งออกรวมเพิ่มขึ้น 2.2%
3.จีนและฮ่องกง เพิ่มมูลค่าการส่งออกขึ้นอีก 3,238 ล้านบาท โดยจะทำให้มูลค่าการส่งออกไปจีนทั้งปี เพิ่มขึ้น 1% และฮ่องกง เพิ่มขึ้น 2%
4.ยุโรป เพิ่มมูลค่าการส่งออกขึ้นอีก 2,450 ล้านบาท จะทำให้มูลค่าการส่งออกรวมพิ่มขึ้น 1%
5.อเมริกาเหนือและอเมริกากลาง เพิ่มมูลค่าการส่งออกขึ้นอีก 2,380 ล้านบาท โดยอเมริกาเหนือ มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 4.5% และลาตินอเมริกา เพิ่มขึ้น 4%
6.เอเชียใต้ เพิ่มมูลค่าการส่งออกขึ้นอีก 980 ล้านบาท จะทำให้มูลค่าการส่งออกรวมเพิ่มขึ้น 10%
7.อาเซียน เพิ่มมูลค่าการส่งออกขึ้นอีก 808 ล้านบาท จะทำให้มูลค่าการส่งออกรวมเพิ่มขึ้น 6.6%
จับตาปัจจัยเสี่ยง“ค่าเงินบาท”
นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าเปิดตลาดใหม่ รักษาตลาดเดิม และฟื้นฟูตลาดเก่า ด้วยกลยุทธ์สำคัญ อาทิ การเร่งจัดคณะผู้แทนการค้าเพื่อขยายตลาดศักยภาพ การส่งเสริมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน การจับคู่เจรจาธุรกิจทั้งออฟไลน์และออนไลน์ การผลักดันการส่งออกสินค้า BCG และสินค้านวัตกรรมใหม่ การส่งเสริมธุรกิจบริการมูลค่าสูง โดยเฉพาะดิจิทัลคอนเทนต์ HORECA ร้านอาหาร Thai Select และการปูพรมเจาะตลาดเมืองรอง โดยเฉพาะในอาเซียน สหรัฐฯ และยุโรป
รวมทั้งจะร่วมมือกับภาคเอกชน ตั้งคณะทำงานเป็นรายกลุ่มคลัสเตอร์ หรือกลุ่มสินค้า เพื่อประเมินการส่งออกเป็นรายคลัสเตอร์และสินค้า เช่น หากตลาดส่งออกปัจจุบันชะลอตัว จะมีทางขยายไปยังตลาดอื่นใดได้บ้าง หรือใช้วิธีการใด กระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนได้อย่างไร
สำหรับปัจจัยเสี่ยงในครึ่งปีหลังที่ต้องจับตา คือ ค่าเงินบาท ซึ่งมีความผันผวนคาดเดาได้ลำบาก สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เงินเฟ้อ กดดันกำลังซื้อ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าการขับเคลื่อนแผนงานดังกล่าว จะเป็นส่วนช่วยสนับสนุนให้การส่งออกของไทยในปีนี้ที่ตั้งร่วมกันไว้ที่ 1-2% เป็นไปได้
ห่วงขึ้นค่าแรงเพิ่มต้นทุนส่งออก
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า สิ่งที่น่าห่วง คือ ต้นทุนการผลิตและซัพพลายเชน ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีปัญหาอะไรอีก โดยเดิมมีต้นทุนจากน้ำมัน ค่าไฟและแรงงาน ซึ่งเป็นแผลเก่า และตอนนี้ไม่รู้ว่าจะมีแผลใหม่หรือไม่ และค่าเงินบาทที่สวิงมาก จากต้นปีเคลื่อนไหวจาก 38 บาทต่อดอลลาร์ มา 33 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่า 20 % และปัจจุบันก็ยังสวิงอยู่ หากค่าเงินบาทสวิงเกิน 0.50-1.00 บาท เอกชนก็หนักแล้วเพราะทำให้มีผลกระทบต่อการส่งออกมา
แต่สิ่งที่มาใหม่ คือ นโยบายรัฐบาลใหม่ที่จะเดินหน้าปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทันที 450 บาทจะเป็นผลกระทบต่อภาคการค้าและอุคสาหกรรมรุนแรงมาก
ดังนั้น ภาคเอกชนขอให้พรรคการเมืองที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลพิจารณาการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำบนพื้นฐานของกฎหมายและพิจารณารอบด้านก่อนใช้นโยบายนี้ โดยขอให้เป็นไปตามกลไกไตรภาคี ซึ่งหากปรับขึ้นค่าแรงทันทีจะกระทบต่อะภาคเอกชนเดิมและเอกชนใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนในไทยทำให้ไม่กล้าเข้ามาลงทุนในไทยแน่นอน รวมทั้งกระทบภาคการเกษตรที่ต้องจ่ายค่าแรงเพิ่ม แต่ขายสินค้าเกษตรเท่าเดิมหรือน้อยลงจึงอยากเสนอแนะว่าจะต้องพิจารณาให้รอบด้านก่อน
ส่วนการส่งออกทั้งปีตั้งเป้าหมาย 0-1% แต่จากการประชุมร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ครั้งนี้ถ้าได้ร่วมมือกันจริงจังเชื่อว่าโอกาสตัวเลขส่งออกปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 1-2% ตามที่คาดการณ์กันไว้
สรท.มั่นใจผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผุ้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกของไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว โดยเดือนม.ค.2566 ทำได้ 2 หมื่นกว่าล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าต่ำสุด และเริ่มดีขึ้น จนเดือน มี.ค.2566 ที่หลายฝ่ายคาดว่าจะแย่ แต่ก็ดีกว่าที่คาดไว้ ทำให้ไตรมาสแรก ติดลบเพียง 4.5% และจากนี้คาดว่าทิศทางจะดีขึ้น
นอกจากนี้การทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเจาะตลาด ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มยอดส่งออก อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยภายนอกที่ยังไม่รู้อีกมาก ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ การฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ค่าเงินบาท ซึ่งต้องจับตาอย่างใกล้ชิด แต่เชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือจะทำให้เป้าส่งออกทั้งปีโต 1-2%
นายนาวา จันทนสุรคน กรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ตั้งเป้าหมายการส่งออกปีนี้ติดลบ 1% แต่เชื่อว่ามีโอกาสเติบโตได้ 1-2% หากภาคเอกชนร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการขับเคลื่อนส่งออก โดยจากนี้จะทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ และรายสินค้า เพื่อวางแผนการส่งออก