เปิดงบฯ ‘การรถไฟฯ’ รายจ่ายอะไร สร้างหนี้สะสม 2 แสนล้าน !

เปิดงบฯ ‘การรถไฟฯ’ รายจ่ายอะไร สร้างหนี้สะสม 2 แสนล้าน !

การรถไฟฯ รับยังมีหนี้สะสม 2 แสนล้านบาท พร้อมกางแผนชง ครม. อนุมัติกู้เงินเสริมสภาพคล่องปี 2567 เพิ่มอีก 1.8 หมื่นล้านบาท เจาะลึกสาเหตุสร้างหนี้สะสม พบรายจ่ายประจำปียังพุ่งสูงมากกว่ารายรับเป็นเท่าตัว

Key Points

  • การรถไฟฯ เร่ง 6 ยุทธศาสตร์ฟื้นฟูกิจการ
  • ตั้งเป้าดัน EBITDA เป็นบวกในปี 2570
  • ปัจจุบันมีหนี้สะสม 2 แสนล้านบาท
  • เตรียมเสนอ ครม.กู้เงินเพิ่ม 1.8 หมื่นล้านบาท
  • ขาดสภาพคล่องเหตุรายจ่ายสูงกว่ารายได้เท่าตัว

การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ปัจจุบันเป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในขั้นตอนฟื้นฟูกิจการ หลังจากมีหนี้สะสมมากกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้กำหนดแผนวิสาหกิจการปี 2566 – 2570 ที่อยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการ ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ สู่เป้าหมายลดปัญหาการขาดทุนและมีกำไรก่อนหักภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) มากกว่า 0 ภายในปี 2570 ประกอบด้วย

1.พัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขัน

2.พลิกฟื้นธุรกิจหลัก

3.พัฒนาและสร้างรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการขนส่งระบบราง

4.ปรับรูปแบบธุรกิจสู่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระบบราง

5.ปฏิรูปองค์กรให้สอดคล้องกับการฟื้นฟู

6.พัฒนาระบบรางด้วย BCG Model

นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย  (ร.ฟ.ท.) เปิดใจยอมรับว่า ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ยังมีหนี้สะสมคงค้างอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท เพราะในช่วงที่ผ่านมาการดำเนินกิจการของ ร.ฟ.ท.ยังคงมีภาระอัตราดอกเบี้ยจากเงินต้นที่กู้ยืมมาก่อนหน้านี้ ทำให้รายได้ที่ ร.ฟ.ท.บริหารกิจการมาแต่ละปี ต้องนำไปชดเชยดอกเบี้ย และภาระทางการเงินต่างๆ ประกอบกับต้นทุนการบริหารจัดการที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาพรวมการดำเนินงานของ ร.ฟ.ท.ยังคงมีกระแสเงินสดไม่เพียงพอต่อการดำเนินกิจการ

เปิดงบฯ ‘การรถไฟฯ’ รายจ่ายอะไร สร้างหนี้สะสม 2 แสนล้าน !

อย่างไรก็ดี จากการจัดทำประมาณการกระแสเงินสดประจำปี 2567 ยังพบว่าผลการดำเนินงานในปีงบประมาณดังกล่าว ขาดกระแสเงินสดราว 18,000 ล้านบาท ส่งผลให้ ร.ฟ.ท.มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อใช้ในการดำเนินงาน หรือทำมาเสริมสภาพคล่องการดำเนินกิจการ โดยขณะนี้ได้มีการเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) และได้รับการอนุมัติแล้ว

“ที่ผ่านมาการรถไฟฯ เราขออนุมัติจัดสรรเงินกู้ตลอด ในวงเงินใกล้เคียงกับที่เสนอขอให้ปีงบประมาณ 2567 เพราะที่ผ่านมาเราต้องนำเงินไปชดเชยภาระทางการเงินที่มีหนี้สะสมอยู่ ทำให้ไม่เพียงพอต่อการดำเนินกิจการ ซึ่งขณะนี้การรถไฟฯ ยังอยู่ในช่วงฟื้นฟูกิจการ และมีความพยายามในการหารายได้เพิ่มอย่างต่อเนื่อง”

สำหรับขั้นตอนหลังจากหนี้ ร.ฟ.ท.จะต้องเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณาถึงความเหมาะสม เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ ดังนั้นต้องพิจารณาด้วยว่าจะสามารถเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติได้หรือไม่ ส่วนการจัดสรรวงเงินดังกล่าว จะเป็นอำนาจของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในการพิจารณาความเหมาะสมของแหล่งเงินกู้

ทั้งนี้ หากเจาะลึกในข้อมูลประมาณการกระแสเงินสดในปี 2567 ของ ร.ฟ.ท.พบว่าสาเหตุของการขออนุมัติจัดสรรเงินกู้เพิ่มเติมในปี 2567 และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ ร.ฟ.ท.ต้องกู้เงินมาอย่างต่อเนื่องในทุกปีที่ผ่านมา แจกแจงได้ดังนี้

คาดการณ์รายรับประจำปี 2567 รวม 10,661ล้านบาท โดยแบ่งเป็น

  • รายได้จากการโดยสาร 2,957 ล้านบาท
  • รายได้การขนส่งสินค้า 2,467 ล้านบาท
  • รายได้จากการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง 327 ล้านบาท
  • รายได้จากการบริหารทรัพย์สิน 3,736 ล้านบาท
  • รายได้ค่าธรรมเนียมการดำเนินงาน ICD ลาดกระบัง 499 ล้านบาท
  • รายได้ค่าเช่าตลาดนัดจตุจักร 169 ล้านบาท
  • รายได้จาการดำเนินงานอื่นๆ 503 ล้านบาท

คาดการณ์รายจ่ายประจำปี 2567 รวม 29,631 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • รายจ่ายครบกำหนดชำระดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายเงินกู้ 5,436 ล้านบาท
  • รายจ่ายบำรุงทางอาณัติสัญญาณ และสิ่งปลูกสร้าง 3,514 ล้านบาท
  • รายจ่ายรถไฟฟ้าสายสีแดง 1,111 ล้านบาท
  • รายจ่ายบำรุงรักษารถจักร และล้อเลื่อน 3,824 ล้านบาท
  • รายจ่ายในการเดินรถขนส่ง 9,342 ล้านบาท
  • รายจ่ายในการบริหาร 1,005 ล้านบาท
  • รายจ่ายบำเหน็จบำนาญอีก 5,397 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากประมาณการรายรับและรายจ่ายที่เกิดขึ้น ส่งผลให้การดำเนินงานของ ร.ฟ.ท.ในปีงบประมาณ 2567 คาดการณ์ว่าจะติดลบอยู่ที่ 18,970 ล้านบาท และทำให้ภาพรวมของหนี้สินที่สะสมอยู่ราว 2 แสนล้านบาท ต้องมีวงเงินเพิ่มขึ้น จากการเสนอขอเงินกู้ในปี 2567 เพิ่มขึ้นอีก 18,000 ล้านบาท ซึ่งคงต้องติดตามว่าภายใต้รัฐบาลรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอนุมัติให้ ร.ฟ.ท.กู้เงินและสร้างหนี้สะสมเพิ่มเติมอีกหรือไม่ และรัฐบาลใหม่จะมีแนวทางแก้ไขปัญหา “หนี้พอกหางหมู” นี้อย่างไร