‘สุพัฒนพงษ์’ฝากรัฐบาลใหม่สานต่อแก้หนี้ หวังหนี้ครัวเรือนไม่เกิน 80% GDP
“สุพัฒนพงษ์” รับหนี้ครัวเรือนเพิ่มต่อเนื่อง ชี้ผลกระทบจากโควิด-19 ชี้หนี้ครัวเรือนสูงกว่า 80% มานานหลายปี รัฐบาลมีเป้าทำงานลดหนี้ครัวเรือนให้ต่ำกว่า 80% ของจีดีพี หวังรัฐบาลใหม่เดินหน้าแก้ปัญหาต่อ แนะดูรายละเอียดของหนี้ครัวเรือนกระทบเศรษฐกิจหรือไม่
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ที่ 15.09 ล้านล้านบาท ในเรื่องนี้ต้องไปดูรายละเอียดเพราะส่วนหนึ่งเป็นหนี้ที่เพิ่มขึ้นมามากในช่วงหลังปี 2562 เนื่องจากมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้จากข้อมูลย้อนหลังพบว่า สถิติหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) นั้นสูงเกินกว่า 80% ของจีดีพีมาตั้งแต่ปี 2556 – 2557 หรือกว่า 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีเป้าหมายในการทำงานว่าต้องการให้หนี้ครัวเรือนของประเทศนั้นต่ำกว่าระดับ 80% โดยหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 86.9% ของจีดีพีลดลงจากระดับ 90% ของจีดีพีในช่วงวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากเศรษฐกิจมีการขยายตัวดีขึ้นจากในช่วงโควิด-19 ที่เศรษฐกิจเคยหดตัว
"ต้องไปดูทั้งตัวเลขด้วยว่าการก่อหนี้ครัวเรือนในช่วงที่ผ่านมาหลายปีนั้นเป็นอย่างไร แต่แนวโน้มของหนี้ครัวเรือนนั้นเพิ่มขึ้นมาตลอดหลายปีตั้งแต่ปี 56 – 57 รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้มาโดยตลอดโดยมีเป้าหมายในการลดหนี้ครัวเรือนลงโดยมีเป้าหมายของการทำงานที่พยายามให้อยู่ในระดับไม่เกิน 80% ของจีดีพี”นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงานกล่าวต่อไปว่าในเรื่องของหนี้ครัวเรือนนั้นจะต้องไปดูในรายละเอียดด้วยว่าหนี้จำนวนนี้เป็นหนี้ที่มีปัญหาหรือไม่ เพราะบางส่วนเป็นการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านหรือรถยนต์ การซื้อสินค้าเหล่านี้ของประชาชนเป็นเรื่องที่เป็นความจำเป็นที่ต้องมีก็มีการซื้อ แต่คำถามคือทำอย่างไรให้หนี้ครัวเรือนไม่เกิดปัญหา คือสามารถบริหารจัดการได้ เพราะถ้าผู้ที่ก่อหนี้สามารถบริหารจัดการได้ก็ไม่มีปัญหา
เมื่อถามว่าหนี้ในส่วนนี้จะส่งผลต่อการใช้จ่ายและการบริโภคของประชาชนหรือไม่ ก็ต้องดูว่าลักษณะของการก่อหนี้นั้นเป็นอย่างไร หากหนี้ที่ก่อแล้วมีปัญหาในการชำระหนี้ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการใช้จ่ายของประชาชน
เมื่อถามว่ามีความกังวลหรือไม่ว่านโยบายของรัฐบาลใหม่จะมีส่วนสร้างหนี้ครัวเรือนให้เพิ่มขึ้น นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่ายังไม่ได้ศึกษาวิเคราะห์ในรายละเอียด ในเรื่องนี้ก็คงต้องให้รัฐบาลใหม่เข้ามาทำงานก่อน
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมารัฐบาลปัจจุบันพยายามที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยเฉพาะเรื่องการสร้างความเป็นธรรม ในประเด็นการคิดอัตราดอกเบี้ยไม่ให้สูงจนเกิดไป มีการออกกฎหมายที่สำคัญเช่น พ.ร.บ.ทวงหนี้ ซึ่งกำหนดขั้นตอนการทวงหนี้ การคิดอัตราดอกเบี้ยที่ไม่แพง
มีหน่วยงานกำกับดูแลซึ่งรวมไปถึงการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์ครู ที่มีการปล่อยกู้ให้กับสมาชิก หรือไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆก็ต้องมีการกำกับดูแล ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเข้าไปให้การสนับสนุน โดยสหกรณ์ครูเราก็กำหนดว่าการหักเงินเพื่อชำระหนี้ต้องให้ผู้กู้มีเงินเดือนเหลือไม่น้อยกว่า 30% ไม่ใช่ตัดเงินจนหมด ซึ่งหลายเรื่องถือว่าทำได้ดีพอสมควร และรัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการ
“รัฐบาลนี้ไม่ได้ส่งมอบสิ่งที่เป็นปัญหาให้กับรัฐบาลใหม่ สามารถที่จะให้รัฐบาลใหม่เข้ามาและทำงานต่อเนื่องไปได้รวมทั้งเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สิน”นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว