'ก้าวไกล' ประกาศสงครามหนี้ รับมือ 'ระเบิดเวลา' เศรษฐกิจไทย
ส่องนโนบายแก้หนี้ก้าวไกล –เพื่อไทย มุ่งแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ หากลไกช่วยกลุ่มหนี้สะสมสูง –กลุ่มเปราะบาง ก้าวไกลตั้งกองทุน 1หมื่นล้านเจรจารีไฟแนนซ์หนี้ เพื่อไทยพักหนี้เกษตรกร 3ปี เอสเอ็มอี 1ปี ชี้โจทย์ใหญ่รัฐบาลหน้าแก้หนี้ครัวเรือน หลังหนี้เพิ่มทะลุ 15ล้านล้าน
Key points
- ปัญหาหนี้สินในประเทศไทยเป็นปัญหาใหญ่ทั้งในส่วนของหนี้ครัวเรือน หนี้ NPL และหนี้นอกระบบ
- หนี้ครัวเรือนคนไทยรวมกันอยู่ที่ 15.09 ล้านล้าน ซึ่งสภาพัฒน์เตือนว่าอาจเป็นระเบิดเวลาลูกต่อไปของเศรษฐกิจไทย
- พรรคการเมืองที่กำลังจะเข้ามาเป็นรัฐบาลมีนโยบายในการแก้ปัญหาหนี้สินหลากหลายนโยบาย
- พรรคก้าวไกลมีการประกาศนโนบาย“สงครามหนี้นอกระบบ” โดยตั้งงบประมาณในการปรับโครงสร้างหนี้ (Refinance) วงเงิน 10,000 ล้านบาท
- พรรคเพื่อไทยมีนโยบายพักหนี้เป็นระยะเวลา 3 ปี ในช่วงที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวและแก้ปัญหาหนี้สินหลังจากเพิ่มรายได้
- รัฐบาลมีการแก้ปัญหาหนี้สินหลายด้าน โดยมีเป้าหมายลดระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ที่ประมาณ 86.9% ต่อจีดีพีในปัจจุบันให้เหลือต่ำกว่า 80% ของจีดีพี ซึ่งได้ส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาลใหม่ขอให้แก้ำไขปัญหานี้ต่อเนื่อง
ปัญหา “หนี้ครัวเรือน” และ "ปัญหาหนี้สินของประชาชน" ถือเป็นปัญหาสำคัญเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย ที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และกระทบกับภาคบริโภคของประชาชนมานานหลายปี ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ล่าสุดพบว่าหนี้สินครัวเรือนของไทยมีวงเงินรวมกว่า 15.09 ล้านล้านบาท สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนไทย ในปัจจุบันอยู่ที่ 86.9% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลงจากระดับสูงสุดที่เคยอยู่ที่ 90.2% ต่อจีดีพี โดยสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีที่ลดลงมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่มูลหนี้จริงๆนั้นไม่ได้ลดลง และถือเป็นสัญญาณอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจที่ สศช.เตือนว่าอาจเป็น “ระเบิดเวลา” ลูกต่อไปของเศรษฐกิจไทย และถือเป็นหนึ่งในปัญหาเศรษฐกิจสำคัญที่รัฐบาลใหม่ต้องให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน
ย้อนกลับไปในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปัญหาหนี้สินถือว่าเป็นปัญหาสำคัญที่แทบทุกพรรคการเมืองมีโยบายในการแก้ปัญหานี้ โดยหากดูนโยบายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาหนี้สินของ 2 พรรคการเมืองที่จะเข้ามาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่คือพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยจะเห็นนโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ดังนี้
1.นโยบายแก้หนี้ของพรรคก้าวไกล ได้ประกาศนโนบายที่จะประกาศ “สงครามหนี้นอกระบบ” โดยตั้งงบประมาณในการปรับโครงสร้างหนี้ (Refinance) วงเงิน 10,000 ล้านบาท รัฐบาลจะเข้าไปเป็นเจ้าภาพในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ
การดำเนินการดังกล่าวจะใช้กลไกของสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด กรมสรรพากรและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในการเจรจากับเจ้าหนี้ จากนั้นจะนิรโทษกรรมเจ้าหน้าหนี้นอกระบบที่ยินยอมปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นธรรมเพื่อจูงใจให้มีการปรับลดดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ และการเจรจาแก้ปัญหาหนี้สิน
ส่วนกลุ่มอาชีพที่มีปัญหาหนี้สินมาก เช่น ข้าราชการครู จะมีการปรับโครงสร้างหนี้ครูใหม่ด้วยการรวมหนี้ที่อยู่ในสถาบันการเงินและหนี้ในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูให้เป็นหนี้ก้อนเดียว เปิดเผยข้อมูลหนี้ครูรายบุคคลให้ธนาคารพาณิชย์รับทราบเพื่อประเมินความเสี่ยงในการปล่อยกู้โดยเกินกำลังการชำระคืนหนี้ของครู โดยกำหนดเพดานการหักเงินเดือนไม่ให้เกิน 70 % ของเงินเดือนแต่ละเดือน และลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ถูกลงหากครูมีประวัติการชำระหนี้ที่ดี
สำหรับลูกหนี้ที่เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินของรัฐจะมีมาตรการในการช่วยเหลือโดยลูกหนี้ที่มีประวัติผ่อนจ่ายดี จ่ายตรงเวลาเกินกว่า 12 งวด จะลดดอกเบี้ย 10 % โดยรัฐบาลจะเป็นผู้อุดหนุนงบประมาณชดเชยการลดดอกเบี้ย
2.นโยบายการแก้ปัญหาหนี้สินของพรรคเพื่อไทย มีหลายนโยบาย ได้แก่ การแก้ปัญหาหนี้ภาคเกษตร เนื่องจากเกษตรกรไทย 90% เป็นหนี้ และมีหนี้สินเฉลี่ยประมาณ 430,000บาทต่อครัวเรือนพรรคเพื่อไทยมีนโยบายพักหนี้ เกษตรกรทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย3ปีควบคู่กับการพลิกฟื้นและผ่าตัดภาคเกษตรกรรมไทยให้มีรายได้มากขึ้นสามารถชำระหนี้สินได้เมื่อหมดมาตรการพักชำระหนี้
ส่วนการแก้ปัญหาหนี้สินของ SMEs 2.3 ล้านบัญชีมูลค่าหนี้2แสนล้านบาทหรือ หนี้เสียรหัส21ของSMEsที่เคยแข็งแรงแต่ประสบภัยโควิดจะมีมาตรการพักหนี้SMEประสบภัยโควิด1ปีคู่ขนานไปกับการปรับโครงสร้างหนี้แบบเฉพาะเจาะจงตรงกับความต้องการของภาคเอกชน
ขณะที่หนี้นอกระบบที่มีคนที่ประสบปัญหานี้อย่างหนัก 1.4 ล้านคน พรรคเพื่อไทยระบุว่าคนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่เปราะบางเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ ไร้หลักทรัพย์ค้ำประกัน พรรคเพื่อไทยเสนอมาตรการแก้หนี้ โดยดึงหนี้นอกระบบสู่ในระบบโดยสร้างคู่แข่งสู้กับเจ้าหนี้นอกระบบเอาชนะด้วยดอกเบี้ยที่ถูกกว่าปลอดภัยกว่าเข้าถึงง่ายกว่าและรับประกันโดยภาครัฐผ่านการสนับสนุนให้มี “พิโกไฟแนนซ์” โดยผลักดันอุดหนุนดอกเบี้ยให้พิโกไฟแนนซ์ให้ถูกกว่าและเป็นทางเลือกที่ดีกว่าของประชาชน
ขณะเดียวกันต้องเพิ่มหนี้ในระบบไหลสู่นอกระบบโดยเพิ่มงบประมาณการค้ำประกันสินเชื่อให้รัฐรับความเสี่ยงบางส่วนของประชาชนเพื่อการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ โดยทั้งสองกลไกจะทำงานร่วมกันเพื่อหยุดวงจรหนี้นอกระบบ นำไปสู่การแก้ปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืน
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ที่ 15.09 ล้านล้านบาท ในเรื่องนี้ต้องไปดูรายละเอียดเพราะส่วนหนึ่งเป็นหนี้ที่เพิ่มขึ้นมามากในช่วงหลังปี 2562 เนื่องจากมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้จากข้อมูลย้อนหลังพบว่าสถิติหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงเกินกว่า 80% ของจีดีพีมาตั้งแต่ปี 2556-2557 หรือกว่า 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีเป้าหมายในการทำงานว่าต้องการให้หนี้ครัวเรือนของประเทศนั้นต่ำกว่าระดับ 80% โดยหนี้ครัวเรือนปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 86.9% ของจีดีพีลดลงจากระดับ 90% ของจีดีพีในช่วงวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากเศรษฐกิจมีการขยายตัวดีขึ้นจากช่วงโควิด-19 ที่เศรษฐกิจหดตัว
“ต้องไปดูทั้งตัวเลขด้วยว่าการก่อหนี้ครัวเรือนในช่วงที่ผ่านมาหลายปีนั้นเป็นอย่างไร แต่แนวโน้มของหนี้ครัวเรือนนั้นเพิ่มขึ้นมาตลอดหลายปีตั้งแต่ปี 2556-2557 รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้มาโดยตลอดโดยมีเป้าหมายในการลดหนี้ครัวเรือนลงโดยมีเป้าหมายของการทำงานที่พยายามให้อยู่ในระดับไม่เกิน 80% ของจีดีพี”
สำหรับหนี้ครัวเรือนนั้นจะต้องไปดูในรายละเอียดด้วยว่าหนี้จำนวนนี้เป็นหนี้ที่มีปัญหาหรือไม่ เพราะบางส่วนเป็นการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านหรือรถยนต์ การซื้อสินค้าเหล่านี้ของประชาชนเป็นเรื่องที่เป็นความจำเป็นที่ต้องมีก็มีการซื้อ แต่คำถามคือทำอย่างไรให้หนี้ครัวเรือนไม่เกิดปัญหา คือ สามารถบริหารจัดการได้เพราะถ้าผู้ที่ก่อหนี้สามารถบริหารจัดการได้ก็ไม่มีปัญหา
ในขณะที่ประเด็นหนี้จะส่งผลต่อการใช้จ่ายและการบริโภคของประชาชนหรือไม่ ก็ต้องดูว่าลักษณะของการก่อหนี้นั้นเป็นอย่างไร หากหนี้ที่ก่อแล้วมีปัญหาในการชำระหนี้ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการใช้จ่ายของประชาชน
รวมทั้งมีความกังวลหรือไม่ว่านโยบายของรัฐบาลใหม่จะมีส่วนสร้างหนี้ครัวเรือนให้เพิ่มขึ้น ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ยังไม่ได้ศึกษาวิเคราะห์ในรายละเอียดเรื่องนี้ก็คงต้องให้รัฐบาลใหม่เข้ามาทำงานก่อน
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมารัฐบาลปัจจุบันพยายามแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะเรื่องการสร้างความเป็นธรรม ในประเด็นการคิดอัตราดอกเบี้ยไม่ให้สูงจนเกิดไป มีการออกกฎหมายที่สำคัญ เช่น พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ซึ่งกำหนดขั้นตอนการทวงหนี้ การคิดอัตราดอกเบี้ยที่ไม่แพง มีหน่วยงานกำกับดูแล
ยังรวมไปถึงการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์ครู ที่มีการปล่อยกู้ให้กับสมาชิก หรือไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆก็ต้องมีการกำกับดูแล ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเข้าไปให้การสนับสนุน โดยสหกรณ์ครูเราก็กำหนดว่าการหักเงินเพื่อชำระหนี้ต้องให้ผู้กู้มีเงินเดือนเหลือไม่น้อยกว่า 30% ไม่ใช่ตัดเงินจนหมด ซึ่งหลายเรื่องถือว่าทำได้ดีพอสมควร และรัฐบาลได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการ
“รัฐบาลนี้ไม่ได้ส่งมอบสิ่งที่เป็นปัญหาให้กับรัฐบาลใหม่ สามารถที่จะให้รัฐบาลใหม่เข้ามาและทำงานต่อเนื่องไปได้รวมทั้งเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สิน” สุพัฒนพงษ์ กล่าว