ภาคขนส่งตื่นตัว 'คาร์บอนเครดิต' เดินหน้าผลักดันโลจิสติกส์สีเขียว
ผู้ประกอบการภาคขนส่งตื่นตัวคาร์บอนเครดิต เร่งเดินหน้านวัตกรรมโลจิสติกส์สีเขียว ปรับใช้ยานยนต์อีวีเพิ่มต่อเนื่อง หวังเป็นช่องทางต่อยอดซื้อขายเพิ่มรายได้ สนองนโยบายรัฐเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
นายอิทธิวัตร เภาสูตร์ ประธานบริหาร บริษัท เอเซียพลัส อีวี จำกัด ผู้แทนจำหน่ายยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ของบริษัท เน็กซ์ พอทย์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมกับวิทยาลัยโลจิสติกส์ และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดโครงการอบรม “การจัดการคาร์บอนเครดิต ตามมาตรฐาน ISO 14064-1 , Carbon Trade และการปรับเปลี่ยนระบบการขนส่งไฟฟ้า หรือ EV transportation” ให้แก่ภาครัฐและเอกชน เพื่อตื่นตัวลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และจัดการคาร์บอนเครดิตในภาคขนส่ง
“บริษัทฯ เล็งเห็นความสำคัญเรื่องนวัตกรรมโลจิสติกส์สีเขียว เพราะต้องการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยานยนต์ EV ที่นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลอยขึ้นไปทำลายชั้นบรรยากาศแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งจากการใช้พลังงานไฟฟ้าแทนน้ำมันได้อีก”
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความสนใจ และเริ่มหันมาเปลี่ยนใช้ยานพาหนะ EV เพื่อการขนส่งสินค้ามากขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลว่าสามารถนำไปสู่การยื่นขอการรับรองภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ซึ่งคาร์บอนเครดิต ที่เกิดขึ้นจากโครงการ T-VER สามารถนำประโยชน์ไปใช้ในการชดเชยคาร์บอน ผ่านปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ และนำไปซื้อขายในตลาดคาร์บอนได้
นายอิทธิวัตร กล่าวอีกว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายเป็นที่ปรึกษา EV transportation Solution แบบ Ecosystem ไม่ใช่เพียงแค่ดีลเลอร์ขายรถ EV เท่านั้น แต่ต้องสามารถตอบโจทย์ให้ลูกค้าด้วยการนำเสนอโมเดลที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลกำไรให้กับธุรกิจภาคการขนส่งด้วยมิติใหม่ โดยจะให้คำปรึกษาด้านนวัตกรรมโลจิสติกส์สีเขียว รวมถึงการออกแบบเส้นทางการขนส่งสินค้าอย่างคุ้มค่า ตลอดจนการให้บริการหลังการขายในการจัดทำข้อมูลการใช้งานของรถ EV เชิงพาณิชย์
ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดหวังในการเป็นที่ปรึกษา EV transportation Solution เพื่อให้ความรู้ และสร้างการตื่นตัวต่อผู้ประกอบการภาคขนส่งให้การเริ่มสะสมคาร์บอนเครดิตที่จะนำไปสู่การซื้อขายในอนาคต ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เป็นประโยชน์ในการเพิ่มรายรับให้กับผู้ประกอบการ ที่สำคัญยังเป็นการสนองนโยบายภาครัฐที่จะนำไปสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศอีกด้วย
ด้านนายมะโน ปราชญาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและบริการวิชาการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน วิทยาลัยโลจิสติกส์ และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า ปัจจุบันการซื้อขายคาร์บอนเครดิตถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของกลไกตลาด เพื่อจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065
ดังนั้นผู้ประกอบการ โดยเฉพาะภาคการขนส่งจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการจัดการขนส่งโดยระบบ EV transportation และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและวิธีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ให้สามารถจัดทำระบบมาตรฐานการวัดปริมาณและการรายงานผลการปลดปล่อย และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กร
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรการ CBAM ซึ่งเป็นมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในประเทศกลุ่มอียู เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนากระบวนการผลิตที่มีความสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์หาแนวทางในการบริหารจัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ