ครม.เคาะหนุนส่งออกน้ำมันปาล์ม ลดปัจจัยสต็อกในประเทศกดดันราคา
น้ำมันปาล์ม เป็นสินค้าอุปโภค พชพลังงาน และเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับเกษตรกรจำนวนมาก ดังนั้น การบริหารจัดการสินค้าชนิดนี้ต้องสอดคล้องต่อเนื่องตั้งแต่การผลิตจนถึงตลาดสุดท้ายของการนำไปใช้
ล่าสุดตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบสรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2566 เห็นชอบดำเนินโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2566 จากการคาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตอาจได้มากกว่าความต้องการใช้ในแต่ละเดือน เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศยังไม่กลับสู่สภาวะปกติ อาจส่งผลต่อเสถียรภาพของราคาและกระทบต่อรายได้
ฉันทานนท์วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ตามมติครม.ที่ให้ส่งออกน้ำมันปาล์มโดยรัฐบาลจะให้การอุดหนุนกิโลกรัม(กก.)ละ 2 บาท นั้นเป็นมาตรการคู่ขนานกับโครงการประกันรายได้ ที่กก.ละ 4 บาท แต่การส่งออกต้องเป็นไปตามเงื่อนไข คือ ต้องเป็นช่วงที่ปาล์มน้ำมันสูงกว่าสต็อกที่กำหนด และราคาในประเทศต้องสูงกว่าตลาดโลก
ทั้งนี้เพราะน้ำมันปาล์มในประเทศ ถูกนำมาใช้ใน 2ลักษณะ คือ การบริโภค และพลังงาน กรณีพลังงานนั้นเนื่องจากไม่สามารถผลักดันให้ใช้ผสมในน้ำมันดีเซล 10 % หรือ บี 10 จากปัจจุบัน บี 7 ทำให้การแก้ไขปัญหาหากเกิดน้ำมันปาล์มล้นสต็อก ต้องผลักดันส่งออกให้มากที่สุด
“ปัจจุบันโครงการประกันรายได้ปาล์มน้ำมันยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ เพราะก่อนหน้านี้ราคาปาล์มดิบพุ่งสูงถึง 10-12 บาท ต่อกก. แต่เนื่องจากปีที่ผ่านมาปริมาณฝนประเทศดีมาก ประกอบกับราคาจูงใจ ทำให้เกษตรกรดูแลดี ผลผลิตที่ได้จึงเพิ่มขึ้น ในช่วงต้นปีซึ่งเป็นช่วงพีค ราคาจึงปรับตัวลดลง 6-8 บาท ซึ่งก็อยู่ในระดับที่เกษตรกรรับได้”
สำหรับผลผลิตปาล์มน้ำมันเดือนพ.ค.จะมีประมาณ 1.704ล้านตัน คิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ 0.307 ล้านตัน สูงขึ้นจากผลผลิตปาล์มทะลาย 1.621 ล้านตัน คิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ 0.292 ล้านตันของเดือนเม.ย. ส่วนผลผลิตทั้งปีคาดว่าจะมีประมาณ 19.8 ล้านตันเพิ่มขึ้น 4.36 % ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กก.ละ 5.42 บาท ลดลงจาก 5.64 บาท ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หรือลดลง 3.90 บาท ส่วนราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดกรุงเทพฯสัปดาห์นี้เฉลี่ย กก.ละ 30.94 บาท ลดลงจาก 33.23 บาท ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หรือลดลง 6.89%
ด้านสถานการณ์ในมาเลเซียและอินโดนีเซีย คาดว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าพบสหภาพยุโรป( EU) ในข้อกังวลเรื่อง กฎหมาย Deforestation ฉบับใหม่ ที่คาดว่าจะกระทบเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันรายย่อย โดยในกฎหมาย Deforestation ฉบับใหม่ นี้ มีการห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรหรือสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่สามารถพิสูจน์ว่าสินค้านั้นไม่มีการปลูกในพื้นที่ที่ทำลายป่าหลังปี 2563 ซึ่งทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซียออกมาโต้ว่านโยบายนี้เป็นการเลือกปฏิบัติที่มุ่งเป้าไปที่สินค้าปาล์มน้ำมัน และอาจหยุดส่งออกสินค้าปาล์มน้ำมันมา EU แต่ EU ได้ออกมาชี้แจงว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่มีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด เนื่องจากมีการปรับใช้กับทุกผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้ามา EU
อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2566 มีเพื่อลดปริมาณน้ำมันปาล์มส่วนเกินในประเทศให้เข้าสู่ระดับสมดุล และยกระดับราคาปาล์มทะลายที่เกษตรกรขายให้สูงขึ้น
โดยกำหนดการดำเนินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการการส่งออกเฉพาะปาล์มน้ำมันดิบ 150,000 ตัน เช่น ค่าขนส่ง ค่าคลังจัดเก็บ และค่าปรับปรุง โดยมีเงื่อนไขการสนับสนุนค่าบริหารจัดการส่งออก เมื่อระดับสต็อก น้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 300,000 ตัน และราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหาร จัดการมีความยืดหยุ่นและทันต่อเหตุการณ์ เห็นควรกำหนดให้ เงื่อนไขระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบขั้นต่ำไว้ที่ 250,000 ตัน และให้กนป. เป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณา
สำหรับงบประมาณและแหล่งงบประมาณ 309 ล้านบาท (งบกลางฯ) แบ่งเป็น ค่าบริหารจัดการให้แก่ผู้ส่งออกตามโครงการ ปริมาณ 150,000 ตัน อัตรากก.ละ 2 บาท รวมเป็น 300 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของส่วนราชการ 9 ล้านบาท (ไม่เกิน 3% ของวงเงินดำเนินการ) กำหรดระยะเวลาดำเนินการ ระยะเวลาส่งออก ตั้งแต่ได้รับการอนุมัติ-ก.ย.2566 โดยระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ได้รับการอนุมัติ-ธ.ค. 2566
นอกจากนี้ ที่ประชุมครม.ยังได้หารือถึง โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2565-2566 ราคาปาล์มน้ำมัน (ผลปาล์มทะลาย อัตราน้ำมัน18%) ราคา กก. ละ 4 บาท ระยะเวลาการจ่ายเงิน เดือน ก.ย. 2565 - ส.ค.2566 วงเงิน 3.1 พันล้านบาท
“ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปตามระเบียบ กกต.(คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง พ.ศ. 2563 รวมถึงพิจารณากรอบวงเงินงบฯ ตามความจำเป็นและเหมาะสม ตาม ม. 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ด้วย”
การบริหารจัดการจะช่วยจะช่วยให้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหายไปได้ แต่การบริหารจัดการที่ไม่ดีหรือมีเงื่อนไขอื่นมาเกี่ยวข้องอาจทำให้สถานการณ์ยุ่งยากเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในตลาดน้ำมันปาล์มก่อนหน้านี้มาแล้ว