สนข.เตรียมชงปรับแบบสร้างสถานีรถไฟฟ้า เพิ่มฟีดเดอร์ 60 เส้นทาง
สนข.จ่อเสนอปรับแบบสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสถานีรถไฟฟ้า หนุนประชาชนใช้งานสะดวก นำร่อง 8 สถานี จ่อถก “กรมขนส่ง” เปิดประมูลฟีดเดอร์สายใหม่ 60 เส้นทางภายในปี 2568 หวังขนคนออกจากซอยมาขึ้นรถไฟฟ้า จูงใจประชาชนทิ้งรถส่วนตัว แก้รถติด คาดเสนอร่างแผนเข้า คจร. เคาะ ส.ค.นี้
นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม เป็นประธานการสัมมนาเพื่อเผยแพร่โครงการ ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทาง เพื่อเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้า และสนามบินในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยระบุว่า โครงการนี้จะพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทาง พร้อมจัดเส้นทางระบบขนส่งมวลรอง (Feeder) เพื่อรวบรวมประชาชนที่อยู่ห่างจากแนวเส้นทางรถไฟฟ้า มาส่งยังสถานีรถไฟฟ้า อำนวยความสะดวกให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าใช้บริการขนส่งสาธารณะได้สะดวกมากขึ้น
โดยเบื้องต้นคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จ และสามารถเสนอร่างแผนพัฒนาให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาได้ในเดือน ก.ค.2566 ก่อนเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในเดือน ส.ค.2566
นายสุรพงษ์ เมี้ยนมิตร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า สถานีรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน และสถานีที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างทั้งหมด 212 สถานี ของรถไฟฟ้า 9 สาย ยังต้องปรับปรุงการเชื่อมต่อเข้าสู่สถานีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่ง สนข. จะจัดทำรายละเอียดของแต่ละสถานีที่ต้องเพิ่มเติมแตกต่างกันไปเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงต่อไป
เบื้องต้น สนข. ได้ออกแบบสถานีนำร่อง เพื่อเป็นต้นแบบในการปรับปรุงการเชื่อมต่อเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้า 8 สถานี โดยเพิ่มความสะดวกที่จำเป็น อาทิ จุดจอดรถแท็กซี่ จุดจอดรถจักรยาน ติดตั้งราวจับที่ทางลาด ปรับปรุงทางเท้า ติดตั้งพื้นผิวต่างสัมผัสระหว่างสถานีรถไฟฟ้ากับป้ายรถประจำทาง ติดตั้งป้ายแสดงจุดจอดรถโดยสารและข้อมูลสายรถโดยสาร และติดตั้งหลังคาคลุมทางเดินเชื่อมต่อ (Covered Walkway)
อีกทั้งโมเดลพัฒนานี้จะนำไปใช้กับรถไฟฟ้าทุกสายในแผน M-MAP ที่มีเส้นทางรถไฟฟ้ารวม 14 เส้นทาง 381 สถานี ทั้งนี้ 8 สถานีต้นแบบ ได้แก่ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสีม่วง ชมพู และน้ำตาล, สถานีเตาปูน จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสีม่วง และน้ำเงิน, สถานีบางซื่อ จุดเชื่อมต่อสายสีแดงเข้ม แดงอ่อน รถไฟทางไกล และรถไฟความเร็วสูงในอนาคต, สถานีท่าพระ
รวมไปถึงจุดเปลี่ยนทิศทางการเดินทางของสายสีน้ำเงิน, สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จุดเชื่อมต่อกับศูนย์การประชุมระดับนานาชาติที่มีผู้สัญจรมากเป็นพิเศษ, สถานีบางแค เป็นสถานีสำคัญในย่านกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก ที่มีปริมาณการเดินทางสูง, สถานีศรีรัช พื้นที่ที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่น และสถานีชุมทางตลิ่งชัน เป็นสถานีสำคัญย่านกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก
นอกจากนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนให้หันมาใช้ระบบขนส่งทางรางมากขึ้น ต้องจัดระบบขนส่งมวลชนรอง เชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้า(Feeder) 81 เส้นทาง โดยจะดำเนินการให้ได้ประมาณ 60 เส้นทางภายในปี 2568 โดยหลังจากนี้ต้องหารือกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เพื่อดำเนินการหาผู้ประกอบการเดินรถในแต่ละเส้นทางตามระเบียบของ ขบ. ต่อไป
ทั้งนี้เส้นทางที่จะเป็นฟีดเดอร์ จะเป็นเส้นทางใหม่ ให้บริการด้วยรถโดยสารหมวด 4 ที่จะเดินรถในเส้นทางสายย่อย ผ่านซอย หมู่บ้าน หรือแหล่งชุมชนต่างๆ เพื่อขนคนมายังสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งรถโดยสารที่จะมาเดินรถนั้นควรเป็นรถอีวี เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย
สำหรับเส้นทางฟีดเดอร์สายใหม่ อาทิ สถานีคูคต(เขียว)-คลอง 3, สถานีดอนเมือง(แดง)-ถนนประชาอุทิศ, สถานีรังสิต(แดง)-ธัญบุรีคลอง 7, สถานีเตาปูน(ม่วง)-โรงเรียนโยธินบูรณะ และสถานีบางจาก(เขียว)-สถานีสวนหลวง ร.9(เหลือง) เป็นต้น
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันต้องปรับปรุงการเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะอื่นๆ บริเวณสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิให้มีความสะดวกมากขึ้น อาทิ การจัดทำป้ายหยุดรถโดยสารเพิ่มเติมที่สนามบินสุวรรณภูมิ นอกเหนือจากศูนย์การขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้รถโดยสารสาธารณะเข้าสู่ตัวเมืองได้สะดวกมากขึ้น
นอกจากนี้จะมีการเปิดให้บริการแอปพลิเคชั่น BKKTransit ซึ่งจะมีข้อมูลแนะนำการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้า และระบบขนส่งสาธารณะแก่ประชาชนบริเวณโดยรอบสถานี รวมถึงแบบแปลนสถานีทางเข้า-ออกไปยังสถานที่สำคัญ เพื่ออำนวยความสะดวกในการวางแผนการเดินทาง