ราคาน้ำมัน สัญญาณ ‘ศก.ถดถอย’ จับตา ‘OPEC’ ประชุม มิ.ย.หั่นกำลังผลิตเพิ่ม?
สัญญาณ ราคาน้ำมัน ตลาดโลกลดส่งสัญญาณเศรษฐกิจโลกถดถอย สศช.จับตาสถานการณ์หลังราคาไม่ขยับเกิน 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แม้โอเปกพลัสหั่นกำลังการผลิต ด้าน ปตท.แนะจับตาประชุมโอเปกพลัส 4 มิ.ย.นี้ อาจมีหั่นกำลังการผลิตเพิ่ม หลังราคาน้ำมันไม่เพิ่มขึ้น
ราคาน้ำมัน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาเชื้อเพลิงที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เช่น ถ่านหิน ราคาก๊าซ เป็นดัชนีสะท้อนภาวะเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง หากราคาปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องก็สะท้อนภาวะเศรษฐกิจไปยังอนาคตว่ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องและมีแนวโน้มสดใส ในทางตรงกันข้ามหากราคาไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ มีการปรับตัวลดลงต่อเนื่องก็สะท้อนทิศทางที่ไม่สดใสของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ราคาน้ำมันตลาดโลก ในปี 2566 มีการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดย ราคาน้ำมันเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับลดจาก ระดับ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือน พ.ค.2565 มาอยู่ที่ระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปัจจุบัน
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุในรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2566 และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2566 ว่า สศช.คาดว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 80 – 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยปรับลดลงจากราคาเฉลี่ยในปี 2565 ที่ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 96.2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งที่ผ่านมาระดับราคาเฉลี่ยของราคาน้ำมันดิบดูไบระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 11 พ.ค.2566 อยู่ที่ 80.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นายดนุชา พิชนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกในระยะนี้เคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 70 – 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และแม้จะมีการปรับราคาขึ้นในแต่ละครั้งก็จะปรับเพิ่มขึ้นไม่เกินครั้งละ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งการที่ราคาน้ำมันไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้แม้ว่ากลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (โอเปก)จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลงไปแล้วตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมาประมาณ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ราคาก็ยังไม่ปรับเพิ่มขึ้นซึ่งราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นได้จำกัดสะท้อนความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงลง หรืออาจเป็นสัญญาณที่บอกให้รู้ว่าอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ขึ้นกับเศรษฐกิจโลกได้
โดยราคาน้ำมันและราคาเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลงมีผลโดยตรงต่ออัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง โดยคาดว่าในปีนี้อัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1 – 3% ได้ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังได้กำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อร่วมกัน
ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันได้ระบุในรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันประจำสัปดาห์ว่า การบรรลุข้อตกลงในการขยายเพดานหนี้ และจะเสนอเข้าที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ทันเส้นตายในวันที่ 31 พ.ค. 66 ส่งสัญญาณบวกต่อราคาน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม สมาชิกกลุ่มสมาชิกโอเปกพลัส (OPEC+) แสดงความเห็นต่อนโยบายแนวทางการผลิตน้ำมันขัดแย้งกัน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย เจ้าชาย Abdulaziz bin Salman กล่าวในงานสัมมนา Qatar Economic Forum เตือนนักลงทุนที่เปิดสถานะ Short Position (เก็งกำไรโดยคาดว่าราคาน้ำมันจะลดลง) ให้ระวังการขาดทุน
ส่งสัญญาณว่าหากราคาน้ำมันลดลงต่อเนื่อง กลุ่ม OPEC+ อาจพิจารณาลดการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติมในการประชุมวันนี้ (4 มิ.ย. 2566) หลังจากในการประชุมวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมากลุ่ม OPEC+ มีมติลดการผลิตปริมาณรวม 1.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงสิ้นปี 2566
ขณะที่รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย นาย Alexander Novak เห็นว่ากลุ่ม OPEC+ ไม่น่าจะมีมาตรการใหม่ในการประชุมวันที่ 4 มิ.ย. นี้ เพราะหลายประเทศได้สมัครใจลดการผลิตน้ำมันไปแล้ว ในการประชุมครั้งก่อน และมองว่า ราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ จะสูงกว่าระดับ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ภายในปี 2566
สอดคล้องกับ ประธานาธิบดีรัสเซีย นาย Vladimir Putin ซึ่งกล่าวก่อนหน้าว่าราคาน้ำมันกำลังเข้าใกล้ระดับที่เหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์ (Economically Justified) ส่งสัญญาณรัสเซียไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงนโยบายการผลิต
สำหรับสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางตึงเครียด หลังอิหร่านทดสอบการยิงจรวดขีปนาวุธ (Khoramshahr 4) แบบพื้น-สู่-พื้น รุ่นใหม่ล่าสุดที่ผลิตในประเทศ โดยใช้ชื่อ Kheibar ซึ่งมีพิสัย 2,000 กม. และบรรทุกหัวรบได้ 1,500 กก. จึงสามารถโจมตีครอบคลุมฐานทัพของอิสราเอล และสหรัฐอเมริกา ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น และเคลื่อนไหวในกรอบ 75-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยต้องติดตามการประชุมกลุ่ม OPEC+ วันที่ 4 มิ.ย. 66 ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการผลิตเพิ่มเติมหรือไม่?