กรีนพีซฝากรัฐบาลใหม่ 6 นโยบายสิ่งแวดล้อม

กรีนพีซฝากรัฐบาลใหม่ 6 นโยบายสิ่งแวดล้อม

กรีนพีซ เสนอ 6 นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมต่อรัฐบาลชุดใหม่ เร่งแก้ฝุ่น PM 2.5 ขยะพลาสติก ผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด!!

เมื่อพรรคการเมืองได้จัดตั้งรัฐบาล อุดมการณ์ และแนวนโยบายดังกล่าวจะกลายเป็นทิศทางของประเทศ พรรคการเมืองจึงมีบทบาทในการกำหนดทางเลือก (Alternative) ให้กับสังคม “ธารา บัวคำศรี” ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า กรีนพีซ ประเทศไทย มีแคมเปญ #VoteForClimate เข้าคูหากาสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยรวบรวมข้อเสนอนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ต่อพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง 2566

1. ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice) อยากเห็นรัฐบาลใหม่ทำหลายเรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งคณะกรรมาธิการรัฐสภาว่าด้วยความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ การเปิดพื้นที่ให้กับองค์ความรู้ ภูมิปัญญาชุมชนที่จะต่อกรกับสภาพภูมิอากาศ และนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม อีกทั้งมีจุดยืนชัดเจนในเวทีโลกเรื่องของเจรจาประเด็นสภาพภูมิอากาศต่างๆ เช่น การจัดตั้งกองทุนความสูญเสีย และความเสียหายที่มีการเจรจาผลักดันอยู่ขณะนี้ เป็นต้น

2. การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) และประชาธิปไตยทางพลังงาน (Energy Democracy) การมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าไปวางแผนทางพลังงาน เสนอให้ลดกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองลงในระดับมาตรฐานราว 15% ปลดระวางถ่านหิน ลดการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ที่ไม่จำเป็น พัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน และระบบกริดอัจฉริยะ รวมถึงผลักดันนโยบายให้ประชาชนสามารถส่งไฟฟ้าจากระบบพลังงานหมุนเวียนที่ตนเองมีอยู่เข้าระบบสายส่งได้ การทบทวนวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า Power Development Plan และเปิดให้ประชาสังคมอยู่ในแผนพลังงาน เป็นต้น

3. มลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก (PM2.5) เสนอให้เกิดเครื่องมือทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น (ร่าง) พ.ร.บ.การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ... หรือ PRTR เป็นต้น หรือกฎหมายอากาศสะอาด มาตรฐานการรายงานการปล่อยฝุ่น PM2.5 จากแหล่งกำเนิด

4. มลพิษพลาสติก ผลักดันให้เกิดกฎหมายการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนบนหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility) สนับสนุนสนธิสัญญาพลาสติกระดับโลก มุ่งจัดการวัฐจักรชีวิตของพลาสติกทั้งหมด ยุติอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล ยกเลิกส่งเสริมธุรกิจพลังงานจากเชื้อเพลิงขยะพลาสติก และการอนุญาตนำเข้าเศษพลาสติกเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

5. มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ตรวจสอบผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานของการผลิตพืชเชิงเดี่ยวที่ก่อให้เกิดฝุ่น มีการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 5 ประเทศ คือ ไทย เมียนมา สปป.ลาว กัมพููชา และเวียดนาม ขณะที่ ระยะยาว จำเป็นต้องลดพื้นที่การผลิตพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด อ้อย และนำการผลิตรูปแบบอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ กระจายอำนาจสู่การปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สามารถบริหารจัดการให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่

และ 6. สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง รัฐบาลใหม่ หยุดโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั้งหมด และทำกระบวนการออกแบบยุทธศาสตร์พัฒนาพื้นที่ชายฝั่งร่วมกับชุมชน ตามพื้นฐานศักยภาพของทรัพยากรหรือความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล เป็นต้น

สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่อยากจะให้รัฐบาลใหม่เร่งผลักดัน ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย เผยว่า เป็นเรื่องของการผลักดันกฎหมายอย่าง กฎหมายอากาศสะอาด มีร่าง ฉบับหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการของรัฐบาลอยู่แล้ว และกฎหมาย PRPR  เรื่องของการรายงานข้อมูล และการเคลื่อนย้ายการปล่อยสารมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งกรีนพีซ ได้ร่วมกับ 2 องค์กร คือ มูลนิธิบูรณะนิเวศ และ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ผลักดันเข้าไปในสภาช่วงปีที่ผ่านมา

เรื่องพลังงาน ทำอย่างไรให้ค่าไฟมีความเป็นธรรม ผู้บริโภคมีภาระที่ไม่จำเป็นน้อยลง จะต้องทำกระบวนการคิดค่าไฟ การผลิตไฟฟ้า การวางแผนพลังงานโปร่งใส การทำประเด็นเร่งด่วนในเรื่องสิ่งแวดล้อมจะต้องคู่ขนานไปกับการยกระดับเศรษฐกิจในระดับครัวเรือน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำไปพร้อมกันได้ เช่น กรณีของการเปิดให้มีกลไกการรับซื้อไฟฟ้าจากครัวเรือน ชุมชนที่ผลิตไฟฟ้าเองได้ จะสร้างเศรษฐกิจ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการผลิตไฟฟ้า

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์