งานใหญ่รัฐบาลใหม่สางหนี้เก่า 'บีทีเอส' สายสีเขียว 5 หมื่นล้าน
“บีทีเอส” หวังรัฐบาลใหม่เคลียร์หนี้ 5 หมื่นล้าน “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” หลังดอกเบี้ยพุ่งต่อเนื่องปีละกว่า 1 พันล้านบาท ลั่นเพื่อประโยชน์ประชาชน และจูงใจนักลงทุน ต้องโปร่งใส
รถไฟฟ้าสายสีเขียว นับเป็นโครงการคมนาคมทางรางที่ให้บริการในเมืองเพื่อคนเมืองแห่งแรกของประเทศไทย แต่เมื่อเวลาผ่านไป บริการที่ว่านี้ก็มีส่วนต้องต่อขยายไปนอกเมืองอันเป็นที่มาของปัญหาที่ว่าด้วยหนี้ค่าบริการเดินรถ
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงของการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนตัวในฐานะภาคเอกชนอยากให้มีรัฐบาลที่ดี ที่มาจากการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด ประชาชนอยากเปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ในประเทศ และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ควรจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้เร็วที่สุด
“รัฐบาลใหม่ยังไงก็ไม่เหมือนรัฐบาลเก่า หวังว่ารัฐบาลใหม่จะเข้าใจว่าอะไรที่ผ่านมา มีอะไรที่บกพร่องต้องแก้อย่างไร ซึ่งส่วนตัวได้เห็นนโนบายของทั้งพรรค 8 พรรคการเมือง ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็ค่อนข้างชัดเจน ให้ประชาชนมีความหวัง ประเทศชาติมีความหวัง ตอนนี้อยากให้มีรัฐบาลเร็วที่สุด”
ส่วนข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจ ในฐานะภาคเอกชนยืนยันว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรหลายอย่างที่ดี เป็นประเทศที่มีโอกาสสูง เพราะเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศ ถ้าไม่คิดแต่เรื่องส่วนตัว พรรคการเมืองทุกพรรคเห็นแก่ส่วนร่วม เชื่อว่านักลงทุนหลายประเทศอยากมาลงทุนในไทย ดังนั้นขอให้ผู้ที่จะมาบริหารประเทศ ขอให้ตั้งใจจริง ช่วยกันให้ประเทศชาติเดินได้ก่อน เรื่องอำนาจผลประโยชน์ทิ้งไว้ทีหลัง เอาบ้านเมืองก่อน
นายคีรี ยังกล่าวถึงความคาดหวังจากรัฐบาลใหม่ในการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวด้วยว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียว บีทีเอสได้สัญญาจ้างเดินรถและติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็ดำเนินการตามสัญญาตลอด ซึ่งเรื่องนี้ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ ภาระหนี้ค้างจ่ายจากการรับจ้างติดตั้งระบบ ซึ่งปัจจุบันครบกำหนดจ่ายแล้วเมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยส่วนตัวเชื่อว่าภาครัฐโดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทราบถึงภาระคงค้างส่วนนี้ และคงจะมีการหารือต่อไป
แก้ปัญหาไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน
ส่วนภาระคงค้างค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในช่วงที่ผ่านมาบีทีเอสให้บริการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ผู้โดยสารได้รับความเดือดร้อน แม้ว่าบีทีเอสจะต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยที่ไม่ได้รับค่าจ้างเดินรถก็ตาม ซึ่งหากนับจากวันที่เปิดให้บริการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า เป็นระยะเวลากว่า 4 ปีแล้วที่ไม่ได้รับการชำระเงินจากภาครัฐ ก็หวังว่ารัฐบาลใหม่นี้ จะเข้าใจถึงปัญหาและจัดการปัญหา ไม่ใช่ว่าเพื่อประโยชน์ไม่ให้บีทีเอสเดือดร้อน แต่เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน
ขณะที่ปัญหาของการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งเป็นโครงการใหม่ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งปประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างขั้นตอนพิจารณาผลการประมูล เพื่อจัดหาเอกชนก่อสร้างส่วนต่อขยายฝั่งตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ และเดินรถตลอดเส้นทางช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งที่ผ่านมาบีทีเอสต่อสู้มาตลอด เพื่อชัยชนะของประชาชน เพราะสิ่งที่เห็นชัดคือราคาที่ต่างกันอย่างมาก ผลกระทบจากการประมูลโครงการในราคาสูง ก็จะกระทบต่อประชาชนทั้งงบประมาณและราคา
“เรื่องสายสีส้มเราก็คงต้องเดินหน้าต่อไป หวังว่าจะมีการประมูลใหม่ มันก็ควรจะทำเพื่อความเป็นธรรม แฟร์ๆ เพราะไม่ใช่ประมูลใหม่เราจะชนะ แต่เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และการประมูลก็ต้องกำหนดเงื่อนไขที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ไม่ใช่กำหนดเงื่อนไขกีดกันอย่างที่ผ่านมา เราไม่สามารถประมูลได้ เพราะมีเงื่อนไขต้องเป็นผู้รับเหมาในไทย หากประมูลใหม่ทุกคนก็คงสบายใจ และประชาชนก็จะได้ใช้รถไฟฟ้าเส้นทางใหม่สักที”
เดินหน้าเปิดใช้สายสีเหลือง
นายคีรี ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา บีทีเอสได้เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายใหม่ คือ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ซึ่งเป็นระบบรถไฟโมโนเรลสายแรกของไทย อยากให้ประชาชนได้ไปทดลองใช้บริการ นอกจากนี้ บีทีเอสยังเตรียมเปิดให้บริการรถไฟโมโนเรลสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี ปัจจุบันอยู่ในช่วงก่อสร้างเก็บรายละเอียด เพราะที่ผ่านมาติดปัญหาการย้ายสถานี แต่ภาพรวมคาดว่าจะสามารถเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการปลายปีนี้
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กล่าวว่า ปัจจุบันภาระหนี้สินคงค้างจากสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า) และช่วงที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า/เครื่องกล รวมกว่า 2.28 หมื่นล้านบาท
โดยขณะนี้ข้อพิพาทที่บีทีเอสได้ยื่นฟ้องเรียกเก็บหนี้สินดังกล่าวศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วว่าเป็นหนี้ที่ถูกต้อง และ กทม.ต้องชำระร่วมกับบริษัทกรุงเทพธนาคม โดยปัจจุบันข้อพิพาทดังกล่าวอยู่ในกระบวนการศาลปกครองสูงสุดพิจารณา นอกจากนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมายังครบกำหนดชำระค่าจ้างติดตั้งระบบไฟฟ้า/เครื่องกล โดยทางบีทีเอสได้ทำหนังสือสอบถามไปยังกรุงเทพธนาคมและ กทม.แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ