'ทางพิเศษภูเก็ต' เล็งเปลี่ยนแผน ปรับโปรเจกต์จูงใจเอกชนร่วมลงทุน
การทางพิเศษฯ เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น 12 มิ.ย.นี้ ลุยปรับทีโออาร์ "ด่วนกะทู้ - ป่าตอง" ก่อนเปิดประมูลรอบสองต้นปี 2567
จังหวัดภูเก็ต เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ มีอัตราการขยายของตัวเองและประชากรสูง ดังนั้น การพัฒนาด้านคมนาคมต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาด้านอื่นๆด้วย โครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง จึงเกิดขึ้น กำหนดวงเงินลงทุนอยู่ที่ 14,670 ล้านบาท คาดการณ์ปริมาณจราจร ณ ปีเปิดให้บริการ ประมาณ 71,000 คันต่อวัน
รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการฯว่า หลังจาก กทพ.เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอโครงการดังกล่าวเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และพบว่าไม่มีเอกชนยื่นข้อเสนอ ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลมาจากสภาวะทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ทำให้กระทบต่อต้นทุนการก่อสร้างจากเดิมเมื่อปี 2564 ได้ประมาณการไว้ในปีที่เริ่มก่อสร้างจำนวน 8,878 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10% จึงทำให้ไม่จูงใจเอกชนในการตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนโครงการเท่าที่ควร
อย่างไรก็ดี กทพ.จะเดินหน้าเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน เพื่อนำมาปรับปรุงเอกสารประกวดราคา และจะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนโครงการดังกล่าวเป็นครั้งที่ 2
โดยเบื้องต้น กทพ.กำหนดเปิดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ โดยช่วงเช้าเป็นเวทีสำหรับเอกชนที่มาซื้อซอง 13 ราย แต่ไม่มายื่นข้อเสนอ และช่วงบ่ายสำหรับสถาบันการเงิน ส่วนรูปแบบออนไลน์ ได้เปิดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในส่วนอื่นๆ สามารถดาวน์โหลดเอกสารการรับฟังความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ของ กทพ.ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 11 มิ.ย.2566 และสามารถจัดส่งความคิดเห็นมายัง กทพ.ตั้งแต่วันที่ 12-14 มิ.ย.2566
“การเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ เพื่อรับทราบมุมมองของทางภาคเอกชนนักลงทุนต่างๆ ทั้งกลุ่มที่ซื้อซองประมูลในครั้งก่อน และกลุ่มที่ยังไม่ได้ซื้อซองแต่สนใจร่วมลงทุน ว่ามีความเห็นหรือปัญหาใดที่ไม่จูงใจภาคเอกชนหรือไม่ เพื่อนำความคิดเห็นเหล่านี้ไปปรับแก้ในการร่างเอกสารประกวดราคาครั้งใหม่”
สำหรับกรอบการดำเนินงานในเบื้องต้น กทพ.ประเมินว่า ภายหลังเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จ ในกรณีที่ความเห็นของภาคเอกชนยังอยู่ในกรอบหลักการตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยอนุมัติไว้ เช่น ยังพร้อมร่วมลงทุนในแนวเส้นทางเดิม หรือภายใต้กรอบวงเงินเดิม ก็จะสามารถปรับปรุงร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) แล้วเสร็จภายใน 1 – 2 สัปดาห์
ส่วนในกรณีที่เสียงส่วนใหญ่จากภาคเอกชนที่เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้เกินกรอบที่ ครม.เห็นชอบไว้ก่อนหน้านี้ จำเป็นต้องรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นไปยังคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พิจารณา และเสนอกลับมาที่ กทพ.พิจารณาทบทวนรูปแบบการร่วมลงทุนใหม่ให้เหมาะสม ก่อนจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคม และ ครม. เห็นชอบ ซึ่งคาดว่าขั้นตอนดำเนินการในกรณีนี้จะแล้วเสร็จภายในปี 2566
รายงานข่าวจาก กทพ. ยังกล่าวด้วยว่า ประเมินว่าโครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง จะสามารถเริ่มขั้นตอนเปิดประกวดราคาได้ภายในต้นปี 2567 หลังจากนั้นจะได้ผู้ชนะการประมูลร่วมลงทุนภายในเดือน พ.ค. 2567 และเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปลายปี 2567 โดยเบื้องต้นโครงการจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างราว 4 ปี จึงคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2571
สำหรับแนวทางการลงทุนในโครงการทางพิเศษสายนี้ กทพ.ประเมินไว้ 2 ทางเลือกที่จะจูงใจเอกชนร่วมลงทุน คือแนวทางที่ 1.รอผลการศึกษาของโครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้ เพื่อเพิ่มแนวเส้นทางให้มีระยะทางยาวขึ้น และครอบคลุมทั้งโครงการ จูงใจเอกชนร่วมลงทุนมากขึ้น แต่แนวทางนี้จะทำให้ภาพรวมโครงการล่าช้าออกไป เนื่องจากต้องรอผลการศึกษาสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ แล้วเสร็จจึงจะเริ่มขั้นตอนเปิดประมูลจัดหาเอกชนร่วมลงทุน และก่อสร้างโครงการครอบคลุมสายกะทู้ - ป่าตอง และสายเมืองใหม่ - เกาะแก้ว – กะทู้
ส่วนแนวทางที่ 2 กทพ. จะลงทุนงานก่อสร้างสายกะทู้-ป่าตองไปก่อน เนื่องจากการก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นงานอุโมงค์ทางลอดที่ต้องใช้เวลาก่อสร้างจำนวนมาก หลังจากนั้นเมื่อได้ตัวเอกชนร่วมลงทุนแล้ว เอกชนจะต้องมาชำระค่างานก่อสร้างคืนในภายหลัง ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้โครงการไม่ล่าช้า เพราะได้เริ่มก่อสร้างโครงการในส่วนที่มีเทคนิคสูงอย่างงานอุโมงค์ไปก่อนแล้ว
“หากการทางฯ ต้องเริ่มงานก่อสร้างสายกะทู้-ป่าตอง ไปก่อน ก็ไม่มีปัญหาเรื่องเงินลงทุน เพราะสามารถหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อขอออกพันธบัตรรัฐบาล หรือกู้เงินภายในประเทศที่มีดอกเบี้ยต่ำ หรือใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ก็สามารถดำเนินการได้ ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณา”
ทั้งนี้ กทพ.ประเมินด้วยว่าหากได้ตัวเอกชนร่วมลงทุนในโครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง และสายเมืองใหม่ - เกาะแก้ว - กะทู้ เป็นรายเดียวกัน จะส่งผลบวกต่อการพัฒนาโครงการนี้ เนื่องจากการพัฒนาทางพิเศษจะเชื่อมต่อใช้ระบบเดียวกันจะทำให้เอกชนสามารถบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น ส่งผลต่อการกำหนดอัตราค่าผ่านทางจะเป็นราคาที่เหมาะสม และแล้วเสร็จเปิดใช้บริการรองรับจังหวัดภูเก็ตเป็นเจ้าภาพงาน Specialize Expo 2028 ในปี 2571