‘รถไฟฟ้าสายสีเหลือง’ จ่อเก็บค่าโดยสาร 3 ก.ค.นี้ เปิดวิธีแตะจ่ายให้คุ้ม

‘รถไฟฟ้าสายสีเหลือง’ จ่อเก็บค่าโดยสาร 3 ก.ค.นี้ เปิดวิธีแตะจ่ายให้คุ้ม

3 ก.ค.นี้ สิ้นสุดทางเลื่อน! “รถไฟฟ้าสายสีเหลือง” เตรียมให้บริการเชิงพาณิชย์ จัดเก็บค่าโดยสาร 15 – 45 บาท พร้อมเปิดระบบจ่ายแบบ EMV ยกเว้นค่าแรกเข้าเชื่อมการเดินทางรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีลาดพร้าว

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อัพเดตความพร้อมให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง (รถไฟฟ้าสายสีเหลือง) หลังเปิดทดลองให้บริการบางช่วงเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุดในวันที่ 12 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป เตรียมขยายสถานีให้บริการเพิ่มเติมจากสถานีภาวนา ถึงสถานีสำโรง และยังขยายระยะเวลาให้บริการเป็นระหว่างเวลา 06.00 น. – 20.00 น. โดยประชาชนสามารถร่วมทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายนี้ได้ ดังนี้

- สถานีภาวนา

- สถานีโชคชัย 4 เปิดใช้เฉพาะทางเข้า-ออก 2 (ซอยลาดพร้าว 55) และทางเข้า-ออก 3 (ซอยลาดพร้าว 58)

- สถานีลาดพร้าว 71 เปิดใช้เฉพาะทางเข้า-ออก 1 (โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา) ทางเข้า-ออก 3 (ซอยลาดพร้าว 84) และทางเข้า-ออก 4 (ซอยลาดพร้าว 80/3)

- สถานีลาดพร้าว 83

- สถานีมหาดไทย ที่ทางเข้า-ออก 2 (โรงพยาบาลลาดพร้าว) เปิดใช้เฉพาะบันได

- สถานีลาดพร้าว 101

- สถานีบางกะปิ เปิดใช้เฉพาะทางเข้า-ออก 1 (ซอยลาดพร้าว 113) ทางเข้า-ออก 2 (ซอยลาดพร้าว 115) และทางเข้า-ออก 4 (ซอยลาดพร้าว 142)

- สถานีแยกลำสาลี

- สถานีศรีกรีฑา

‘รถไฟฟ้าสายสีเหลือง’ จ่อเก็บค่าโดยสาร 3 ก.ค.นี้ เปิดวิธีแตะจ่ายให้คุ้ม

 

อีกทั้งในวันที่ 19 มิ.ย. 2566 เวลาประมาณ 10.00 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีเปิด โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง อย่างเป็นทางการ โดยจะขยายสถานีให้บริการประชาชนร่วมทดลองใช้บริการตลอดสาย ครบ 23 สถานี ตั้งแต่สถานีลาดพร้าว - สถานีสำโรง ซึ่งสามารถเชื่อมต่อการเดินทางไปยังรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง–สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง (YL23), รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟสายตะวันออก ที่สถานีหัวหมาก (YL11) รวมถึงรถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน ที่สถานีลาดพร้าว (YL01)

“สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส และผู้รับสัมปทานในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เปิดเผยว่า รถไฟฟ้าสายสีเหลืองเป็นหนึ่งในโครงการที่มีข้อกำหนดในสัญญาสัมปทานที่จำเป็นต้องติดตั้งระบบตั๋วร่วม อำนวยความสะดวกให้ประชาชนเดินทางเชื่อมต่อระบบรางอย่างสะดวก

โดยขณะนี้รถไฟฟ้าสายสีเหลืองได้มีการติดตั้งระบบ EMV Contactless รองรับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตที่มีสัญลักษณ์ EMV (Europay, MasterCard and VISA) นอกจากนี้ยังสามารถจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลืองด้วยบัตรแรบบิทในเครือ BTS ซึ่งจะมีการจัดทำโปรโมชันราคาพิเศษอย่างต่อเนื่อง เพื่อจูงใจให้ประชาชนปรับเปลี่ยนการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า

‘รถไฟฟ้าสายสีเหลือง’ จ่อเก็บค่าโดยสาร 3 ก.ค.นี้ เปิดวิธีแตะจ่ายให้คุ้ม

การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมี 3 รูปแบบชำระค่าโดยสาร แบ่งเป็น

  • บัตร EMV

ผู้โดยสารสามารถนำบัตรที่มีสัญลักษณ์ EMV แตะจ่ายค่าโดยสาร และใช้เชื่อมต่อการเดินทางไปยังระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานีลาดพร้าว โดยไม่เสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนในจำนวน 15 บาท มีข้อจำกัดต้องเปลี่ยนผ่านระบบรถไฟฟ้าภายในระยะเวลา 30 นาที ซึ่งช่วงแรกผู้โดยสารสามารถชำระผ่านบัตร EMV ได้ที่ช่องทางพิเศษ ติดกับห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร ส่วนในอนาคตจะมีการพัฒนาระบบหัวอ่านให้สามารถแตะจ่าย EMV ในทุกช่องทางเข้าออกระบบรถไฟฟ้า

  • บัตรแรบบิท

ผู้โดยสารสามารถแตะจ่ายค่าโดยสารด้วยบัตรแรบบิทที่ออกโดย BTS ซึ่งหลังจากนี้จะมีการจัดทำโปรโมชันเพื่อใช้ในการเดินทางเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีเขียวด้วย

  • บัตรโดยสารเที่ยวเดียว

ผู้โดยสารสามารถออกบัตรโดยสารดังกล่าว ณ ตู้จำหน่ายบัตรโดยสาร และห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร ซึ่งจะมีอัตราค่าโดยสาร 15 – 45 บาท

 

ทั้งนี้ รูปแบบการชำระค่าโดยสารในเบื้องต้นนั้น หากเปรียบเทียบแล้วจะพบว่าการชำระค่าโดยสารด้วยบัตร EMV เป็นทางเลือกของประชาชนที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายจากการจัดเก็บค่าแรกเข้า กรณีต้องเปลี่ยนระบบรถไฟฟ้าระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในจำนวนประมาณ 15 บาท โดยหากประชาชนเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเป็นประจำ จะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือนราว 600 บาท คำนวณจากค่าแรกเข้าที่ถูกลดหย่อนจากการเดินทางวันทำงานไปกลับจำนวน 30 บาทต่อวัน

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีเหลืองยังคงให้บริการประชาชนโดยไม่เก็บค่าโดยสาร ซึ่งเบื้องต้นมีการประเมินว่าอาจจะมีการเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารในวันที่ 3 ก.ค.นี้เป็นต้นไป เนื่องจากปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนขออนุมัติอัตราค่าโดยสาร และออกประกาศกำหนดใช้

  ‘รถไฟฟ้าสายสีเหลือง’ จ่อเก็บค่าโดยสาร 3 ก.ค.นี้ เปิดวิธีแตะจ่ายให้คุ้ม