พลังเยาวชนกับเศรษฐกิจร่วมสมัย
Gen Z ในอเมริกาคือผู้เกิดระหว่างปี 1997 -2012 ปัจจุบันอายุประมาณ 11 - 26 ปี และกลุ่มนี้มีจำนวนประมาณ 68 ล้านคน จากประชากร 335 ล้านคนกลุ่ม Gen Z มีกำลังการซื้อประมาณปีละ 360,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้บริษัทต่างๆพยายามหาวิธีเข้าถึงกลุ่มนี้ให้ได้
บทเรียนสำคัญที่บริษัทต่างๆได้เรียนรู้จากการให้บริการและขายสินค้าให้ลูกค้ากลุ่มนี้ก็คือ ต้องเข้าใจถึงสิ่งที่เขาชอบและศรัทธา แต่หากมีค่านิยมอันใดที่พวกเขาไม่เห็นด้วย ก็จะมีการประท้วงโดยการไม่ซื้อสินค้านั้น และจะชวนคนในวัยเดียวกันผ่านโซเชียลมีเดียให้ช่วยกันคว่ำบาตร
วิธีการสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ให้ได้ผลที่สุดก็คือ โซเชียลมีเดียผ่านแอพต่างๆ และการโฆษณาที่ได้ผลที่สุดคือการใช้ influencers ผู้แนะนำสินค้าที่พวกเขาชื่นชม
ข่าวเรื่องเทคโนโลยีที่น่าตื่นเต้นสัปดาห์นี้ก็คือการเปิดตัว Vision Pro ของบริษัทแอปเปิ้ล https://youtu.be/TX9qSaGXFyg ซึ่งจะมีจำหน่ายต้นปีหน้า อุปกรณ์ตัวนี้เป็นแว่นตาครอบมีคุณภาพความชัดคม และการควบคุมมีประสิทธิภาพสูงในการทำงานและบันเทิงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และมีข่าวว่ามีผู้จองเป็นจำนวนมากหลายล้านเครื่อง ราคาขายเครื่องละ 3,499 ดอลลาร์ และลูกค้าอันดับหนึ่งคือ Gen Z
เยาวชนในสหรัฐกำลังมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีและมีตัวเร่งในช่วงล็อคดาวน์ของโควิดสามปีเช่นกัน ปัจจุบันจำนวนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยลดลงและหลายคน ตัดสินใจ หางานประกอบอาชีพโดยที่ไม่เข้าเรียนอุดมศึกษา เนื่องจากสาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือค่าเล่าเรียนสูงมาก และนักศึกษาจบใหม่เป็นหนี้ และกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจส่วนตัวเรื้อรังหลายปี กลายเป็นคำกล่าวขานว่า การศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า นักศึกษาในอเมริกา 44 ล้านคน เป็นหนี้เฉลี่ยคนละประมาณ 38,000 ดอลลาร์
สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในสหรัฐได้ชาวต่างชาติเข้ามาเป็นตัวเสริม ปีละประมาณ 800,000 คน สหรัฐมีรายได้จากนักศึกษาต่างประเทศปีละประมาณ 45,000 ล้านดอลลาร์ โดยเฉลี่ยคนละ 56,250 ดอลลาร์ต่อปี อินเดียและจีนผลัดกันเป็นที่หนึ่ง โดยปัจจุบันมีนักเรียนจากสองประเทศนี้ประมาณกว่า 600,000 คน (อินเดียมี Gen Z กว่า 374 ล้านคน)
ในจีนมี Gen Z กว่า 300 ล้านคน ขณะนี้มีข่าวเรื่องเยาวชนกำลังตกงานเป็นจำนวนกว่า 20% ทุกปีมีผู้จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรและปริญญาตรีในจีนประมาณ 8.2 ล้านคน และตำแหน่งงานที่เหมาะสมได้ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะผลกระทบในช่วงโควิดล็อคดาวน์สามปี มีกระแสในกลุ่มคนรุ่นใหม่ของจีนว่า ชีวิตเครียดมาก พวกเขาได้ทำทุกอย่างตามความต้องการของผู้ปกครองแล้ว แต่อนาคตดูมืดมน “จะไม่มีแฟน ไม่แต่งงาน ไม่ซื้อบ้าน และไม่มีรถยนต์”
ชาวจีนที่แต่งงานแล้วก็กลัวการมีลูก เนื่องจากชีวิตในเมืองใหญ่มีค่าใช้จ่ายสูง และการแข่งขันของเด็กในการเรียนเป็นความกดดันที่พวกเขาไม่ต้องการให้ลูกต้องมาลำบาก ค่าเลี้ยงดูลูกจนถึงอายุ 18 ปีในจีน เฉลี่ยแล้วประมาณ 630,000 หยวน หรือกว่า 3 ล้านบาท จีนจึงพบปัญหาประชากรลดลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำกำลังต้องวางแผนยุทธศาสตร์ใหญ่ ให้รางวัลและส่งเสริมการมีลูกเพิ่มขึ้น จากเดิมนโยบายลูกหนึ่งคน เป็นสองคนและปัจจุบันเป็นสามคน แต่นโยบายนี้ยังไม่ได้รับการตอบสนอง
บางสถาบันประเมินว่าชาวจีนในปี ค.ศ. 2100 อาจจะลดลงเหลือเพียงแค่ประมาณ 600-800 ล้านคน ซึ่งหากเป็นจริงจะทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเพราะขาดคนวัยทำงาน และจำนวนผู้สูงอายุจะสูงมากเกินกว่าที่ภาษีอากรจะเลี้ยงดูได้
เยาวชนโลกยุคปัจจุบัน มีต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงกว่ารุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายในอดีต หลายคนไม่ต้องทำงานเพื่อหาเงินเรียน เทคโนโลยีพัฒนาต่อเนื่องอย่างรวดเร็วมาก ทำให้พวกเขามีโอกาสสูงมากที่จะประสบความสำเร็จ แต่ขณะเดียวกันก็จะมีสิ่งท้าทาย กับกลุ่มคนเหล่านี้ซึ่งแตกต่างจากในอดีตด้วย
ไทยเป็นประเทศที่ปรับตัวเร็วมากและการที่มีนักการเมืองรุ่นใหม่ (หลายคนเป็น Gen Y อายุ 27- 42 ปี) จะนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบราชการซึ่ง มาถึงจุดที่พร้อมรับการปฏิรูป
สถานการณ์ในไทยช่วงนี้ระหว่างที่เรากำลังรอรับผลการยืนยันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นทางการ และการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เพื่อบริหารประเทศตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป และถึงแม้คนส่วนใหญ่มั่นใจว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลรักษาการปัจจุบันซึ่งมีแนวการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม ไปเป็นรัฐบาลชุดใหม่ของคนหนุ่มสาวซึ่งมีแนวเสรีนิยมประชาธิปไตยนั้น ก็ยังวิพากษ์วิจารณ์ว่าเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศในแนวใหม่นั้นจะมีความเสี่ยงมากเพียงใด
ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จากพรรคก้าวไกล ก็กล่าวย้ำว่า จะใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการแก้ปัญหาใหญ่ๆ โดยเฉพาะการปฏิรูประบบราชการและจะใช้ AI ตรวจสอบการฉ้อราษฎร์บังหลวง
ประเทศไทยมีศักยภาพสูงมาก และเราน่าจะทำได้ทุกอย่างเทียบเท่ากับประเทศที่เจริญแล้ว เช่นประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ซึ่งมีมาตรฐานสูงระดับโลก แต่สิ่งที่ถ่วงดึงไทยไม่ให้ พัฒนาเท่าเทียมกับประเทศชั้นนำก็คือเรื่องคอรัปชั่น
คอรัปชั่นเปรียบเสมือนโรคร้ายที่เรามองไม่เห็น หากดูจากภายนอกร่างกายดูเหมือนคนปกติ แต่ หากโรคนั้นเป็นสิ่งที่วินิจฉัยไม่ถูกต้องหรือปล่อยปละละเลย เราก็จะล้มป่วยและเสียชีวิตได้
แรงบันดาลใจไม่ไกลนักคือผู้นำจีนคนปัจจุบัน ซึ่งถือเรื่องนี้เป็นความสำคัญเร่งด่วนอันดับหนึ่ง เมื่อเข้ามารับตำแหน่งเมื่อปี ค.ศ. 2013 ได้ดำเนินคดีกับข้าราชการและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์กว่าสองล้านคน และเป็นสิ่งที่ชาวจีนสนับสนุน เนื่องจากเห็นผลตอบแทนอย่างชัดเจนต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ
ขอส่งกำลังใจช่วยคนหนุ่มสาวให้ประสบความสำเร็จในการนำประเทศชาติไปสู่ความเจริญ และขอเสนอให้พิจารณานำอีกสองกลุ่มเข้ามาช่วยตามความเหมาะสม ผมมั่นใจว่าคน Gen X อายุ 43 - 58 ปี และ Boomers อายุ 59 - 68 ปี มีหลายคนที่มีคุณภาพสูง และกำลังเตรียมพร้อมรับคำเชิญเข้ามาร่วมทีมในทุกบทบาทครับ