BTS จี้กทม. เคลียร์ ‘หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ 5 หมื่นล้าน

ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ คีรี กาญจนพาสน์ หารือร่วมกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ที่ปัจจุบันมีหนี้สะสมอยู่กว่า 5 หมื่นล้าน

ช่วงเช้าวันนี้ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร BTS เข้าหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งถือเป็นการหารือร่วมกันครั้งแรกระหว่าง กทม.และบีทีเอส 

ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ คีรี กาญจนพาสน์ ระบุ การหารือครั้งนี้ได้ทำความเข้าใจกับทาง กทม.และต้องขอบคุณ กทม. ที่เข้าใจว่าเอกชนรับภาระมากว่า 4 ปี ซึ่งค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 ครบกำหนดชำระ 2 หมื่นล้านบาท ถึงเวลาที่ กทม.จะต้องชำระเงินให้เอกชน

ด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม ระบุ ที่ผ่านมามีคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดมาก คาดว่าเปิดการประชุมสภากทม. สมัยหน้าจะสามารถนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภากทม.ได้ว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร เรื่องการชำระเงินดังกล่าว จะปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ด้วยความรอบคอบ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กทม.ได้เสนอวาระเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าสู่ที่ประชุมสภา กทม. พร้อมทำหนังสือตอบกลับข้อคิดเห็นจากกระทรวงมหาดไทย ใน 3 ประเด็น ประกอบด้วย

1. เห็นพ้องกับนโยบาย Through Operation ให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและงานติดตั้งระบบการเดินรถ

2. เห็นควรที่จะเดินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตาม พ.ร.บ. ร่วมทุน 2562 เพื่อความโปร่งใส

3. การหาข้อยุติของ ครม. ตามคำสั่ง คสช. จะทำให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินงาน

 

 

ขณะที่ประเด็นเรื่อง รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ต้องรอให้ ครม.พิจารณาว่าจะมีมติขยายสัมปทานหรือไม่ หาก ครม.อนุมัติทุกอย่างจะไปเป็นตามสัญญาใหม่ที่เอกชนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย แต่หาก ครม.ไม่อนุมัติก็เป็นหน้าที่ กทม.ที่จะต้องกลับมาพิจารณาใหม่เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมาย

ปัจจุบันภาระหนี้สินคงค้างจากสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า) และช่วงที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า/เครื่องกล รวมกว่า 2.28 หมื่นล้านบาท ซึ่งหนี้ที่คงค้างมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เฉลี่ยประมาณ 5% หรือราว 1 พันล้านบาทต่อปี

โดยขณะนี้ข้อพิพาทที่บีทีเอสได้ยื่นฟ้องเรียกเก็บหนี้สินดังกล่าว ศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วว่าเป็นหนี้ที่ถูกต้อง และ กทม.ต้องชำระร่วมกับบริษัทกรุงเทพธนาคม โดยปัจจุบันข้อพิพาทดังกล่าวอยู่ในกระบวนการศาลปกครองสูงสุดพิจารณา