BTS รับอานิสงส์สาย ‘สีเหลือง’ ผู้โดยสารคึกคัก
เปิดทดลองให้บริการเป็นที่เรียบร้อย สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยในช่วงนำร่องจะเปิดเดินรถ 13 สถานี ระหว่างสถานีหัวหมากถึงสถานีสำโรง โดยให้บริการฟรีทุกวัน เวลา 09.00 – 20.00 น.
ปรากฏว่าตั้งแต่เปิดทดลองเดินรถได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี โดยวันที่ 3 มิ.ย. มีผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 38,521 คน-เที่ยว และวันที่ 4 มิ.ย. จำนวน 36,879 คน-เที่ยว ทั้งๆ ที่เป็นช่วงวันหยุด ซึ่งในวันทำงานปกติน่าจะมีผู้ใช้บริการมากกว่านี้
เบื้องต้นคาดว่าในวันที่ 12 มิ.ย. จะเปิดเดินรถเพิ่มอีก 9 สถานี จากสถานีหัวหมากไปถึงสถานีภาวนา และขยายเวลาให้บริการไปถึง 21.00 น. ส่วนอีก 1 สถานี คือ สถานีลาดพร้าวยังอยู่ระหว่างเก็บรายละเอียดการก่อสร้าง ซึ่งจะเปิดให้บริการในลำดับถัดไป
โดยมีรายงานว่าในวันที่ 19 มิ.ย. จะมีการจัดพิธีเปิดโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองอย่างเป็นทางการ และเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการครบ 23 สถานี ก่อนที่จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 1 ก.ค. นี้
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองทางกลุ่มบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ได้รับสัมปทานในการก่อสร้างและเดินรถจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.
โดยเส้นทางเดินรถส่วนใหญ่จะผ่านพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก และพื้นที่ส่วนเหนือของจังหวัดสมุทรปราการ
และมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสำคัญอื่นๆ โดยเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินที่สถานีลาดพร้าว เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ที่สถานีหัวหมาก และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีสำโรง
แน่นอนว่าเส้นทางที่รถไฟฟ้าวิ่งผ่านย่อมนำพาความเจริญมายังพื้นที่นั้นๆ ด้วย โดยมีข้อมูลจากบริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด ว่า 10 ปีที่ผ่านมา ตลอดแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดใหม่มากกว่า 19,229 ยูนิต
และยังส่งผลให้ราคาที่ดินพุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยบริเวณสถานีสวนหลวง ร.9 ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นมากที่สุด 7.3% จาก 1.5 แสนบาท/ตร.ว. เป็น 2.6 แสนบาท/ตร.ว. ส่วนสถานีสำโรงราคาที่ดินแพงที่สุด 4.2 แสนบาท/ตร.ว. หรือ เพิ่มขึ้น 6.8% จาก 2.5 แสนบาท/ตร.ว.
สำหรับในมุมการลงทุน แน่นอนว่า BTS จะได้รับประโยชน์จากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากสายสีเหลืองที่บริษัทเป็นผู้เดินรถ และการส่งต่อผู้โดยสารไปยังสายสีเขียวที่สถานีสำโรง
ส่วนบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI จะได้รับอานิสงส์จากการขายสื่อโฆษณาบนสถานีรถไฟฟ้าและในรถไฟฟ้า
ซึ่งล่าสุดทาง BTS ได้เข้าซื้อหุ้น VGI เพิ่มอีก 6.7367% ส่งผลให้ถือหุ้นเพิ่มเป็น 60.3352% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ
ขณะเดียวกันบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จะได้ประโยชน์จากจำนวนผู้ใช้บริการที่จะส่งต่อมายังรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน
ด้านผู้ประกอบการอสังหาฯ จะได้ประโยชน์จากการเปิดขายโครงการตลอดแนวรถไฟฟ้า
ด้านบล.กรุงศรี ระบุว่า บริษัทคาดในปีแรกที่เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะมีผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 1.3 แสนเที่ยว/วัน และจะทำรายได้ปีแรกประมาณ 2 พันล้านบาท
โดยมี EBITDA margin อยู่ที่ 50% ทั้งนี้ บริษัทคาดจะถึงจุดคุ้มทุนในระดับกำไรสุทธิได้ภายในปีแรกที่เปิดดำเนินการ ส่วนสายสีชมพูจะเปิดดำเนินการอย่างเต็มที่ในต้นปี 2567
ขณะที่สายสีเขียวคาดว่าในงวดปี 2566/2567 (1 เม.ย. 2566 – 31 มี.ค. 2567) จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้น 31% มาอยู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ที่ 7-7.5 แสนเที่ยว/วัน รับอานิสงส์จากสายสีเขียวส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ซึ่งจะนำผู้โดยสารมาป้อนให้เส้นทางหลักประมาณ 6-6.5 หมื่นเที่ยว/วัน
ส่วนกรณีที่ทริสเรทติ้งได้ปรับลดอันดับเครดิตของหุ้นกู้ปลอดหลักประกันของ BTS จาก A เป็น A- เนื่องจากกรณีข้อพิพาทกับ กทม. ที่ยังค้างจ่ายค่าก่อสร้างและค่าเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ซึ่งการปรับลดเครดิตจะทำให้หนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้น และ EBITDA ลดลง
แต่ฝ่ายวิจัยคาดว่า BTS มีเงินสดมากพอที่จะชำระหนี้ระยะสั้นได้ โดยในปัจจุบัน BTS มีเงินสดในมือ (รวมการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน) 3.2 หมื่นล้านบาท
และยังสามารถสร้าง EBITDA เงินสดได้อีกปีละ 7 พันล้านบาท (รวมรถไฟฟ้าสายสีชมพูและเหลือง) นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคาร 1.97 หมื่นล้านบาท
ในขณะที่ยอดหนี้ระยะสั้น ณ วันที่ 31 มี.ค. 2566 อยู่ที่ 3.3 หมื่นล้านบาท ฝ่ายวิจัยคิดว่ายอดหนี้ของ BTS ไม่น่าจะเกินเพดาน (covenant) สัดส่วนหนี้สินสุทธิ/ทุนที่ประมาณ 2.5 เท่า เพราะสัดส่วนดังกล่าวเมื่อสิ้นเดือนมี.ค. 2566 ยังอยู่ที่ 1.24 เท่า