ต่างชาติกระหน่ำขาย ‘บอนด์จีน’ รวม 2 ปีเฉียด 5 ล้านล้านบาท ยอด IPO ดิ่ง

ต่างชาติกระหน่ำขาย ‘บอนด์จีน’ รวม 2 ปีเฉียด 5 ล้านล้านบาท ยอด IPO ดิ่ง

“The Atlantic Council” กลุ่มคลังสมองสหรัฐ เผย นักลงทุนต่างชาติเทขายสุทธิบอนด์จีนตลอด 2 ปี แตะ 1.48 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 4.9 ล้านล้านบาท) จากความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์-สงครามการค้ากับสหรัฐ 

Key Points

  • นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิบอนด์จีนตลอด 2 ปี แตะ 1.48 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 4.9 ล้านล้านบาท)
  • ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ – สงครามการค้าจีนกับสหรัฐ รุนแรงมากขึ้น
  • จีนเผชิญความเสี่ยงรอบด้านทั้ง ขาดบุคลากรวัยทำงาน ภาคการผลิตโตต่ำ ไม่เป็นประชาธิปไตย และวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ 

ดิ แอตแลนติก เคานซิล (The Atlantic Council) กลุ่มคลังสมอง (Think Thank) ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สัญชาติอเมริกัน ระบุผ่านบทวิเคราะห์ “Investors have been “de-risking” from China for years” ช่วงต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า บรรดานักลงทุนเดินหน้าเทขายสินทรัพย์ในจีนเพื่อลดความเสี่ยงติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 2 ปี จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และความไม่โปร่งใสในการบริหารประเทศของรัฐบาลกลางปักกิ่ง

โดยต้องยอมรับว่าบทสนทนาเรื่อง “การลดความเสี่ยง” จากประเทศจีนเป็นเทรนด์ที่หลายคนพูดถึงเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งจากเรื่องความปั่นป่วนในเชิงภูมิรัฐศาสตร์อย่างที่กล่าวไป รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจของจีนที่ไม่ได้ดีอย่างที่คิดซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid)

หากอ้างอิงข้อมูลจาก เจเรมี มาร์ค นักวิจัยอาวุโสจาก ศูนย์ภูมิเศรษฐศาสตร์ (Geoeconomics) ของดิ แอตแลนติก เคานซิล พบว่า เหล่าผู้จัดการกองทุนจากต่างประเทศเริ่มลดความเสี่ยงในจีนมาตั้งแต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตอบสนองนโยบาย “ความมั่นคงนำหน้าความมั่งคั่ง” ของประธานาธิปดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping)

ต่างชาติกระหน่ำขาย ‘บอนด์จีน’ รวม 2 ปีเฉียด 5 ล้านล้านบาท ยอด IPO ดิ่ง

มาร์ค อธิบายเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ต้นปี 2565 นักลงทุนสถาบันระหว่างประเทศขายพันธบัตรของจีนสุทธิ 1.48 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 4.9 ล้านล้านบาท) ประกอบกับมูลค่าหุ้นจีนก็ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดหุ้นนิวยอร์กและฮ่องกง

นอกจากนี้ จากรายงานฉบับแยกของดิ แอตแลนติก เคานซิล ยังระบุเพิ่มเติมว่า “นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นจีนอย่างฉับพลัน รวมทั้งอดีตเจ้าหน้าที่ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของจีนมีแนวโน้มจะเข้าสู่ทศวรรษแห่งหายนะโดยเร็ววัน”

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นในตลาดของจีนที่ชะลอตัวลงเน้นย้ำว่าการลดความเสี่ยงออกจากประเทศจีนนั้นสำคัญพอๆ กับประเด็นทางการทูต “ตัวเลขทั้งหมดเป็นลางที่ไม่ค่อยดีสำหรับจีน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับโอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจในจีนของบรรดานักลงทุน”

นอกจากการฟื้นตัวอย่างอ่อนแอของจีนจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์แล้ว มาร์คยังระบุถึงความท้าทายเชิงโครงสร้างระยะยาวที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ต้องเผชิญ ซึ่งรวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจนทำให้ขาดบุคลากรวัยทำงาน ประสิทธิภาพการผลิตที่อ่อนแอ ประเด็นความไม่เป็นประชาธิปไตยในประเทศ และวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ครั้งใหญ่

“หากกล่าวตามตรง ตอนนี้จีนอาจไม่ต้องการเงินทุนจากต่างประเทศมากเท่ากับรุ่นก่อนหน้า แต่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ลดน้อยลงทุนวัน จะสะสมไปเรื่อยๆ แล้วจึงสะท้อนกลับกระทบเศรษฐกิจจีนอย่างรุนแรงในอนาคต" มาร์คเตือน

“ในช่วงปีที่ผ่านมา สิ่งที่ผู้จัดการกองทุนต่างประเทศกังวลคือการลงทุนในสินทรัพย์จีนมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางผลตอบแทนที่ไม่คงที่” มาร์คกล่าว พร้อมเสริมว่า สถาบันขนาดใหญ่หลายแห่งหยุดซื้อสินทรัพย์ของจีนแบบเด็ดขาด และเริ่มให้ความสำคัญกับการลงทุนในพื้นที่อื่น เช่นอินเดียเพิ่มขึ้น 

ในขณะเดียวกัน สหรัฐต่างพยายามใช้มาตรการตอบโต้ท่าทีในการพัฒนาเทคโนโลยีของจีน รวมทั้งกีดขวางไม่ให้บริษัทของสหรัฐเข้าไปประกาศขายหุ้นในประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน 

ต่างชาติกระหน่ำขาย ‘บอนด์จีน’ รวม 2 ปีเฉียด 5 ล้านล้านบาท ยอด IPO ดิ่ง

โดย ปัจจุบันทางการจีนพยายามกระตุ้นเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาอัตราการลงทุนจากต่างประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ท่ามกลางกฎระเบียบที่กล่าวไปข้างต้นจากสหรัฐ โดยปี 2565 การลงทุนโดยตรงจากภาคเอกชนสหรัฐในจีนปรับฐานลง 76% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

“หากพิจารณาข้อเท็จจริงข้างต้น ประกอบกับถ้อยแถลงของประธานาธิปดีโจ ไบเดน (Joe Biden) ของสหรัฐในช่วงที่ผ่านมาเกี่ยวกับการขายอุปกรณ์ด้านเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์การผลิตชิปขั้นสูงไปยังประเทศจีน จะเห็นว่าการลงทุนในประเทศจีนปัจจุบันมีความเสี่ยงอย่างมาก ดังนั้นการลดความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง” มาร์คทิ้งท้าย 

อ้างอิง

Business Insider

The Atlantic Council