เอลนีโญ ถ่วงความมั่นคงอาหาร ผู้ซื้อขยายเวลา สัญญาซัพพลายสินค้า
ซีพีเอฟ เผยห่วงเอลนีโญ่ กระทบความมั่นคงอาหารทำผู้ซื้อปลายทางยอมขยายสัญญาส่งสินค้าหวังสร้างความมั่นใจมีอาหารบริโภค เปิดแผนจัดการน้ำรับแล้ง ชี้แนวโน้มอาหารสัตว์ราคาพุ่งต่อ
ที่ผ่านมาสงครามและปัญหาทางการเมือง ส่งผลกระทบกับราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายลงแล้ว แต่จากภาวะเอลนีโญและความร้อนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาวัตถุดิบยังสูงอย่างต่อเนื่อง
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหารบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ภาวะเอลนีโญและความร้อนที่รุนแรง ทำให้หลายประเทศเกิดความกังวลด้านความไม่มั่นคงด้านอาหาร และมีพฤติกรรมการสั่งซื้อเปลี่ยนไป โดยขยายระยะเวลาสัญญาการสั่งซื้อนานขึ้น จากเดิม 3 เดือนเป็น 6 เดือน สินค้าบางรายการสั่งซื้อยาว 1 ปี เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะมีสินค้าซัพพลายให้อย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ ภาวะเอลนีโญยังกระทบกับราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากที่คาดว่าการผ่อนคลายของสงครามจะทำให้ราคาวัตถุดิบลดลงบ้าง โดยราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังอยู่ที่ระดับ 13 บาทต่อกิโลกรัม(กก.)จากเดิมที่เคยอยู่ที่ 8-9 บาทต่อกก. การปรับสูตรอาหารสัตว์ โดยนำข้าวสาลีมาทดแทนนั้นไม่สามารถทำได้ทั้งหมด เพราะข้าวสาลีก็แพงเช่นกัน ปัญหานี้ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ถึง 30 % ในขณะที่การปรับราคาผลิตภัณฑ์ทำได้เพียง 20 %เท่านั้น เพราะในช่วงที่ผ่านมา ไม่สามารถปรับขึ้นได้มากกว่านี้เพราะการแข่งขันมีสูง ในขณะที่ครึ่งปีหลังยังไม่มีนโยบายปรับราคา
“แล้ง และเอลนีโญ ต้องติดตามเพราะมีผลกระทบกับทุกธุรกิจ ส่วนเรื่องน้ำ ซีพีเอฟเตรียมรับมืออยู่แล้ว โดยนำน้ำที่ให้แล้วกลับมาหมุนเวียนใช้ภายในโรงงานให้มากขึ้นทั้งการทำความสะอาด รดน้ำต้นไม้ และใช้ในห้องน้ำ ยกเว้นสำหรับสัตว์ ที่ต้องใช้น้ำสะอาดจริงๆเท่านั้น ”
ลงทุนฟิลิปปินส์รับอาหารมั่นคง
อย่างไรก็ตาม ในภาวะดังกล่าว ซีพีเอฟยังคาดว่ายอดขายของปีนี้ยังจะเป็นไปตามเป้าหมาย 6.1- 6.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา7-8 %ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น และ ธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งธุรกิจฟิลิปปินส์มีการขยายตัวที่โดดเด่นมาก เชื่อว่าจะกลายเป็นประเทศที่นำรายได้หลักให้กับซีพีเอฟเช่นเดียวกับการลงทุนในไทย จีนและเวียดนาม โดยฟิลิปปินส์ปีนี้คาดว่าจะทำรายได้มากกว่า 2 หมื่นล้านบาท ใน5 ปีนี้จากนี้จะทำรายได้เพิ่มเป็น 5-6 หมื่นล้านบาท
เนื่องจากรัฐบาลฟิลปินส์ให้ความสำคัญด้านอาหารและสินค้าเกษตรมาก รองรับประชากรในประเทศที่มีกว่า120 ล้านคน ดังนั้นซีพีเอฟจึงมีนโยบายจะขยายการลงทุนในฟิลิปปินส์มากขึ้น ทั้งธุรกิจ ไก่ สุกร กุ้ง ไข่ไก่ คิดเป็น 30 % ของกรอบการลงทุนที่มีอยู่ปีละ 2-3 หมื่นล้านบาท
“รายได้ที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ มาจากธุรกิจสุกรทั้งในประเทศ และต่างประเทศโดยในประเทศนั้นซีพีเอฟไม่ได้รับผลกระทบจากโรคอหิวาต์แอฟริกา (ASF)ระบาดอีกทั้งกรมปศุสัตว์เร่งปราบหมูเถื่อนอย่างเข้มข้น ในช่วงที่ผ่านมาจึงมีรายได้กว่า 6 หมื่นล้านบาท ส่วนการลงทุนในต่างประเทศ ก็สามารถฟื้นตัวจาก ASF ได้แล้วเช่นกัน ดังนั้นธุรกิจหมูจึงมีแนวโน้มเติบโตที่ดี”
หวังรัฐบาลดูแลค่าไฟฟ้าเหมาะสม
นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนการลงทุนในตะวันออกกลางยังน่าสนใจอยู่ เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ซึ่งซีพีเอฟกำลังศึกษาแนวทางการลงทุนที่เหมาะสมในการลงทุนที่ซาอุดิอาระเบีย ที่ทั้ง2 รัฐบาลให้การสนับสนุน นอกเหนือจากนั้นยังมีการลงทุนในประเทศไทยบ้างในส่วนของการปรับปรุงฟาร์ม โรงงานและกระบวนการผลิต ซึ่งสถานการณ์ในประเทศไทยนั้น อยากให้รัฐบาลใหม่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามเข้ามาให้ความสำคัญด้านพลังงานที่ควรปรับลดลงบ้างจากปัจจุบันที่สูงเกินไป ซึ่งรัฐบาลจะมีการหารือเรื่องนี้ทุก3 เดือนอยู่แล้วก็สามารถจะทบทวนได้ เพื่อไม่ให้กระทบกับการลงทุน ส่วนค่าแรง 450 บาทนั้น เข้าใจว่าหลายหน่วยงานมองไปในทิศทางเดียวกันว่าภาคปฏิบัติต้องพิจารณาตามความเหมาะสม
ด้านการส่งออกในปีนี้ตลาดสหรัฐ และสหภาพยุโรปหรืออียูให้ความนิยมสินค้าอาหารเอเชียมากขึ้น โดยในสหรัฐนั้นอาหารไทยเป็นถือว่าอาหารพรีเมี่ยมซีพีเอฟจึงปรับแบรนด์ใหม่ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในกลุ่มประเทศเอเชีย เป็นCP Authentic Asia เพื่อเป็นการประกาศให้รู้ว่าเป็นสินค้าที่มีรสชาติเอเชียแท้
สำหรับการเปิดตลาดเป็นปรุงสุกในออสเตรเลีย ที่ซีพีเอฟ ส่งออกเป็นเจ้าแรกของไทยนั้นเป็นการขยายตลาด เพราะออสเตรเลียมีมาตรฐานที่เข้มมากเหนือกว่ามาตรฐานใดๆ การส่งออกไปประเทศนี้ได้จะทำให้ทุกตลาดในโลกนี้มีความมั่นใจในคุณภาพของสินค้าไทยมากยิ่งขึ้น