สางหนี้ BTS ติดล็อค กกต. ขอเงินรัฐบาลต้องเสนอ ครม.

สางหนี้ BTS ติดล็อค กกต. ขอเงินรัฐบาลต้องเสนอ ครม.

นายกฯ หารือ รมว.มหาดไทย แก้หนี้บีทีเอส หลัง “ชัชชาติ” เตรียมชงสภา กทม.ขออนุมัติใช้หนี้ 2 หมื่นล้าน ย้ำหากเสนอมาต้องดูข้อกฎหมาย ด้าน “กฤษฎีกา” ขอเงินรัฐบาลต้องเสนอ ครม.พร้อมส่งเรื่องให้ กกต.พิจารณา “บีทีเอส” มั่นใจได้รับชำระหนี้ จับตา กทม.อุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด

ปัญหาการแก้ปัญหาหนี้สะสมระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน ที่ผ่านมามีความพยายามในการแก้ไขปัญหา โดยการนำเรื่องการต่อสัมปทานให้บีทีเอสเพื่อแลกกับหนี้สะสมหลายครั้ง แต่ยังไม่สามารถผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ล่าสุดผู้บริหารบีทีเอสได้เข้าพบนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยนายชัชชาติ จะเสนอสภากรุงเทพมหานครเดือน ก.ค.2566 เพื่อพิจารณาใช้เงินสะสมจ่ายขาดของกรุงเทพมหานคร ใช้หนี้ให้บีทีเอสก้อนแรก 20,000 ล้านบาท เป็นหนี้งานวางระบบอาณัติสัญญาณรถไฟฟ้าสายสีเขียว

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า หลังการประชุม ครม.จบลง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หารือต่อกับพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวม 20 นาที ถึงแนวทางการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยเฉพาะกรณีข้อกฎหมายที่หากมีการเสนอเรื่องมายัง ครม.ขั้นตอนและอำนาจของ ครม.รักษาการจะอนุมัติให้ได้หรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับ พล.อ.อนุพงษ์ ว่า การแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวต้องดำเนินการตามกฎหมาย โดยเป็นความรับผิดชอบของใครก็ถือว่าเป็นของผู้นั้น

“ทราบว่ามีการพบปะหารือกันระหว่างผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับเอกชน ซึ่งก็ต้องว่ากันไป ส่วนรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามกฎหมายทุกประการ ตามกรอบอำนาจของรัฐบาล”

ส่วนจะต้องรอรัฐบาลใหม่ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบ แล้วแต่ว่าการหารือกันมีผลอย่างไร ซึ่งมีการพูดคุยกันถึงการใช้จ่ายหนี้ก็ว่ากันไป เพราะทั้งหมดอยู่ในกรอบอำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไปแล้วตามมติ ครม.ที่ผ่านมาก็ดำเนินการมาต่อเนื่อง และเมื่อยังดำเนินการไม่ได้ก็ต้องแก้ปัญหาต่อ ซึ่งเป็นเรื่องของกรุงเทพมหานครที่ต้องหาทางแก้ปัญหาว่าจะทำอย่างไรต่อ

“ส่วนจะถึงรัฐบาลหรือไม่นั้น ต้องไปดูอีกทีว่าไหวหรือไม่ไหว และเราควรทำได้แค่ไหนอย่างไร ทั้งนี้รัฐบาลต้องการให้แก้ปัญหาให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำตามกฎหมายมาตลอด แต่เมื่อทำไม่ได้ก็มีแนวทางที่จะทำกันอยู่แล้ว แล้วตอนหลังมีปัญหาพันกันหลายเรื่อง ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ลงไปในความขัดแย้งตรงนั้น เพียงแต่ต้องการให้แก้ไขปัญหา แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของกฎหมาย ข้อตกลง และความรับผิดชอบ ก็ต้องแก้ไปตามนั้นเรื่องนี้สุดแล้วแต่ขอให้รอฟังกันอีกที” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

สางหนี้ BTS ติดล็อค กกต. ขอเงินรัฐบาลต้องเสนอ ครม.

หากของบรัฐบาลต้องเสนอ ครม.

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ในเรื่องนี้ต้องดูข้อบังคับของกรุงเทพมหานคร ว่าการเสนอสภากรุงเทพมหานคร จะต้องกลับมารายงาน ครม.หรือไม่ รวมทั้งที่สำคัญ คือ กรุงเทพมหานคร มีเงินใช้หนี้ให้บีทีเอสหรือไม่ หากไม่มีต้องของบประมาณจาก ครม.ซึ่งหมายความว่า ครม.ต้องพิจารณาอนุมัติแล้วเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามขั้นตอน

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า กรณีกรุงเทพมหานครเตรียมพิจารณาจ่ายหนี้ 20,000 ล้านบาทให้บีทีเอส ขณะนี้เป็นเรื่องที่กรุงเทพมหานครพยายามหาแนวทางที่จะดูแลหลังจากได้ทำเรื่องมาถึง ครม.แต่ ครม.คงพิจารณาไม่ได้ตามระเบียบ กกต.คงต้องรอรัฐบาลใหม่

“ปัญหาหลักคือจะทำวิธีใดก็ได้แต่ติดปัญหาเรื่องหนี้สินที่มีจะใช้งบประมาณจากที่ใดกทม.ก็คงไม่มีเมื่อไม่มีก็เหลือหนทางที่จะทำได้ก็คือให้เอกชนทำซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นก็ต้องเข้าคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนหรือPPPซึ่งก็ต้องรออีกหลายปีกว่าจะเป็นสมบัติของกทม.ในปี2573ระหว่างนี้หนี้สินในแต่ละปีจะใช้เงินเท่าไหร่ก็เหลือทางออกทางเดียวคือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ที่จะพิจารณาตอนนี้ภาระหนักจึงตกที่บริษัทฯเพราะยังต้องเดินรถให้บริการประชาชนขณะเดียวกันกทม.ก็ยังไม่มีความสามารถที่จะจ่ายเรื่องหนี้สินแต่ก็คิดว่าจะต้องมีการหาทางแก้ไขอยู่แล้ว” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

“วิษณุ”รอ กทม.เคาะทางเลือก

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กล่าวว่ากรณีกทม.เตรียมจ่ายหนี้ 20,000 ล้านบาท ให้บีทีเอส ขณะนี้กรุงเทพมหานครยังไม่ส่งรายละเอียดมา และทุกอย่างอยู่ที่กรุงเทพมหานคร

ส่วนประเด็นที่นายชัชชาติ ระบุว่า ต้องผ่านครม.อีกครั้งเพราะเรื่องนี้ค้างอยู่ใน ครม. นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี คืนกลับไปหมดแล้วแต่อาจจะต้องให้ ครม.ให้ความเห็น ทั้งนี้ต้องให้กรุงเทพมหานครตัดสินใจก่อน ซึ่งตอนนี้ยังไม่รู้ว่ากรุงเทพมหานครตัดสินใจอย่างไร ซึ่งหากตัดสินใจแล้วขอให้แจ้งมาที่ ครม.ว่าจะเอาเงินหรือจะเอาอย่างไร

“บีทีเอส”มั่นใจได้หนี้คืน

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร วันที่ 12 มิ.ย.2566 มีสัญญาณดีว่าจะแก้ไขปัญหาหนี้คงค้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยจะทำงานคู่ขนานทั้งการเสนอสภากรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาสัญญาว่าจ้างเดินรถที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ทำสัญญาจ้างบีทีเอสไว้ก่อนหน้านี้ 

อีกทั้งติดตามทวงถามรัฐบาลหลายประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งรวมถึงแนวทางเกี่ยวกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 44 เรื่องพิจารณามูลหนี้ต่อการทำสัญญาสัมปทานใหม่ เนื่องจากเรื่องนี้เคยเสนอ ครม.หลายครั้งแต่ไม่ได้ข้อสรุป 

รวมทั้งหลังการหารือกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำให้บีทีเอสมั่นใจว่าจะได้รับชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนติดตั้งระบบและให้บริการประชาชน 4 ปีที่ผ่านมา เพราะเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการให้บริการจริง และที่ผ่านมาศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้กรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคม ร่วมชำระค่าใช้จ่ายส่วนดังกล่าวรวม 20,000 ล้านบาท 

หนี้สะสม5.2หมื่นล้านบาท

สำหรับปัจจุบันหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่างกรุงเทพมหานครโดยกรุงเทพธนาคมและบีทีเอส ปัจจุบันแบ่งเป็น ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า) และช่วงที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ประมาณ 30,000 ล้านบาทและค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า/เครื่องกล (E&M) รวมกว่า 22,800 ล้านบาทรวม 52,800 ล้านบาท

โดยหนี้จำนวนนี้ได้ยื่นฟ้องและอยู่ในขั้นตอนศาลปกครองพิจารณา แบ่งเป็น

1.หนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ศาลปกครองพิพากษาให้กรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคมร่วมกัน จ่ายหนี้ให้บีทีเอส จำนวน 11,755.06 ล้านบาท ทั้งในส่วนค่าเดินรถและซ่อมบำรุง

2. หนี้ก้อนที่ 2 ส่วนค่าเดินรถและซ่อมบำรุง ที่บีทีเอสฟ้องศาลปกครองกลางให้จ่ายหนี้เพิ่มอีก 11,068.5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2565