'ประยุทธ์' ปิดห้องคุย 'อนุพงษ์' หลังประชุม ครม.ถกปมหนี้ 'รถไฟฟ้าสายสีเขียว'
"ประยุทธ์" ปิดห้องคุย "อนุพงษ์" ปมปัญหาหนี้บีทีเอส หลัง "ชัชชาติ" จ่อชงสภาฯกทม.ขอให้จ่ายหนี้ก้อนแรก 2 หมื่นล้าน ชี้ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามแก้ไขแต่ติดประเด็นทางกฎหมาย รับอยากให้แก้ไขปัญหาได้แต่ต้องดูอำนาจที่กฎหมายกำหนดในขณะนี้ว่าทำได้มากแค่ไหน
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่าวันนี้ (13 มิ.ย.) ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสร็จสิ้นลง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้มีหารือต่อกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นเวลาประมาณ 20 นาที
หลังจากที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ "บีทีเอส"ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ได้เข้าหารือกับนานชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร วานนี้ (12 มิ.ย.) โดยนายชัชชาติ ระบุว่าจะนำเสนอเรื่องการชำระหนี้ส่วนแรกให้กับ กทม.ในส่วนของงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ กทม.ค้างชำระอยู่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
โดยนายชัชชาติระบุว่าจะเสนอเข้าสภาฯกทม.เพื่อขอมติเห็นชอบในการประชุมเดือน ก.ค.นี้
พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ครม.ว่าเรื่องการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว รัฐบาลก็พยายามที่จะแก้ไขปัญหาตามขั้นตอนทางกฎหมาย ที่ผ่านมาก็พยายามที่จะแก้ปัญหามาตลอด แต่ในตอนนี้ต้องดูว่าที่ผ่านมากทม.และบีทีเอสได้หารือกันว่าอย่างไร ก็ต้องดูว่าในส่วนของรัฐบาลขนาดนี้เราจะช่วยเหลือได้มากแค่ไหน
"เราก็อยากให้แก้ปัญหาให้ได้เราก็ดำเนินการมาตลอดแต่ตอนนี้เรายังแก้ปัญหาไม่ได้ ที่จริงแล้วก็เคยมีแนวทางในการแก้ปัญหา แต่ตอนหลังมันพันกันหลายเรื่องทำให้ยังแก้ปัญหาไม่ได้"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ทั้งนี้เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวถึงกรณีกรุงเทพมหานคร(กทม.) เตรียมพิจารณาจ่ายหนี้ 2 หมื่นล้านบาท ให้บริษัทว่า ขณะนี้เป็นเรื่องที่ทาง กทม. พยายามจะหาแนวทางที่จะดูแลเรื่องนี้อยู่ หลังจากที่ได้มีการทำเรื่อง มาถึง ครม. แต่ ครม.คงไม่สามารถจะพิจารณาได้ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คงจะต้องรอรัฐบาลใหม่
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ปัญหาหลักคือจะทำวิธีใดก็ได้ แต่ติดปัญหาเรื่องหนี้สินที่มี จะใช้งบประมาณจากที่ใด กทม. ก็คงไม่มี เมื่อไม่มีก็เหลือหนทางที่จะทำได้ ก็คือให้เอกชนทำ แต่ก็เข้าคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP ซึ่งก็ต้องรออีกหลายปีกว่าจะเป็นสมบัติของ กทม. ก็ในปี 2573 ถึงจะเริ่มใช้ได้
ดังนั้น ระหว่างนี้หนี้สินในแต่ละปีจะใช้เงินเท่าไหร่ ก็เหลือทางออกทางเดียวคือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ที่จะพิจารณา ตอนนี้ภาระหนักจึงตกที่บริษัทฯ เพราะยังต้องเดินรถ ให้บริการประชาชน ขณะเดียวกัน กทม. ก็ยังไม่มีความสามารถที่จะจ่ายเรื่องหนี้สิน แต่ก็คิดว่าจะต้องมีการหาทางแก้ไขอยู่แล้ว