'จีพีเอสซี-มีเรนติ' ศึกษาการใช้พลังงานสะอาด ผสานไฮโดรเจน ป้อนโรงงานเหล็ก
GPSC - Meranti ร่วมศึกษาการใช้พลังงานสะอาด เสริมด้วยไฮโดรเจนสีเขียว ป้อนโรงงานผลิตเหล็ก
คาดใช้ไฟฟ้า 150 เมกะวัตต์ มุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน
นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า GPSC ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บริษัท มีเรนติ สตีล จำกัด (Meranti Steel Pte.Ltd.) ผู้ผลิตเหล็กชั้นนำของประเทศสิงคโปร์ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาด และระบบบริหารจัดการด้านพลังงานเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตเหล็กที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย Meranti มีแผนที่จะเข้ามาตั้งโรงงานผลิตเหล็กคุณภาพสูงในไทย เน้นใช้พลังงานสะอาด ทั้งในกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม โดยคาดว่าจะมีความต้องการในการใช้ไฟฟ้าประมาณ 150 เมกะวัตต์
“นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของ GPSC และ Meranti ในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมพลังงาน ที่มีการผสมผสานการใช้พลังงานหมุนเวียน และการนำพลังงานด้านไฮโดรเจนซึ่งเป็นเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคตมาเพิ่มประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุดสำหรับความร่วมมือในครั้งนี้กำหนดแผนการศึกษาโดยใช้ระยะเวลา 2 ปี และสามารถขยายได้อีก 1 ปี โดย GPSC จะเป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการและการพัฒนาโครงการด้านพลังงานสะอาดเพื่อให้การบริหารต้นทุนด้านพลังงานสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว รวมถึงการพัฒนาโซลูชั่นด้านพลังงานที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายโดยในขั้นตอนการศึกษาของโครงการดังกล่าว ยังรวมไปถึงการพัฒนาความร่วมมือจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในอนาคตอีกด้วย”
มร. เซบาสเตียน แลนเกนดอร์ฟ (Mr. Sebastian Langendorf) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเรนติ สตีล จำกัด กล่าวว่า มีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับ GPSC ผู้นำในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ในการดำเนินโครงการแห่งแรกในครั้งนี้ โดยมุ่งหวังสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทย ที่สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทมีแผนในการจัดตั้งโรงงานเหล็กในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยจะมีการจัดตั้งโรงงานขนาดกำลังผลิต 2 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในครึ่งปีหลังของปี 2570 ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ประกอบกับแนวคิดนวัตกรรมพลังงานและการจัดการความยั่งยืน จะส่งผลให้โรงเหล็กแห่งนี้ สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 3 ล้านตันต่อปีเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม