เปิด 3 ความเห็น ‘หุ้นโรงไฟฟ้า - พลังงาน’ ภายใต้รัฐบาล ‘ก้าวไกล’ ยังน่าสนใจไหม
เปิด 3 ความคิดเห็นจากนักวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย บล.ยูโอบี และ บลจ. เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ ว่าหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้ายังน่าสนใจอยู่หรือไม่ พร้อมหาคำตอบว่าควร “ช้อน” หรือ “หนี”
Key Points
- หุ้นกลุ่มพลังงาน-โรงไฟฟ้า ปรับตัวลดลงอย่างร้อนแรงหลังพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง
- พรรคก้าวไกลมีนโยบายด้านพลังงาน-ไฟฟ้าที่อาจกระทบกำไรของบริษัทกลุ่มพลังงาน
- นักวิเคราะห์มองต่างว่าควร “ช้อน” หรือ “หนี”
หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต. ในช่วงเช้าของวันที่ 15 พ.ค. ที่มาว่า “พรรคก้าวไกล” ซึ่งนำโดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมากเป็นอันดับ 1
อย่างไรก็ตาม หลังจากผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการดังกล่าวประกาศไม่นาน ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET) กลับเปิดตลาดมาเป็นบวกได้ไม่นาน ก่อนที่จะย่อตัวลงอย่างรุนแรงตลาดทั้งวันก่อนมาปิดตลาดที่ 1,541.38 จุด ลดลง 19.97 จุด หรือ 1.28%
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นในกลุ่มพลังงานซึ่งในวันที่ 15 พ.ค. ปรับฐานลงอย่างมีนัยสำคัญสอดคล้องกับดัชนี เช่น บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ GULF ลดลง 8.57% บริษัทบี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ลดลง 6.33% บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ลดลง 10.47% บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ลดลง 5.98% และ บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ลดลง 3.95% เป็นต้น
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จำนวนมากเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า สาเหตุหลักที่หุ้นกลุ่มพลังปรับตัวลดลงทั้งกระดานเป็นผลมาจาก ชัยชนะของพรรคก้าวไกลจากการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา เพราะพรรคมีชุดนโยบายจำนวนหนึ่งที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างในบริษัทกลุ่มพลังงาน
โดยเว็บไซต์ทางการของพรรคก้าวไกล ระบุนโยบาย “ค่าไฟแฟร์ ถูก และเป็นธรรมสำหรับประชาชน” ไว้ว่า
“พรรคมีนโยบายลดค่าไฟให้กับประชาชนได้อย่างน้อย 70 สตางค์/หน่วย หรือ เฉลี่ยบ้านละ 150 บาท โดยปรับนโยบายเพื่อให้ความสำคัญกับประชาชนก่อนกลุ่มทุน เช่น การเปลี่ยนนโยบายแก๊สธรรมชาติให้โรงแยกแก๊สร่วมหารต้นทุนแก๊สใน Energy Pool ด้วย และให้แก๊สจากอ่าวไทยขายให้โรงไฟฟ้าก่อนโรงงานอุตสาหกรรม หรือขายแก๊สให้โรงงานอุตสาหกรรมในราคา LNG เพื่อให้แก๊สจากอ่าวไทยราคาถูกกว่าป้อนโรงไฟฟ้าได้มากขึ้น ประกอบกับ เจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับสัมปทานทุนใหญ่พลังงานใหม่ เพื่อลดต้นทุนที่เกิดขึ้นจากค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง”
ทั้งนี้ หลังจากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น นักวิเคราะห์ ต่างมีความเห็นต่อ “ความน่าสนใจ” ของหุ้นกลุ่มพลังงานที่แตกต่างออกไป โดย นายณัชพล โรจนโรวรรณ นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน กลุ่มโรงไฟฟ้า บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า โดยภาพรวม และจากปัจจัยพื้นฐาน หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้ายังน่าสนใจอยู่ แม้หุ้นจะปรับตัวลดลงจากผลการเลือกตั้งก็ตาม อย่างไรก็ดี หากพรรคก้าวไกลสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ในระยะสั้นหุ้นกลุ่มดังกล่าวก็อาจได้รับผลกระทบเชิงลบ
ที่เห็นชัดอย่างชัดเจนคือ พรรคก้าวไกลระบุสิ่งที่ต้องการทำให้สำเร็จภายใน 100 วันแรกของการรับตำแหน่ง คือ ปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) ลง 70 สตางค์ ซึ่งหากคำนวณแล้วก็จะตรงกับช่วงเดือนก.ย.
หากปรับลดได้จริง ทาง บล.กสิกรไทย มองว่า ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด อาจมีดาวน์ไซด์ต่อรายได้ (Earning) ปี 2566 ของ BGRIM และ GPSC ประมาณ 22% และ 18-19% ตามลำดับ ในขณะที่ มีดาวน์ไซด์ต่อเอิร์นนิ่งของ GULF เพียง 2-3% เท่านั้น
“GULF ได้รับผลกระทบน้อยเพราะ โรงไฟฟ้าของเขาส่วนใหญ่เป็น แบบ IPP คือ ขายไฟ 100% ให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) เขารับซื้อแบบ Pass-through Scheme คือ ราคาต้นทุนเพิ่มขึ้นหรือลดลง เขาก็รับไว้หมด แต่สำหรับ BGRIM กับ GPSC เป็นโรงไฟฟ้าแบบที่เรียกว่า SPP คือขายให้ EGAT และนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งราคาที่ขายให้กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม นี่แหละที่จะได้รับผลกระทบจากค่า FT ที่เปลี่ยนไป”
นอกจากนี้ แม้ว่าปัจจัยทางการเมืองของประเทศไทยจะยังไม่แน่นอน ทว่า นายณัชพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยภายนอก 3 ประการยังส่งผลเชิงบวกต่อกลุ่มโรงไฟฟ้าอยู่ประกอบด้วย
- ราคาพลังงานโลก: ราคาแก๊ส และถ่านหินโลกปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าค่อนข้างลดลง
- พึ่งพิง LNG น้อยลง: ปีที่แล้ว สัมปทานแหล่งผลิตแก๊สเปลี่ยนมือจาก “เชฟรอน” ไปเป็น “ปตท.” ดังนั้นจึงต้องเริ่มการผลิตใหม่ อีกทั้งปัจจุบันยังผลิตได้ไม่เต็มที่ และคาดการณ์ว่าปีหน้าจะผลิตได้มากขึ้น ทั้งหมดอาจทำให้ปีหน้าประเทศไทยไม่ต้องพึ่งพิงแก๊สธรรมชาติเหลว LNG ที่ราคาผันผวนอย่างรุนแรง ท้ายที่สุดก็จะทำให้ต้นทุนแก๊สในประเทศไทยถูกลงอีก
- อานิสงส์จุดสิ้นสุดภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น: หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าเป็นหุ้นที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมสูง (Defensive Stocks) ซึ่งมักได้รับอานิสงส์จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีท่าทีชะลอ หรือ ยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ด้านนายกิจพล ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า ในเชิงปัจจัยพื้นฐาน ยูโอบี ยังมองว่าหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้ายังน่าสนใจอยู่ แต่ที่หุ้นปรับตัวลงเมื่อ 1-2 วันก่อน เป็นเพราะความกังวลของนักลงทุนในระยะสั้นจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบบฉับพลัน
เมื่อถามว่า ช่วงเวลานี้นักลงทุนควรสะสมหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ปรับตัวลงไปเพิ่มหรือไม่ นายกิจพล กล่าวว่า “น่าสนใจ แต่ยูโอบีเห็นว่า จริงๆ แล้วนักลงทุนก็อาจต้องยอมรับความเสี่ยงที่ว่า หุ้นกลุ่มดังกล่าวอาจใช้เวลานานกว่าที่จะปรับตัวเป็นบวกขึ้นมา อย่างในช่วงการรัฐประหารปี 2549 เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันเหมือนช่วงนี้ ตอนนั้นก็มีประเด็นที่จะยึดสัมปทานมือถือ และดาวเทียม สุดท้ายตอนนั้นก็ไม่เกิดการยึดขึ้น แต่กว่าหุ้นกลุ่มสื่อสารจะปรับตัวขึ้นก็ลากไป 1-2 ปี”
ส่วนนายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ เห็นต่างว่า ปัจจุบันหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า “ไม่มีความน่าสนใจเลย”
ในอดีตหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าได้อานิสงส์มาจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ที่คาดการณ์การใช้ไฟฟ้าของในอนาคตไว้ค่อนข้างมาก จึงนำมาซึ่งการรัฐบาลประกาศแผนเปิดประมูลโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ จำนวนมาก ทั้งหมดเป็นจุดที่ให้ในช่วงที่ผ่านมาหุ้นบริษัทกลุ่มโรงไฟฟ้าขยายตัวได้อย่างร้อนแรง
อย่างไรก็ตาม ตามวัฏจักรของการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าแล้ว ในอนาคตอาจไม่สามารถขยายตัวได้มากเท่าที่ควร ประกอบกับรัฐบาลใหม่คงไม่ได้มีแผนพัฒนาด้านพลังงานมากเท่ากับรัฐบาลก่อนหน้า
“นอกจากเรื่องความกดดันจากนโยบายของพรรคการเมือง การประกาศลดค่า FT และความกังวลเรื่องการรื้อสัญญาสัมปทานไฟฟ้าของพรรคก้าวไกลแล้ว กลุ่มโรงไฟฟ้ายังต้องรับมือกับความผันผวนของราคาแก๊สในอนาคตอีก ทั้งหมดจึงทำให้มองว่าช่วงนี้ควรสะสมหุ้นกลุ่มอื่นมากกว่า เช่น กลุ่มการบริโภคภายในประเทศ เป็นต้น และหากมีช่วงหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าปรับฐานขึ้นในระยะสั้น แนะนำให้ขายลดพอร์ตออกไปสักครึ่งหนึ่ง”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์