‘ดอกเบี้ยขาขึ้น’ ทำยอดผิดนัดชำระ - เอ็นพีแอล ในสหรัฐพุ่ง อสังหาฯ อ่วมหนัก

‘ดอกเบี้ยขาขึ้น’ ทำยอดผิดนัดชำระ - เอ็นพีแอล ในสหรัฐพุ่ง อสังหาฯ อ่วมหนัก

ข้อมูลเผยสหรัฐเผชิญ “การผิดนัดชำระหนี้” และ “หนี้เสีย” (NLP) จำนวนมาก กูรูประเมินยังมีอีกหลายบริษัทต่อแถวรอผิดนัดชำระหนี้ ด้านอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์อ่วม จากดอกเบี้ยขาขึ้น - พฤติกรรมทำงานที่บ้าน

Key Points

  • ปี 2566 การผิดนัดชําระหนี้ในตลาดสินเชื่อคุณภาพต่ำสหรัฐซึ่งมีมูลค่าทั้งหมดกว่า 46.2 ล้านล้านบาทพุ่ง
  • ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. ถึงสิ้นเดือน พ.ค. ยอดผิดนัดชําระหนี้ในตลาดสินเชื่อคุณภาพต่ำรวมแล้ว 18 ครั้ง  คิดเป็นมูลค่ากว่า 6.93 แสนล้านบาท 
  • เดือนพ.ค. เดือนเดียวผิดนัดชำระหนี้ 3 ครั้ง คิดเป็น  2.574 แสนล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติโควิด-19 เมื่อสามปีก่อน
  • ซีอีโอโกลด์แมน แซคส์ ฟันธง ภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์อ่วม จากดอกเบี้ยขาขึ้น-พฤติกรรมทำงานที่บ้าน

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา “สหรัฐอเมริกา” ประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่ง และเติบโตมากอันดับ 1 ของโลก เผชิญกับแรงกดดันมากมาย เริ่มตั้งแต่อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นจนธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้นสอดคล้องกันไป วิกฤตการณ์การล่มสลายของธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ลามไปถึงความปั่นป่วนเรื่องการขยับเพดานหนี้สาธารณะของทำเนียบขาว

นอกจากนี้ แม้ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา ภาพรวมของตลาดหุ้นสหรัฐจะสดใสมากขึ้นเนื่องจากบรรดานักวิเคราะห์ประเมิน “ภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น” ใกล้สิ้นสุดลงแล้ว อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งปัญหาที่จ่ออยู่หน้าประตูคือ ความเสี่ยง “ผิดนัดชำระหนี้” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ 

ทั้งนี้หากอ้างอิงข้อมูลตามสำนักข่าวเดอะไฟแนนเชียลไทมส์ (The Financial Times) พบว่า ในปี 2566 การผิดนัดชําระหนี้ในตลาดสินเชื่อคุณภาพต่ำ (Junk Loan) ของสหรัฐมูลค่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 46.2 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดเพิ่มแรงกดดันต่อบริษัทที่มีความเสี่ยงด้วยต้นทุนการกู้ยืมแบบลอยตัว

อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของสินทรัพย์เสี่ยงสูงสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น (14 มิ.ย. 2566)

ส่วน บทวิเคราะห์ของฝ่ายพิตช์บุ๊ก เอลซีดี (PitchBook LCD) ของโกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) ระบุว่า ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. ถึงสิ้นเดือนพ.ค. เกิดการผิดนัดชําระหนี้ในตลาดสินเชื่อสหรัฐทั้งสิ้น 18 ครั้ง มูลค่ารวม 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6.93 แสนล้านบาท) ซึ่งมากกว่าจํานวน และมูลค่ารวมทั้งปีของผลรวมในปี 2564 และ 2565 

ขณะที่เดือนพ.ค. เพียงเดือนเดียวมีการผิดนัดชําระหนี้ 3 ครั้ง มูลค่า 7.8 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.574 แสนล้านบาท) ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติโควิด-19 เมื่อสามปีก่อน

ปรากฏการณ์ดังกล่าวตอกย้ำถึงแรงกดดันที่บรรดาบริษัทที่มีทั้งความน่าเชื่อถือต่ำ และมูลหนี้ในสัดส่วนสูงต้องแบกรับ เนื่องจากการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบเข้มงวดของเฟดในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา 

ด้าน ลอตฟี คาร่า (Lotfi Kara) หัวหน้านักกลยุทธ์ด้านเครดิตจากโกลด์แมน แซคส์ กล่าวว่า “ปัจจุบันเราพบสภาวะ Payment Shock หรือภาวะที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวจากคงที่ในระดับต่ำไปเป็นลอยตัว ในธุรกรรมของผู้ออกตราสารซึ่งมีระดับความน่าเชื่อถือต่ำที่สุดในตลาดดังกล่าวจำนวนมาก”

ทั้งนี้ ข้อมูลจากฝ่ายพิตช์บุ๊ก เอลซีดี แสดงให้เห็นว่า บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับ ความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับขยะ หลายแห่งกู้สินเชื่อที่มีเลเวอเรจ หรือสินเชื่อที่มีต้นทุนการกู้ยืมแบบลอยตัวตามสภาวะอัตราดอกเบี้ย โดยเมื่อเฟดลดอัตราดอกเบี้ยลงเกือบเป็นศูนย์ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการออกพันธบัตรลักษณะดังกล่าวเกือบ 2 เท่าระหว่างปี 2562 และ 2564 เป็น 6.15 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 20.295 ล้านล้านบาท)

จากนั้นในช่วงที่ผ่านมาเฟดปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อดึงเงินเฟ้อเข้าสู่ “กรอบเป้าหมาย” หรือเพิ่มขึ้นจากระดับ 0-0.25% มาอยู่ที่ระดับ 5.00-5.25% โดยใช้เวลาเพียง 14 เดือน จึงส่งผลให้ผู้กู้สินเชื่อต้องเผชิญกับภาระการจ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมาก สวนทางกับรายได้ที่ชะลอตัวลงสอดคล้องกับเศรษฐกิจภายในประเทศ

ดังนั้นบรรดานักวิเคราะห์จึงประเมินว่า ทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูงตามอัตราเงินเฟ้อ การเติบโตภายในประเทศที่ชะลอตัว นับเป็นอุปสรรคสำคัญต่อบรรดาบริษัทที่มีสัดส่วนหนี้สินในรูปแบบ “อัตราดอกเบี้ยลอยตัว” สูง

หากจำแนกตามข้อมูลของมูดี้ส์ หน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก พบว่า บริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกได้แก่

  • National CineMedia ในกลุ่มโรงภาพยนตร์
  • QualTek ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน

ส่วนบริษัทที่เคยผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งที่ 2 เป็นต้นไปได้แก่

  • Envision Healthcare ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ
  • Serta Simmons  ผู้จำหน่ายเครื่องนอน

รวมทั้ง หลายบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับขยะล่าสุดล้วนพึ่งพา เงินกู้ที่มีเลเวอเรจ เป็นแหล่งเงินทุนที่สําคัญ ซึ่งที่ผ่านมาสินทรัพย์ดังกล่าวขยายตัวจนมีขนาดเทียบเท่ากับ ตลาดพันธบัตรขยะ (Junk Bond Market)

โดยบรรดานักวิเคราะห์ และหน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ประเมินเป็นเสียงเดียวกันว่า การผิดนัดชําระหนี้จะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากตลาดคาดว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง ประกอบกับผลกระทบแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่กัดกินเศรษฐกิจสหรัฐมาตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19

ปัญหาดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อนักลงทุนที่ถือ ครองพันธบัตรที่มีความเสี่ยง (Risky Debt) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่คุณภาพพันธบัตรเหล่านั้นจะแย่ลงอีก, การปรับโครงสร้างสินทรัพย์ และการล้มละลายมากขึ้น เนื่องจากผู้กู้เข้าถึงสินเชื่อใหม่ยากขึ้นจากสภาวะสินเชื่อตึงตัว

ด้าน สตีฟ คาปริโอ (Steve Caprio) หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์เครดิตของยุโรป และสหรัฐที่ธนาคารดอยซ์แบงก์ (Deutsche Bank) กล่าวว่า

“ยังมีอีกหลายบริษัทที่ต่อแถวรอผิดนัดชำระหนี้”

พร้อมเสริมว่า หากพิจารณาในปี 2565 และปี 2566 ปริมาณสินเชื่อออกใหม่ลดลงอย่างรวดเร็วเพราะบริษัทส่วนใหญ่ยังไม่ต้องการเงินสดแบบเร่งด่วน หลังจากเพิ่ม ปริมาณเงินสด ไปมากแล้วก่อนหน้านี้ 

โดยเมื่อพิจารณาสถานการณ์ทั้งหมดร่วมกัน ผู้กู้สินเชื่อที่มีเลเวอเรจรายใหญ่ที่สุดหรือ "ภาระผูกพันเงินกู้ที่มีหลักประกัน" (CLO) จะไม่สามารถถือพันธบัตรที่มีความเสี่ยงสูงจํานวนมากได้ เนื่องจากกลไกความปลอดภัยในโครงสร้างเงินทุน โดยสําหรับสินเชื่อที่ได้รับการจัดอันดับ "Triple-C" จะมีเพดานสินเชื่อทั่วไปอยู่ที่ 7.5 เปอร์เซ็นต์ ของสินทรัพย์ส่วนตัว 

ทั้งนี้ หากบริษัทจํานวนมากเริ่ม ปรับลดอันดับเครดิตลง เป็น Triple-C อาจเกิดกระบวนการที่ตัดกระแสเงินสดสำหรับนักลงทุนที่ซึ่งอยู่ลำดับต่ำสุดของ CLO เพื่อเปลี่ยนเส้นทางเงินไปยังนักลงทุนที่อยู่ลำดับสูงกว่า

นอกจากนี้ ดรูว์ สวีนีย์ (Drew Sweeney) ผู้จัดการพอร์ตสินเชื่อของทีดับเบิลยูซี (TCW) ระบุว่า นักลงทุนจำนวนหนึ่งยังคงมีความต้องการสินเชื่อ Single-B แบบคุณภาพต่ำ กล่าวโดยอ้างถึงการจัดอันดับที่สูงกว่า Triple-C อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจำเป็น "ต้องมั่นใจว่าสินทรัพย์เหล่านั้นจะไม่ได้รับการลดอันดับความน่าเชื่อถือลงในอนาคต"

ด้าน บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวไฟแนนเชียลไทมส์ ระบุว่า ปริมาณการผิดนัดชำระหนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทว่าประมาณการจะแตกต่างกันไปตามแต่ละสำนักขึ้นอยู่กับ

  • ปริมาณสินเชื่อ
  • คําจํากัดความของการผิดนัดชําระหนี้
  • การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ อัตราการผิดนัดชําระหนี้ในปี 2564-2565 ค่อนข้างน้อย ดังนั้นตลาดจึงสามารถกลับไปสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามอัตราการผิดนัดชําระหนี้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราการผิดนัดชําระหนี้ใน หุ้นกู้เอกชน (Corporate Bond) ซึ่งมีดอกเบี้ยคงที่และได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินของเฟดล่าช้ากว่า

บทวิเคราะห์ของมูดี้ส์ พบว่า ในช่วง 3 เดือนถึงวันที่ 30 เม.ย. อัตราการผิดนัดชําระหนี้รายปี สําหรับพันธบัตรความเสี่ยงสูงของสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 2% ในปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 3% ซึ่งทรงตัวตั้งแต่เดือนก.พ. ทว่าอัตราส่วนดังกล่าวปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 6% ในเดือนเม.ย. ซึ่งสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 2% 

ด้าน เอสแอนด์พี (S&P) หน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ประเมินว่า ภายในเดือนมี.ค. ปี 2567 อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชําระหนี้ย้อนหลัง 12 เดือนอาจเพิ่มขึ้นเป็นค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 2.5% หรือเพิ่มขึ้นจาก 1.42% ในเดือนเม.ย. 2565

อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์อ่วม

เดวิด โซโลมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของโกลด์แมน แซคส์ ระบุวันนี้ (14 มิ.ย.) ว่า เขา “ประหลาดใจ” จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับอัตราดอกเบี้ย และ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น รวมทั้งความวุ่นวายของธนาคารในช่วงที่ผ่านมาทว่ายังผ่านมาได้อย่างยืดหยุ่น

อย่างไรก็ดี โซโลมอน กล่าวเพิ่มเติมว่า สหรัฐยังต้องเผชิญกับ ความปั่นป่วนในภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ อีก ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจากเฟด 

"แต่ก็ต้องยอมรับว่า เรายังอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน ดังนั้นสิ่งสําคัญคือ ทุกคนยังต้องเตรียมตัวให้พร้อม โดยผมคิดว่าเราสามารถผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ และลงจอดอย่างนิ่มนวลมากกว่า (Softer Landing) ที่หลายฝ่ายคาด" 

 

ทั้งนี้ ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐสะท้อนให้เห็นผ่านข้อมูลการจ้างงานที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ อัตราการจ้างงาน เพิ่มขึ้น 339,000 ตําแหน่งในเดือนพ.ค. ซึ่งสูงกว่าที่บรรดานักวิเคราะห์หลายสถาบันคาดการณ์ไว้อย่างมาก

สำหรับประเด็นเรื่องอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ โซโลมอน กล่าวว่า “อุตสาหกรรมดังกล่าวตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างมากเนื่องจากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 5% ตั้งแต่ต้นปี 2565

"ไม่ต้องสงสัยเลยว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ได้รับแรงกดดันมากขนาดไหน อาจจะมีการกระแทก และมีคนได้รับบาดเจ็บระหว่างทางแน่นอน" โซโลมอนกล่าวเสริม

ทั้งนี้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์เผชิญกับทั้งต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น และแนวโน้มพฤติกรรมทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) ที่แพร่หลายอย่างน่ากังวล ทั้งหมดส่งผลให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่า

“การล่มสลายของราคาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์” อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์