เฟดกำลังสร้างประวัติศาสตร์ใหม่? | ดอน นาครทรรพ

เฟดกำลังสร้างประวัติศาสตร์ใหม่? | ดอน นาครทรรพ

ด้วยความที่สหรัฐมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย ผู้ที่สนใจความเป็นไปของเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐอย่างใกล้ชิด ตามเนื้อเพลงของพี่เบิร์ดที่ว่า "ฝนที่ตกทางโน้น หนาวถึงคนทางนี้”

หนึ่งในคำถามยอดฮิตที่ผมได้รับจากนักลงทุนคือ การต่อสู้กับเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในรอบนี้ จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ 

มองย้อนไปในอดีต ต้องบอกว่าประวัติศาสตร์ยืนอยู่ตรงข้ามกับเฟด บทความ Managing Disinflations โดย Stephen Cecchetti และคณะ ที่เผยแพร่เมื่อต้นปีนี้

รายงานว่า ตั้งแต่ปี 2493 ทุกการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเอาเงินเฟ้อลงของธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางแคนาดา ธนาคารกลางเยอรมัน และธนาคารกลางอังกฤษ จะจบลงด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยเสมอ

เทียบการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดรอบนี้กับในอดีต การปรับรอบนี้มีขนาดที่เร็วและแรงเป็นลำดับสองรองจากสมัยประธาน Paul Volcker เมื่อต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1980 เท่านั้น ซึ่งครั้งนั้นจบลงด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง และส่งผลกระทบไปทั่วโลก

ทั้งนี้ ไม่นับว่าเราเห็นปรากฏการณ์ Inverted yield curve (ภาวะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว) ในตลาดพันธบัตรของสหรัฐมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งแม้จะไม่มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์รองรับ

แต่ในแง่ของสถิติ แทบทุกครั้งที่เกิดปรากฏการณ์ Inverted yield curve เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายในเวลาไม่เกิน 20 เดือน

นอกจากนี้ ดัชนี Leading Economic Index (LEI) ที่จัดทำโดยบริษัท Conference Board ซึ่งทำนายการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐถูกต้องทุกครั้งตั้งแต่ปี 2502 บอกว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายในปีนี้

อย่างไรก็ดี ข้อมูลเครื่องชี้สำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลตลาดแรงงาน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ข้อมูลการผลิต และข้อมูลการใช้จ่ายของผู้บริโภค ล้วนบ่งชี้ว่าแม้เศรษฐกิจสหรัฐกำลังชะลอตัวลงอย่างมีนัย แต่ยังคงแข็งแกร่ง

กอปรกับปัญหาธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐดูเหมือนจะคลี่คลายไปในทางที่ดี ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยตามที่เคยเป็นไปในอดีตก็เป็นได้

เฟดกำลังสร้างประวัติศาสตร์ใหม่? | ดอน นาครทรรพ

ล่าสุด บริษัทวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ Goldman Sachs ได้ปรับลดความน่าจะเป็นที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายใน 12 เดือนข้างหน้า เหลือเพียงร้อยละ 25 จากที่เคยให้ไว้สูงถึงร้อยละ 35 เมื่อเดือนมี.ค. ช่วงที่สหรัฐกำลังประสบกับปัญหาการล้มของธนาคาร Silicon Valley

ในด้านของตลาดหุ้น หลังจากสหรัฐสามารถปรับเพิ่มเพดานหนี้ได้เป็นผลสำเร็จ เราเห็นตลาดหุ้นสหรัฐตอบสนองในทางบวก โดยระดับของดัชนีทั้ง Dow Jones S&P และ Nasdaq ต่างกลับไปใกล้เคียงกันหรือสูงกว่าช่วงเดือนส.ค.ของปีที่แล้ว (เทียบกับตลาดหุ้นไทยที่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันประมาณร้อยละ 5) ราวกับว่านักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะหลีกเลี่ยงการถดถอยในรอบนี้ได้ (Soft landing)

ถ้าเป็นจริง เฟดภายใต้การนำของประธาน Jay Powell จะได้รับการจารึกชื่อในประวัติศาสตร์ธนาคารกลางในฐานะที่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อโดยไม่ต้องแลกกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

ทั้งนี้ งานของเฟดไม่ได้มีเพียงแค่การประคับประคองเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องดูแล “เสถียรภาพระบบการเงิน” จากปัญหา “น้ำลด ตอผุด” ที่เกิดขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายควบคู่กันไปด้วย

ล่าสุด นาย Bob Michele ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุนของ JPMorgan Asset Management ให้สัมภาษณ์ว่าเขารู้สึกว่าสถานการณ์ในตลาดการเงินสหรัฐในปัจจุบัน หลังจากที่ JPMorgan ซื้อธนาคาร First Republic ไป เป็นความสงบก่อนพายุจะมา คล้ายกับช่วงกลางปี 2551 หลังจากที่ JPMorgan ซื้อ Bear Stearns ไป 

ด้วยนักลงทุนมองว่าปัญหาในระบบการเงินได้รับการแก้ไขแล้ว ก่อนที่จะเกิดการล้มของ Lehman Brothers ในเดือนก.ย. ซึ่งนำไปสู่วิกฤติการเงินครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก

แม้บริบทของเศรษฐกิจสหรัฐในปัจจุบันจะแตกต่างจากในปี 2551 เช่น ปัจจุบันไม่มีปัญหาในตลาดสินเชื่อ Subprime แต่ผมคิดว่าเราไม่สามารถละเลยคำสัมภาษณ์ของผู้บริหาร JPMorgan เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดยังไม่จบ

แม้เฟดอาจจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมิ.ย. แต่ตลาดก็มองว่าถ้าเฟดจะหยุด ก็เป็นการหยุดเพียงชั่วคราว ซึ่งหมายความว่า ต้นทุนการเงินในสหรัฐในปีนี้ จะยังเพิ่มสูงขึ้นไปอีก อีกทั้งยังมีแนวโน้มทรงตัวสูงต่อเนื่องไปพอสมควร

แน่นอนว่าเราไม่อยากให้เกิดพายุฝนในสหรัฐ เรามาเอาใจช่วยท่านประธาน Jay Powell และคณะกันนะครับ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์