'บพท.'หนุนจังหวัดสร้างฐานข้อมูลแก้จน ชูนวัตกรรมพร้อมใช้ เพิ่มรายได้เกษตร
'บพท.'เล็งชงรัฐบาลใหม่เดินหน้าทำฐานข้อมูลแก้ปัญหาความยากจนระดับจังหวัด หนุนใช้กลไกท้องถิ่นตรวจข้อมูลคนจน ช่วยแก้ปัญหาคนจนข้ามรุ่น คัดกรองคนที่ต้องช่วยเหลือเร่งด่วน กางผลสำรวจ20จังหวัดพบคนจนกว่า 1 ล้านคน TPMAP พบแค่ 3 แสนคน หนุนเกษตรใช้นวัตกรรมเพิ่มรายได้
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยว่าจากการที่ บพท.เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้สำรวจและสอบทานข้อมูลคนจนของประเทศที่ระบุไว้ใน "ฐานข้อมูลระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า" (Thai People Map and Analytics Platform) หรือ “TPMAP” อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 – 2566 โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ และหน่วยงานในระดับจังหวัดเป้าหมาย 20 จังหวัดทั่วประเทศ
บพท.ได้มีการจัดทำระบบค้นหาและสอบทานข้อมูลครัวเรือนยากจนในระดับพื้นที่ ทำให้พบข้อมูลครัวเรือนที่มีความยากจน 231,021 ครัวเรือน รวม 1,039,584 คน ในขณะที่ฐานข้อมูลจาก TPMAP ระบุจำนวนคนจนใน 20 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ปัตตานี อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ชัยนาท สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ สกลนครมุกดาหาร กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ นราธิวาส อุบลราชธานี ลำปาง พัทลุง นครราชสีมา ร้อยเอ็ด พิษณุโลก เลย และยะลา ไว้ที่ 336,239 คนเท่านั้น
โดยข้อมูลสำรวจคนจนในพื้นที่นำร่อง 20 จังหวัดซึ่งเป็นข้อมูลอย่างแม่นยำมาจากการที่ บพท.ได้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งมีการสอบทานข้อมูลกับหน่วยงานในพื้นที่ รวมทั้งวิเคราะห์ปัญหาและฐานทุนครัวเรือนยากจนทั้ง 5 ด้าน ซึ่งประกอบด้วยทุนมนุษย์ ทุนกายภาพ ทุนการเงิน ทุนธรรมชาติ และทุนทางสังคมเพื่อให้ได้กลุ่มคนจนเป้าหมายที่ถูกต้องและแม่นยำ
การทำงานในลักษณะนี้จะช่วยปิดช่องว่างด้านข้อมูลคนจนที่อยู่ใน TPMAP สามารถแก้ปัญหาความยากจนแบบชี้เป้าลงไปในระดับครัวเรือน และทำให้การช่วยเหลือคนจนมีประสิทธิภาพและไม่เป็นการให้ความช่วยเหลือที่ซ้ำซ้อน และสามารถส่งต่อความช่วยเหลือให้กับคนจนในพื้นที่ที่ควรได้รับความช่วยเหลือ ได้อย่างถูกต้อง
ซึ่งการมีข้อมูลคนจนที่ถูกต้องแม่นนยำจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความยากจน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่ 13) (2566 - 2570) ที่ได้กำหนดเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความยากจนไว้ในหมุดหมายที่ 9 ที่ระบุเป้าหมายว่า “ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม”
เล็งชงรัฐบาลใหม่ทำบิ๊กดาต้าคนจนทุกจังหวัดช่วยแก้จนแม่นยำ
ดร.กิตติกล่าวต่อว่าจากการจัดทำฐานข้อมูลระบบค้นหาและสอบทานข้อมูลครัวเรือนยากจนในระดับพื้นที่ 20 จังหวัดทำให้เห็นถึงประโยชน์ของระบบและข้อมูลที่เป็นการตรวจสอบครัวเรือนยากจนในระดับพื้นที่ บพท.จึงเตรียมที่จะเสนอรัฐบาลในการทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าในระดับจังหวัด
เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณ 700 ล้านบาท เพื่อจัดทำฐานข้อมูล ซึ่งจะสามารถเก็บข้อมูลคนจนในระดับครัวเรือน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ มารวบรวมให้เป็นฐานข้อมูลระดับจังหวัดทำให้การแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าสามารถประสบความสำเร็จได้ภายในปี 2570 ตามแผนเป้าหมายที่วางไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ได้กำหนดไว้
“การแก้ปัญหาความยากจนต้องทำข้อมูลจากระดับพื้นที่ขึ้นมา จะดีกว่าทำมาจากระดับประเทศ เพราะมีความแม่นยำมากกว่า และต้องใช้กลไกในการกระจายอำนาจ สร้างระบบนิเวศน์การทำงานบนฐานข้อมูลเพื่อให้สามารถแก้ไขความยากจนได้อย่างแม่นยำ โดยศูนย์ข้อมูลการแก้ปัญหาความยากจนในระดับจังหวัด จะเป็นประโยชน์กับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างรวดเร็วแม่นยำ โดยความช่วยเหลือที่เร่งด่วนจะลงไปที่กลุ่มคนยากจนในกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดที่ควรได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วนซึ่งมีอยู่ประมาณ 2.4 แสนคน จาก 1 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งเป็นคนจนข้ามรุ่นที่เป็นเป้าหมายลำดับแรกๆที่ต้องมีการแก้ไข” ดร.กิตติกล่าว
ผู้อำนวยการ บพท. ยังกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการยกเลิกมาตรการประกันราคาสินค้าเกษตรที่รัฐบาลใหม่อาจไม่ต่ออายุมาตรการนี้ออกไป นั้นจำเป็นที่ต้องยกระดับเกษตรกรของไทยให้ปรับเปลี่ยนการผลิตจากการผลิตแบบดั้งเดิมมาใช้การผลิตที่ใช้นวัตกรรมเข้ามายกระดับราคาสินค้าเกษตร โดยเน้นไปที่สินค้าเกษตรแปรรูป มากกว่าการทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่เน้นขายสินค้าในปริมาณมากๆ ซึ่งเป็นโมเดลที่หลายประเทศใช้ได้ผลมาแล้ว ทั้งไต้หวัน จีน และญี่ปุ่น
โดยต้องทำควบคู่ไปกับการส่งเสริมความรู้ให้เกษตรกรสามารถยกระดับขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการได้ สามารถที่จะเข้าใจตลาด และรู้จักช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเกษตรซึ่งจะทำให้เกษตรกรไทยสามารถอยู่ได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทั้งนโยบาย และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งกำลังจะมีปัญหาเรื่องภัยแล้งรุนแรงมากระทบภาคเกษตรไทย
โดยบทบาทของ บพท.ที่เข้ามาสนับสนุนเกษตรกรในส่วนนี้ก็คือการร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ต่างๆส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงนวัตกรรมที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก โดยบพท.ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษามีการรวบรวมเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้ ที่ผ่านการวิจัยมาแล้วเพื่อจะส่งต่อให้กับส่วนต่างๆของสังคมเพื่อนำงานวิจัยที่เกิดเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งเกษตรกรก็สามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น และช่วยลดต้นุทน สามารถพึ่งตนเองและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
ปัจจุบันโครงการเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้ มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นแกนหลักโดยที่ผ่านมาการดำเนินการของ บพท.ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาและชุมชนทั่วประเทศทำให้เกิดนวัตกรรมชุมชนขึ้นใน 753 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่ 35 จังหวัดทั่วประเทศ นวัตกรรมกระบวนการ สำหรับการแก้ปัญหาระดับชุมชนมากกว่า 860 นวัตกรรม และเกิดการสร้างนวัตกรชุมชนแล้ว 3,476 คน