ประมง จับมือ TUMSAT มหาวิทยาลัยทางทะเล ญี่ปุ่น พัฒนาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ประมง จับมือ TUMSAT มหาวิทยาลัยทางทะเล ญี่ปุ่น   พัฒนาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

กรมประมง ร่วม มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเลแห่งโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำพื้นถิ่นของไทย

กรมประมง ร่วม มหาวิทยาลัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเลแห่งโตเกียว (Tokyo University of Marine Science and Technology) หรือ TUMSAT ประเทศญี่ปุ่น ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านการประมง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่นักวิจัยในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำพื้นถิ่นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทยตลอดห่วงโซ่การผลิต 

 โดยมี  นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง และ Dr. Toshio ISEKI อธิการบดีมหาวิทยาลัย TUMSAT เป็นผู้ลงนามฯ และมีคณะผู้บริหารจากทั้งสองฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยาน ณ มหาวิทยาลัย TUMSAT กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 

ประมง จับมือ TUMSAT มหาวิทยาลัยทางทะเล ญี่ปุ่น   พัฒนาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ประมง จับมือ TUMSAT มหาวิทยาลัยทางทะเล ญี่ปุ่น   พัฒนาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงตระหนักถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงได้มีการศึกษาวิจัย “โครงการการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมท้องถิ่นของประเทศไทยเพื่อพัฒนาปลาเพาะเลี้ยงสายพันธุ์ใหม่สู่ตลาดโลก” (Utilization of Thailand Local Genetic Resources to Develop Novel Farmed Fish for Global Market) ตั้งแต่ปี 2562 ภายใต้กรอบความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทย - ญี่ปุ่น (JICA) เพื่อพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำพื้นถิ่นของไทยในชนิดปลากะพงขาว (Asian seabass) และกุ้งแชบ๊วย (Banana shrimp)

 

โดยศึกษาการใช้เทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ระดับโมเลกุลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโตและความต้านทานโรคการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การพัฒนาเทคนิคการป้องกันโรคสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงการจัดตั้งธนาคารเชื้อพันธุ์เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลด้านพันธุกรรมสัตว์น้ำพื้นถิ่นของประเทศไทย 

โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำพื้นถิ่นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ ของไทย พร้อมขยายผลต่อยอดการดำเนินงานให้ครอบคลุมทั้งกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำด้วยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาปรับใช้ในการสร้างผลงานวิจัยให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคณาจารย์และเจ้าหน้าที่สำหรับงานวิจัย การประชุมวิชาการ และโครงการทางวิชาการอื่น ๆ การจัดโปรแกรมแลกเปลี่ยนนักศึกษาเพื่อการศึกษาและการวิจัย การสร้างกิจกรรมวิจัยร่วมกัน รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาทางการศึกษา การฝึกอบรม และงานวิจัย เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่นักวิจัยด้านการประมง 

          กรมประมงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการเพาะเลี้ยงและการผลิตสัตว์น้ำพื้นถิ่นของไทยให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย และได้มาตรฐาน ควบคู่ไปกับการเพิ่มมูลค่าและศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยให้กลายเป็นฐานการผลิตสัตว์น้ำที่สำคัญในระดับโลกต่อไป