‘ต้นไม้’ จะเป็นสินค้าส่งออกไทย? ซาอุฯ ปลูกต้นไม้ พลิกทะเลทรายเป็นโอเอซิส
เตรียมโกยรายได้เพิ่ม! ไทยเตรียมตั้งคณะทำงานศึกษา “Saudi Vision 2030” หลังซาอุฯ กางแผนปลูกต้นไม้ 5 หมื่นล้านต้น บรรเทาก๊าซพิษ-ลดพึ่งพารายได้จากน้ำมัน ตั้งเป้าส่งออก 38 พันธุ์ไม้สร้างรายได้ให้เกษตรกรไทย
Key Points:
- จากแผน “Saudi Vision 2030” ที่ซาอุฯ มุ่งเป้าการเป็นประเทศสีเขียวอย่างยั่งยืน หนึ่งในแผนที่เริ่มมีการขยับแล้ว คือ โครงการปลูกต้นไม้ 50,000 ล้านต้น ร่วมกับ 5 ประเทศอาหรับ เฉลี่ยประเทศละ 10,000 ล้านต้น
- ซาอุฯ ต้องการลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน หันไปสร้างเม็ดเงินจากการลงทุนสาธารณะ โดยการขยายขอบเขตเศรษฐกิจไปยังเซ็กเตอร์อื่นๆ เพื่อล้อไปกับเทรนด์โลกด้วย
- หลังจากไทย-ซาอุฯ ฟื้นความสัมพันธ์ในรอบ 32 ปี เมื่อเดือนเมษายนปี 2022 การค้า การลงทุนของสองประเทศก็กลับมาคึกคักมากขึ้น ซึ่งรวมถึงโครงการปลูกต้นไม้ที่ไทยส่งออกไปแล้ว 200,000 ต้น 38 สายพันธุ์
เมื่อช่วงเดือนมีนาคม ปี 2021 เจ้าชายมุฮัมหมัด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) มกุฏราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย เทียบเชิญผู้นำอาหรับ 5 ประเทศ ได้แก่ กาตาร์ คูเวต บาห์เรน อิรัก และซูดาน ร่วมหารือเกี่ยวกับโครงการปลูกต้นไม้ โดยโครงการนี้ชื่อว่า “Middle East Green Initiative” มีเป้าหมายร่วมกันกับอีก 5 ประเทศ ตั้งเป้าปลูกต้นไม้รวม 50,000 ล้านต้น ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต่อสู้กับมลพิษ และความเสื่อมโทรมของหน้าดิน
2 ปีให้หลังจากวันปักธงเมกะโปรเจกต์สีเขียวก็เริ่มมีสัญญาณบวกมายังประเทศไทย โดยไม่นานมานี้ ไทย-ซาอุฯ เพิ่งกลับมาฟื้นสัมพันธ์อันดีกันอีกครั้งในรอบ 32 ปี เมื่อช่วงเดือนเมษายน ปี 2022 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความหวังเรื่องโอกาสด้านการค้า การลงทุน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น
ซึ่งไม่นานมานี้ สภาอุตสาหกรรมไทย (ส.อ.ท.) แถลงเตรียมตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการส่งออกต้นไม้ไปยังซาอุฯ และมองว่า การขานรับโครงการ “Saudi Vision 2030” จะสามารถสร้างรายได้ให้ภาคเกษตรไทย ดึงเม็ดเงินต่างชาติกระตุ้นเศรษฐกิจได้
“กรุงเทพธุรกิจ” จะพาไปทำความรู้จักกับจุดเริ่มต้นของ “Saudi Vision 2030” เมกะโปรเจกต์ที่ซาอุฯ หวังเปลี่ยนประเทศเป็นสีเขียว ซึ่งไม่ใช่แค่ภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังระดมอีก 5 ชาติอาหรับ ผลักดันโครงการปลูกต้นไม้-ขยายปอด โดยมีไทยเป็นหนึ่งในประเทศส่งออกพันธุ์ไม้มากถึง 38 สายพันธุ์ในขณะนี้
- จาก “ผู้นำ G20” สู่โต้โผเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั่วอาหรับ
หลังจาก “ซาอุดีอาระเบีย” เป็นเจ้าภาพการประชุม “G20” ในปี 2020 สุดยอดการประชุมของกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ประกอบด้วย
- กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ได้แก่ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมัน รัสเซีย และสหรัฐ
- กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และตุรกี
เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน ตัวแทนการประชุมจากซาอุฯ และเจ้าภาพในการประชุมผุดแนวคิดสำคัญด้วยการตั้งเป้าเรื่องอนุรักษ์ธรรมชาติ-เพิ่มพื้นที่สีเขียว-ลดปัญหาโลกร้อน ปักหมุดเป็นนโยบายระดับวาระแห่งชาติ ซึ่งหากย้อนกลับไปในการประชุม G20 ครั้งก่อนๆ ก็จะพบว่า ประเด็นเรื่องโลกร้อนถูกยกขึ้นมาพูดคุย ถกเถียงอยู่หลายครั้ง และบางครั้งก็ไม่มีข้อสรุปภายหลังปิดโต๊ะประชุมแล้วเสร็จว่า แต่ละประเทศจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องการปล่อยคาร์บอนเครดิตอย่างไร
ทำให้หลังจากเจ้าชายซาอุฯ ประกาศแผนปลูกต้นไม้ 50,000 ล้านต้น ร่วมกับอีก 5 ประเทศอาหรับ โครงการดังกล่าวจึงได้รับความสนใจจากหลายชาติทั่วโลก โดยข้อมูลจาก “The Saudi Green Initiative” เขียนโดย ชูชาติ พุฒเพ็ง นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า ความตระหนักรู้เรื่องโครงการอนุรักษ์ธรรมชาติของซาอุฯ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นใน 1-2 ปีเท่านั้น แต่ซาอุฯ เคยเสนอแนวนโยบายรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศให้เป็นวาระแห่งชาติมาแล้วตั้งแต่ปี 2010
กระทั่งมาถึงการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ ภายใต้การนำของเจ้าชายมุฮัมมัดและนายกรัฐมนตรีที่พยายามชูแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงกับการปฏิรูปเศรษฐกิจระดับมหภาค หวังลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันซึ่งปัจจุบันยังเป็นรายได้หลักของประเทศ ด้วยการขยายกรอบการลงทุนผ่านกองทุนการลงทุนสาธารณะ (Public Investment Fund) เพื่อยกระดับการลงทุนให้มีความหลากหลายมากขึ้น
กล่าวคือ แม้ปัจจุบันซาอุฯ จะมีรายได้หลักจากการค้าน้ำมันอยู่แล้ว แต่ก็ต้องการขยายขอบเขตเศรษฐกิจไปยังเซ็กเตอร์อื่นๆ ด้วย และเพื่อให้ล้อไปกับเทรนด์โลกในขณะนี้ รวมถึงข้อกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นวาระแห่งชาติทั่วโลก ซาอุฯ จึงต้องการเร่งปรับตัวสู่แนวคิดการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด
- ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดการปล่อยคาร์บอน ใช้พลังงานสะอาดทดแทน
ซาอุฯ มีเป้าหมายสำคัญ คือ การปลูกต้นไม้ 10,000 ล้านต้น เพื่อเปลี่ยนพื้นที่เสื่อมโทรม ให้กลับมามีชีวิตชีวา โดยใช้พื้นที่ราว 15,700 ตารางกิโลเมตร ยึดการดำเนินการตามหลักทฤษฎีด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม โดยเป้าหมายตามกรอบ “The Saudi Green Initiative” ประกอบด้วย
1. ปลูกต้นไม้ 10,000 ล้านต้น และร่วมผลักดันโครงการปลูกต้นไม้ 50,000 ล้านต้นทั่วทั้งตะวันออกกลาง
2. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 60 เปอร์เซ็นต์ในภูมิภาค
3. หาแหล่งผลิตพลังงานกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานทางเลือกแทน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030
4. กำจัดขยะด้วยการลดการใช้ หมุนเวียน และนำกลับมาใช้ใหม่ (Reduce Reuse and Recycle) ให้ได้ 94 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ
5. เพิ่มพื้นที่เขตสงวนและอุทยานแห่งชาติภายในประเทศ 30 เปอร์เซ็นต์
6. ยุติการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 130 ล้านตัน เปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดและไฮโดรเจน
7. มุ่งหน้าสูง “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutrality) ปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2060
8. ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ 278 ล้านตันต่อปี
9. ลดการปล่อยก๊าซมีเทนสู่ชั้นบรรยากาศ คาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการลงนามลดการปล่อยก๊าซมีเทน 30 เปอร์เซ็นต์ได้ภายในปี 2030
10. ยกระดับความมั่นคงทางอาหารให้เพียงพอต่อประชากรโลก
การวางกรอบแนวคิดว่าด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียนของซาอุฯ ครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่น่าจับตามอง เพราะไม่เพียงแต่เป็นการกำหนดแผนงานกว้างๆ แต่ยังระบุกรอบเวลา รายละเอียด และ “Action Plan” ต่างๆ ในการลงมือทำ ที่สำคัญ ผู้บริหารโครงการอุทยานที่ถูกกำหนดให้เป็นส่วนที่ต้องมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ยังเป็นเจ้าชายมกุฏราชกุมารแห่งซาอุฯ เองด้วย หากทำได้จริงพื้นที่บริเวณดังกล่าวจะกลายเป็นแหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำ เสริมสร้างระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
-เครดิตรูปจาก Saudi & Middle East Green Initiatives-
- โอกาสไทยสร้างรายได้ ส่งออกต้นไม้-ตั้งเป้าโกยรายได้เพิ่ม
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 ส.อ.ท. ตั้งโต๊ะแถลงถึงความคืบหน้าจากการเจรจาทางการค้าและการลงทุนภาคเอกชนร่วมกับซาอุฯ โดยระบุว่า หนึ่งในโปรเจกต์ที่น่าสนใจ คือ การปลูกต้นไม้ 50,000 ล้านต้นในกลุ่มประเทศอาหรับ ตามแผน “Saudi Vision 2030” โดยที่ผ่านมา รองประธานสภาอุตสาหกรรมให้ข้อมูลว่า โครงการนี้มีแผนที่จะนำเข้าต้นไม้จากทั่วโลก โดยประเทศไทยมีการส่งออกไปแล้ว 200,000 ต้น และยังมีโอกาสให้ไทยส่งออกไปอีกมาก
สำหรับรายชื่อต้นไม้ที่ไทยส่งออกไปแล้ว มีทั้งสิ้น 38 พันธุ์ด้วยกัน ดังนี้
1. ชมพูพันธุ์ทิพย์ (Tabebuia rosea)
2. นนทรี (Peltophorum pterocarpum, Yellow poinciana)
3. พุทราจีน (Ziziphus jujuba)
4. ศรีตรัง (Jacaranda mimosifolia)
5. หูกวาง (Terminalia catappa)
6. อรชุน (Terminalia arjuna, Arjuna Tree)
7. ไทรย้อยใบแหลม (Ficus benjamina, Weeping fig)
8. พฤกษ์ (Albizia lebbeck)
9.ยี่เข่ง (Lagerstroemia indica)
10. งิ้ว (Bombax ceiba, Red kapok tree)
11. หางนกยูงฝรั่ง (Delonix regia)
12. มัลเบอร์รี (Morus nigra, Blackberry)
13. มะรุม (Moringa oleifera)
14. เลี่ยน (Melia azedarach)
15. มะเดื่อ (Ficus carica, Fig)
16. เลมอน (Citrus limon)
17. ส้มซ่า (Citrus aurantium)
18. คารอบ (Ceratonia siliqua, Carob Tree)
19. ส้มแมนดาริน (Citrus reticulata, Mandarin orange)
20. มะตูมซาอุ (Schinus terebinthifolius)
21. กระถินเทพา (Acacia mangium)
22. หยีน้ำ (Millettia pinnata)
23. นิโครธ (Ficus benghalensis)
24. ชัยพฤกษ์ (Cassia javanica)
25. ก้ามปู (Albizia saman)
26. ปีบ (Millingtonia hortensis, Tree jasmine)
27. เสี้ยวดอกขาว (Bauhinia variegata)
28. ชงโค (Bauhinia purpurea)
29. ราชพฤกษ์ (Cassia fistula)
30. มะขามเทศ (Pithecellobium dulce)
31. มะกอกโอลีฟ (Olea europaea, Olive)
32. โพ (Ficus religiosa, Sacred fig)
33. สะเดา (Azadirachta indica)
34. มะขาม (Tamarindus indica)
35. โพทะเล (Thespesia populnea)
36. กร่าง (Ficus altissima)
37. ปอทะเล (Hibiscus tiliaceus, Seacoast mallow)
38. ทามาริสก์ (Tamarix aphylla, Athel pine)
อย่างไรก็ตาม การค้าไทย-ซาอุฯ ในรอบปีที่ผ่านมา หลังฟื้นความสัมพันธ์แล้วพบว่า มีมูลค่าการลงทุนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า มูลค่าการค้าไทย-ซาอุฯ ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าราว 3.23 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 37.64 เปอร์เซ็นต์ โดยซาอุฯ ถือเป็นคู่ค้าลำดับที่ 17 ของไทยในตลาดโลก ส่วนไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 2 ในตะวันออกกลาง รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวก็ยังคึกคักขึ้น สร้างรายได้หมุนเวียนในไทยกว่า 8,000 ล้านบาท
อ้างอิง: Bangkokbiznews, Daily News, MGR Online, Prachachat, Parliament, YouTube