‘บอร์ดสิ่งแวดล้อม’ ไฟเขียว ‘EIA’ ทางคู่ สุราษฎร์ – หาดใหญ่ – สงขลา 5.7 หมื่นล้าน

‘บอร์ดสิ่งแวดล้อม’ ไฟเขียว ‘EIA’ ทางคู่ สุราษฎร์ – หาดใหญ่ – สงขลา 5.7 หมื่นล้าน

“คกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ” ไฟเขียว โครงการ รถไฟรางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี - ชุมทางหาดใหญ่ - สงขลา  วงเงิน 5.7 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมเส้นทาง 4 จังหวัด 321 กม. เตรียมเสนอ ครม.รัฐบาลหน้าเดินหน้าโครงการ "ประวิตร" สั่งทำแผนรับมือขยะ ของเสียจากอุตสาหกรรม หลังมีข้อร้องเรียนจากพื้นที่

พล.อ. คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีพล.อ.ประวิตร เป็นประธาน วานนี้ (19  มิ.ย.) ว่าที่ประชุมได้มีการพิจารณาเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง และการบริหารจัดการน้ำของประเทศรวม 2 โครงการเพื่อให้หน่วยงานเจ้าของโครงการได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการในรัฐบาลต่อไป ได้แก่

 

1.โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี - ชุมทางหาดใหญ่ – สงขลา ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) แล้ว และในการประชุมครั้งนี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบรายงาน EIA ของโครงการนี้

ทั้งนี้โครงการรถไฟรางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี - ชุมทางหาดใหญ่ – สงขลา ถือเป็นโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางสำคัญ มีระยะทาง 321 กิโลเมตร  วงเงินก่อสร้างรวม 57,375 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเวนคืน ชดเชยสิ่งปลูกสร้าง 126 ล้านบาท, ค่าก่อสร้าง 56,114 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาควบคุมงานและบริหารโครงการ 1,135 ล้านบาท

เส้นทางรถไฟเส้นทางนี้ผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (จุดเริ่มต้น) ระยะทาง 65 กม. ผ่านพื้นที่ 4 อำเภอ 11 ตำบล, จังหวัดนครศรีธรรมราช ระยะทาง 119 กม. ผ่านพื้นที่ 7 อำเภอ 30 ตำบล, จังหวัดพัทลุง ระยะทาง 77 กม. ผ่านพื้นที่ 6 อำเภอ 23 ตำบล และจังหวัดสงขลา (จุดสิ้นสุด) ระยะทาง 60 กม. ผ่านพื้นที่ 5 อำเภอ 16 ตำบล มีสถานีรวม 65 สถานี รูปแบบทาง มีทั้งยกระดับ ระดับดิน และการขุดอุโมงค์ โครงการนี้มีกำหนดจะเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบภายในปี 2566 หลังจากที่มีการประเมิน EIA แล้วเสร็จ

และ 2.โครงการอ่างเก็บน้ำแม่คำ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ของกรมชลประทาน โดยโครงการนี้เป็นโครงการที่แก้ปัญหาน้ำแล้งและอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่จัน (แม่คำ) จังหวัดเชียงราย ทั้งนี้ที่ผ่านมากรมชลประทานโดยสำนักบริหารโครงการได้พิจารณาดำเนินการศึกษา รายงานการศึกษาแนวทางพัฒนาลุ่มน้ำ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำแม่จัน (แม่คำ) เพื่อวางแผนพัฒนาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ

เพื่อบรรเทาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและอุทกภัยในลุ่มน้ำและเพื่อให้มีการพัฒนาวางแผนลุ่มน้ำในภาพรวม และได้ว่าจ้างที่ปรึกษาให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม

โดยโครงการนี้มีวงเงินลงทุนโครงการวมทั้งสิ้น 2,060.56 ล้านบาท เมื่อสร้างเสร็จจะมีพื้นที่รับน้ำ 412.77 ตารางกิโลเมตร ปริมาณที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำ 210 ล้านลูกบาศก์เมตร ความยาวสันเขื่อน 352 เมตร สูง 60 เมตร ซึ่งได้มีการรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่และประเมินการจ่ายเงินชดเชยให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำเอาไว้แล้ว

พล.อ. คงชีพ กล่าวต่อว่าพล.อ.ประวิตร ได้สั่งการในที่ประชุมว่า ในส่วนของปัญหา และสถานการณ์มลพิษ ทั้งคุณภาพน้ำ อากาศและเสียง รวมทั้งขยะมูลฝอยชุมชน ของเสียและวัตถุอันตราย บางพื้นที่ที่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมจำเป็นต้องให้น้ำหนักเข้าไปแก้ปัญหาให้ทั่วถึง

สำหรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งการทำการเกษตรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การปล่อยปริมาณน้ำเสียลงผิวดินเพิ่ม ประกอบกับระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชนที่ไม่เพียงพอและไม่สามารถรองรับได้ ซึ่งที่ประชุมให้ความเห็นชอบ การปรับปรุงมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากโรงไฟฟ้า เพื่อควบคุมและแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง

“พล.อ.ประวิตรระบุว่าเรื่องปัญหามลพิษถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องประสานการทำงานร่วมกันมากขึ้น โดยขอให้มีแผนงาน มาตรการรองรับและมีการกำกับที่เป็นรูปธรรม  ทั้งนี้ ขอให้ ทส. นำผลการประชุมดังกล่าว เสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ และดูแลกำกับโครงการต่างๆให้เป็นไปตามที่กำหนด หลังจากมีผู้ร้องเรียนปัญหานี้มากขึ้น”

‘บอร์ดสิ่งแวดล้อม’ ไฟเขียว ‘EIA’ ทางคู่ สุราษฎร์ – หาดใหญ่ – สงขลา 5.7 หมื่นล้าน

นอกจากนี้ที่ประชุมฯยังรับทราบ รายงานสถานการณ์มลพิษฯ ในปี 2565 สรุปคุณภาพน้ำ ทั้งแหล่งผิวดิน น้ำทะเลชายและน้ำบาดาล โดยรวมอยู่ในเกณฑ์คุณภาพดี คุณภาพอากาศและเสียงมีแนวโน้มดีขึ้นขยะมูลฝอยชุมชนของเสียและสารอันตรายพบว่าขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นมีการคัดแยก และกำจัดขยะถูกต้องเพิ่มขึ้นขณะเดียวกันของเสียอันตราย

และวัตถุอันตรายมีปริมาณเพิ่มขึ้นกากอุตสาหกรรมที่มีอันตรายมีการแจ้งและนำเข้าสู่ระบบการจัดการเพิ่มขึ้นมูลฝอยติดเชื้อมีปริมาณเพิ่มขึ้นและได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องเพิ่มขึ้นด้วย