AI ทางรอดของ SME สร้างแต้มต่อบุกตลาดโลก
“พาณิชย์” พร้อมหนุนเอสเอ็มอีบุกตลาดโลก ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลก แนะเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารอนาคตกำลังมาแรง “โลตัส”เปิดพื้นที่เอสเอ็มอีค้าขาย ย้ำต้องค้าขายในโลกออนไลน์ให้เป็น “เอไอเอส” ชี้ทางรอดเอสเอ็มอีไทย ใช้ ‘เอไอ’ เสริมธุรกิจแบบสมาร์ท เพิ่มผลิตภาพการผลิต
“โพสต์ทูเดย์” จัดสัมมนาหัวข้อ “Smart SME ยุค AI เขย่าโลก” เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2566 เพื่อนำเสนอแนวทางการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการขับเคลื่อน SME ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษ “สร้างแต้มต่อ SME ไทยในตลาดโลก” ว่า แม้แทคโนโลยีจะพัฒนาไปมากทั้งเอไอ โรบอท แชทจีพี แต่ตนก็ยังมีความเชื่อว่า อีกหลายอย่างเทคโนโลยียังสู้มนุษย์ไม่ได้เพราะคนมีความละเอียดอ่อนบางอย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยังไม่สามารถทำได้ แต่การนำ AI มาช่วยในการทำธุรกิจมีความสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
ทั้งนี้ ในปี 2565 SME มีการสร้างรายได้ให้กับประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มท่องเที่ยวกว่า 6 ล้านล้านบาท และเป็น MSME 3.13 ล้านราย หรือ 80% อยู่อุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยว และส่งออกสินค้ามูลค่า 1 ล้านล้านบาท หรือ 10% ของการส่งออกรวม
นอกจากนี้ SME ถือว่าเป็นรากฐานของประเทศในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยรัฐบาลมีแผนการส่งเสริม รัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฉบับที่ 5 ปี 2560-2570
รวมทั้งปัจจุบันไทยถูกคุกคามด้วยเศรษฐกิจโลกไม่ว่าจะเป็นปัญหาภูมิรัฐศาสตร์อย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาวัตุดิบ ราคาพลังงานและการขนส่ง โดยยังไม่รวมสงครามการค้าระหว่างที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะรุนแรงขึ้นอีก และไทยเตรียมรับมือผลกระทบดังกล่าวตลอดเวลา
ในขณะที่การถดถอยของเศรษฐกิจที่ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป (EU) โดยเกิดปัญหาเงินเฟ้อและกำลังซื้อ เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทั้งภัยแล้ง สิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งเกิดการกีดกันทางการค้า และที่ผ่านมาภาครัฐเองก็ทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดเพื่อฝ่าฟันอุปสรรคดังกล่าว
“พาณิชย์”สร้างแต้มต่อ SME
สำหรับบทบาทกระทรวงพาณิชย์ที่จะช่วย SME เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งเรื่องของการบริการจดทะเบียนธุรกิจ การอำนวยความสะดวก นำระบบดิจิทัลเข้ามาให้เกิดความสะดวกสบาย โดยมีการคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวกำลังจะกลับมา จึงต้องเตรียมรองรับให้พร้อม
ขณะที่สถิติการจดทะเบียนธุรกิจ SME ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค.2566 มีจำนวน 3,470 ราย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งตอบโจทย์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับมาเที่ยวประเทศไทย การส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ ทั้งการสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีและการเพิ่มศักยภาพในการประกอบธุรกิจ ส่งเสริมธุรกิจไทยให้เข้มแข็งแข่งขันได้ นอกจากนี้ยังสร้างธรรมาภิบาลธุรกิจ ทั้งเรื่องของทำธุรกิจที่โปร่งใส กำกับดูแลธุรกิจให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อถือให้กับธุรกิจ SME
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ส่งเสริมการค้าต่างประเทศภายใต้ 3P 1S คือ
1.People การพัฒนาผู้ประกอบการผ่านหลักสูตรการอบรมต่างๆของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการ (NEA) ปี 2566 ตั้งเป้าให้มีมากกว่า 6 หมื่นราย
2.Product การพัฒนาสินค้าและบริการ ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการสร้างแบรนด์ นวัตกรรม การดีไซน์ออกแบบ
3.Place การพัฒนาช่องทางการตลาดทั้งไทยและต่างประเทศ ผ่านช่องทางงานแสดงสินค้า ส่งเสริมการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ และ Service การบริการข้อมูลทางการผ่านแอปพลิเคชั่น สายด่วน 1169
แนะตอบโจทย์เทรนด์สินค้าโลก
ทั้งนี้ SME ไทยเองต้องพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์กับตลาดไม่ทำตามความต้องของตัวเองมากเกินไปเพราะถ้าพัฒนาสินค้าตามความสนใจของตัวเองจะไม่ส่งผลต่อการกลับมาซื้อซ้ำ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เองก็มีหน่วยงานที่จะเข้าไปช่วยพัฒนา SME ให้พัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์กับตลาด โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร
“ส่วนตัวยืนยันว่าไทยยังต้องลงทุนในอุตสาหกรรมอาหาร เพราะไทยถือว่ามีจุดแข็งในเรื่องอาหาร ไทยสามารถสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารโลกได้เพราะไทยมีวัตถุดิบเป็นแหล่งผลิตอาหารโลก แต่ต้องพัฒนาความหลากหลายทางด้านอาหารไม่ว่าจะเป็นอาหารจากพืช โปรตีนพืช โปรตีนจากแมลง หรือนวัตกรรมด้านอาหาร อาหารเพื่อสุขภาพ”
รวมไปถึง Future Food หรือ อาหารอนาคต แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เทรนด์กำลังมาทางนี้ ดังนั้นเอสเอ็มอีที่กำลังมองหาทางเลือกว่าจะทำอะไรดี ซึ่งอุตสาหกรรมอาหารยังคงเป็นทางเลือกที่ดี
“โลตัส”เปิดพื้นที่ให้ SME
นางสาวเบญจวรรณ อ่องศรี ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานบริหารพื้นที่ศูนย์การค้า โลตัส กล่าวในหัวข้อ “How to be Smart SME” ว่า โลตัสมีไฮเปอร์มาร์เก็ต ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านมินิซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่โลตัสมีพื้นที่เช่าที่มีขนาดตั้งแต่ 10,000 ตร.ม. เหมือนห้างชั้นนำทั่วไป ห้างขนาดกลาง ห้างขนาดย่อม และพื้นที่เช่าขนาดเล็กหน้า Lotus Go Fresh โดยพื้นที่เช่าของโลตัสมีขนาด 1 ล้าน ตร.ม.คิดเป็นมาร์เก็ตแชร์ 10% ของพื้นที่เช่าทั่วประเทศ ซึ่งอันดับ 1 คือ ในเครือเซ็นทรัล มีมาร์เก็ตแชร์ 30% และอันดับ 2-3 คือ โลตัส และบิ๊กซี
นอกจากนี้ โลตัสทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ภาคการเงิน การธนาคาร เพื่อส่งเสริม SME ทั้งการเป็นพื้นที่โลตัสเข้ามาขายสินค้า การเป็น “แพลตฟอร์ม” โดยเฉพาะช่วยให้ SME ที่อยู่ในพื้นที่เช่า ซึ่งมี 30,000 แบรนด์ หรือกว่า 50,000-60,000 ยูนิต ในการให้ข้อมูล ความรู้ ซึ่ง SME มีตั้งแต่ขนาดไมโครที่เริ่มทำธุรกิจ ส่วนขนาดกลาง ที่มีการเริ่มมาระดับหนึ่งแล้ว และขนาดใหญ่ที่มีการขยายสาขามากขึ้น
นางสาวเบญจวรรณ กล่าวว่า ปัจจุบัน SME เจอความท้าทายด้านธุรกิจ 4 ข้อ ประกอบ
1.มาตรฐานสินค้าและบริการ
2.ช่องทางการจัดจำหน่ายที่จำกัด
3.การหาแหล่งเงินทุน
4.การสร้างแบรนด์แผนการตลาด โดยเริ่มโพสต์สินค้าในออนไลน์ ทั้ง Facebook, Instagram และ TikTok รวมไปถึงแพลตฟอร์ม เช่น Grab และ LINE MAN ก็จะทำให้ต่อยอดได้
5แนวทางดัน SMART SME
ขณะที่สิ่งที่จะทำให้ SME แกร่งขึ้นเป็น SMART SME ได้แก่
1.การวางแผนบริหารและจัดการเงินทุน โดยสิ่งที่โลตัสทำ คือ ต้องเชิญมาพูดคุยก่อนกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลพื้นที่เช่าถึงสินค้าที่ต้องการจะขาย จัดหลักสูตรการอบรม
2.ออกแบบโมเดลทางธุรกิจที่เป็นรูปธรรม สามารถทำได้จริง คือ เริ่มทำทันที ทดลองนำสินค้ามาขาย
3.พัฒนาสินค้าและบริการที่ได้มาตรฐาน โดยเจ้าของกิจการเมื่อเริ่มเก่งขึ้น อยากนำไปขายในไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งโลตัสก็มีการทำ Business Matching ให้ และแนะนำโรงงานที่ดี นอกจากนี้ยังไปต่อยอดกับค้าปลีกรายอื่นๆ ได้ด้วย
4.หาพันธมิตรทางธุรกิจที่ช่วยผลักดันการเติบโตร่วมกัน คือ ยุคนี้อย่าทำคนเดียว เพราะปัจจุบันธุรกิจสามารถที่จะ Cross กันได้ค่อนข้างมาก ต้องมีความยืดหยุ่น เพราะตลาดมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
5.นำเทคโนโลยี นวัตกรรม มาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ ทำให้สินค้ามีความได้เด่นขึ้น ใช้ง่าย ราคาถูก ฟังก์ชั่นดี
รวมทั้งโลตัสมีกิจกรรมสนับสนุนผู้ประกอบการได้แก่ 1.หลักสูตรพิเศษสำหรับ SME เรียนฟรี เริ่มตั้งแต่พื้นฐาน เป็นโปรแกรม 4 สัปดาห์ ทำความเข้าใจโมเดลธุรกิจ 2. ทำ Business Matching เพื่อต่อยอด 3.เปิดพื้นที่ทดลองออกบูธ และ 4.ใช้เทคโนโลยีสนับสนุนร้านค้า ซึ่งโลตัส มีแพลตฟอร์ม “CP SEEDING” เป็นแพลตฟอร์มการค้าขายออนไลน์ รวบรวมสินค้าขายต่อต่างประเทศ
“ปัจจุบันการค้าออนไลน์มีความสำคัญมาก SME ต้องค้าขายออนไลน์ให้เป็น สื่อสารออนไลน์ให้ได้ เพราะถือว่ามีความสำคัญ จากนั้นต้องรู้ว่าจะขายผลิตภัณฑ์อะไร และอย่าทำคนเดียว เราต้องผนึกกำลังร่วมกัน ดังนั้นการที่ SME ใช้โลตัสเป็นสปริงบอร์ด ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง” นางสาวเบญจวรรณ กล่าว
“เอไอเอส”ชี้ดิจิทัลหนุนภาคธุรกิจ
นายนวชัย เกียรติก่อเกื้อ หัวหน้าส่วนงานการตลาดลูกค้าองค์กรและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า ในปี 2562-2563 ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อย (เอสเอ็มอี) ของไทยแข็งแรงขึ้นอย่างมากและเติบโตได้ดี และส่วนตัวเชื่อว่า SME ไทยจะเป็นกำลังสำคัญของธุรกิจไทยในอนาคต
ทั้งนี้ หากถามว่า SME ไทยต้องการอะไรบ้าง หลักสำคัญคือ ทำอย่างไรที่จะเพิ่ม Productivity, หาลูกค้าใหม่ได้อย่างไร , ทำอย่างไรที่จะทำให้พนักงานทำงานได้จากทุกที่
เมื่อปี 2561 ข้อมูลจากบีซีจีระบุว่าเทรนด์เทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนโลกในอนาคตอันใกล้ประกอบด้วย
1. 5G 2. IoT 3. Extended Reality 4. Al/Machine Learning 5. Robotics 6. Cloud & Edge Computing 7. Big Data & Analytics 8. Cybersecurity 9. Alternative Energy
ขณะที่ 10. Blockchain 11. Robotic Process Automation 12. Mass Personalization 13. Satellite Internet Constellation 14. Human Augmentation (Bionics) และ 15. Biometrics แต่ทั้งนี้ให้สังเกตุว่าในวันนั้นยังไม่มีคำว่า Generative AI หรือChat GPT เกิดขึ้นมา
อ้างอิงจากข้อมูลของบีซีจีพบว่า ขณะนี้ธุรกิจบนโลกมองเอไอในเชิงบวก ขณะเดียวกันเป็นโอกาสที่จะสร้างเรื่องดีๆ ให้เกิดขึ้นได้ มากกว่าความกังวลต่ออะไรที่เกิดขึ้นใหม่ๆ คือโอกาสแต่เป็นโอกาสที่ต้องระมัดระวัง
ทั้งนี้ ประโยชน์ของ Generative AI ที่เห็นได้คือ เป็นแหล่งความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเพิ่มอินโนเวชั่นช่วยสร้างคอนเทนต์, การให้บริการลูกค้า,รวมถึงการนำดาต้ามาใช้ประโยชน์ เป็นต้น
โดยงานที่เอไอช่วยได้มีทั้งงานด้านมาร์เก็ตติ้ง สร้างคอนเทนต์ โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ, งานเขียนซอฟแวร์ ไอทีที่ต้องการเอาดาต้ามาประมวลผล, งานบริการ เอไอที่โต้ตอบได้ ฯลฯ
หนุนใช้ AI ในภาคการผลิต
นอกจากนี้ Generative AI ยังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับ SME โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านการผลิต ตัวอย่างเช่น หลายองค์กรนำเอไอที่เป็นแมชีนเลิร์นนิงมาใช้ในกระบวนการผลิตแยกแยะของดีของเสีย ใช้ในการวิเคราะห์เพื่อลดการใช้พลังงาน ลดต้นทุน ลดการปล่อยของเสีย ลดต้นทุน เป็นต้น
เอไอเอสเชื่อว่า ไทยเป็นแหล่งผลิตสำคัญในโลก ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ช่วยกันผลักดันให้เอสเอ็มอีไทยส่วนที่เป็นภาคการผลิตมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นด้วย 3 โซลูชัน คือ
1.Machine Monitoring ทำอย่างไรที่จะมอนิเตอร์เครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เก็บดาต้าเครื่องจักรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ดูสเตตัสเครื่องจักรว่าจะซ่อมเมื่อไหร่อย่างไร นำมาวิเคราะห์เข้อมูลต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ได้
2.OEE&Production Plan Monitoring ภาพรวมข้อมูลขององค์กร โดยนำดาต้ามาวิเคราะห์ว่าตรงไหนคือจุดอ่อนในสายผลิต นำข้อมูลจาก Machine แต่ละเครื่องมาวิเคราะห์ ประเมินพร้อมทำให้เกิดประสิทธิภาพ
3.Energy Management ทำอย่างไรให้ลดค่าไฟฟ้าได้ บริหารจัดการต้นทุน การบริหารจัดการเรื่องน้ำเสีย
“เอไอเอสเชื่อเรื่อง Ecosystem Economy เชื่อว่าเอสเอ็มอีไทยคิดอะไรไม่ออกให้นึกถึงเอไอเอส เพราะเราทำ 2 เรื่อง คือ 1.Digital IntelligenceInfrastructure 2.Cross Industries Collaboration ทำอย่างไรให้เกิดความร่วมมือในการข้ามอุตสาหกรรม 3.Human Capital & Sustainability มีข้อมูลต่างๆ ให้เอสเอ็มอีใช้ในการประกอบธุรกิจ”
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องระมัดระวังในการใช้ Generative AI คือ อย่าทำผิดกฏหมายการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปวิเคราะห์ เผยแพร่ เกิดการรั่วไหล การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งต้องระมัดระวังเรื่องความลับทางการค้า Chat Gpt ไม่ได้เก่งกว่ามนุษย์ เพราะสุดท้ายการนำ Generative AI ไปใช้ให้เกิดประโยชน์เป็นเรื่องของมนุษย์อย่าเชื่อ Generative AI 100%