กระทรวงเกษตรฯ เก็บข้อมูลเกลือทะเล เล็งยกระดับเป็นมรดกโลก

กระทรวงเกษตรฯ เก็บข้อมูลเกลือทะเล เล็งยกระดับเป็นมรดกโลก

สศก. ลงพื้นที่สำรวจนาเกลือทะเล 7 จังหวัด หวังลดต้นทุน สร้างจุดศูนย์กลางรวมซื้อ-ขาย กำหนดทิศทางของราคา พร้อมยกระดับนาเกลือเป็นมรดกโลกส่งเสริมอนุรักษ์มรดกทางการเกษตร

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่สำรวจและจัดเก็บข้อมูลต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตเกลือทะเล ปีการผลิต 2565/66 ตามโครงการส่งเสริมการจัดตั้งและบริหารจัดการวิสาหกิจเกษตรฐานชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำข้อมูลเอกภาพ และส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตเกลือทะเล ซึ่งการลงพื้นที่ดังกล่าว เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย 

ปัจจุบันประเทศไทย มีการทำนาเกลือทั้งหมด 7 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และปัตตานี เกษตรกรทำนาเกลือ รวม 712 ราย โดยการทำนาเกลือของเกษตรกรส่วนใหญ่จะแบ่งเนื้อที่ในแปลงนาเกลือออกเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 นาขัง หรือ นาวัง ส่วนที่ 2 นาตาก นาประเทียบ หรือ นาแผ่ ส่วนที่ 3 นารองเชื้อ ส่วนที่ 4 นาดอกหรือนาเชื้อ และส่วนที่ 5 คือ นาวาง นารื้อ หรือ นาปรง ทั้งนี้ นาแต่ละส่วนมีหน้าที่แตกต่างกัน ซึ่งส่วนที่หนึ่งนาขัง หรือ นาวัง จะมีพื้นที่ มากที่สุด และอยู่ใกล้กับชายฝั่งทะเลมากที่สุดเพื่อความสะดวกในการระบายน้ำทะเลเข้ามาขังไว้ สำหรับนาในส่วนอื่นๆ จะแบ่งเนื้อที่ใกล้เคียงเท่าๆ กัน โดยฤดูกาลผลิตจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป

กระทรวงเกษตรฯ เก็บข้อมูลเกลือทะเล เล็งยกระดับเป็นมรดกโลก กระทรวงเกษตรฯ เก็บข้อมูลเกลือทะเล เล็งยกระดับเป็นมรดกโลก กระทรวงเกษตรฯ เก็บข้อมูลเกลือทะเล เล็งยกระดับเป็นมรดกโลก

 

เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลทำนาเกลือ เกษตรกรจะปรับพื้นที่นาให้เรียบและมีความหนาแน่น จากนั้นทำการปล่อยน้ำทะเล ให้เข้าสู่แปลงนาขัง เพื่อให้น้ำทะเลตกตะกอนจากนาขังสู่นาตาก ก่อนเข้าสู่กระบวนการทำให้น้ำทะเลระเหยออก เพื่อเพิ่มระดับความเค็ม โดยเมื่อน้ำมีระดับความเค็มที่ 3 - 5 ดีกรี จะถ่ายน้ำสู่นารองเชื้อ เพื่อให้มีความเค็มอยู่ที่ระดับ 15 ดีกรี และจากนั้นจะถ่ายสู่นาดอก เพื่อเพิ่มระดับความเค็มของน้ำไปจนถึง 20 ดีกรี

โดยเกษตรกรทำการถ่ายน้ำ กลับไป - กลับมา ระหว่างนารองเชื้อและนาดอกไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความถนัดและการปล่อยน้ำของเกษตรกรแต่ละราย เพื่อเพิ่มระดับความเค็มของน้ำจนถึง 25 ดีกรี และพร้อมสู่กระบวนการตกผลึกให้กลายเป็นเกลือในนาวาง ซึ่งเป็นนาสุดท้าย ในกระบวนการผลิตเกลือสมุทรโดยเกษตรกรจะทิ้งน้ำไว้เพื่อให้เกลือตกผลึกเป็นแผ่น และเมื่อเกลือตกผลึกแล้ว เกษตรกรจะทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยการรื้อเกลือด้วยการใช้ลั่วเดินเกลือมาแซะแผ่นเกลือ จากนั้นทำแนวและทำกองเกลือต่อไป

สำหรับการลงพื้นที่ ตามโครงการส่งเสริมการจัดตั้งและบริหารจัดการวิสาหกิจเกษตรฐานชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นในครั้งนี้ ได้ดำเนินการเริ่มนำร่องในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี (อำเภอเมือง อำเภอบ้านแหลม) และจังหวัดสมุทรสงคราม (อำเภอเมือง) เกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเลตัวอย่าง 130 ราย 

โดยจากการลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูล ช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 พบว่า ปีนี้เกษตรกรสามารถผลิตเกลือทะเลได้ตามปกติ คือ ประมาณ 5 - 6 รื้อ (ครั้ง) เนื่องจากสภาพอากาศค่อนข้างดี ฝนน้อย ส่งผลให้ผลผลิตเกลือทะเลในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม และเพชรบุรี มีปริมาณมาก โดยเกษตรกรมีต้นทุนประมาณ 13,000 บาท/ไร่/ปี ซึ่งต้นทุนส่วนใหญ่ในการผลิตเกลือทะเลจะเป็นค่าแรงงาน (ร้อยละ 63.20) และค่าเช่าที่ดิน/ค่าใช้ที่ดิน (ร้อยละ 17.20) ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ (ร้อยละ 19.60) ทั้งนี้ เกษตรกร จะได้ผลผลิตเกลือทะเลประมาณ 8 - 10 เกวียนต่อไร่ (1 เกวียน เท่ากับ 1.6 ตัน)

ขณะที่ราคาจำหน่ายเกลือทะเลที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยเดือนมกราคม - มิถุนายน 2566 ราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบ กับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเกลือขาว ราคา 4,125 บาทต่อเกวียน (2,578 บาทต่อตัน) เกลือกลาง ราคา 3,352 บาทต่อเกวียน (2,095 บาทต่อตัน) และเกลือเหมายุ้ง ราคา 2,430 บาทต่อเกวียน (1,518 บาทต่อตัน) ด้านการจำหน่ายผลผลิต พบว่า ส่วนใหญ่เกษตรกรจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อผลผลิต ณ ยุ้งฉางเกลือ โดยการจำหน่ายผลผลิต มี 2 แบบ คือ การจำหน่ายแบบแยกเกรด (แบ่งเกรดเป็นเกลือขาว เกลือกลาง และ เกลือดำ) และการจำหน่ายแบบเกลือคละ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีมาตรการการจัดการและป้องกันแก้ไขปัญหาด้านราคาเกลือทะเล ปีการผลิต 2565/66 โดยคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย กำหนดราคาขั้นต่ำของเกลือทะเลไทย 3 ชนิด คือ เกลือขาว ตันละ 1,800 บาท เกลือกลาง ตันละ 1,500 บาท และ เกลือดำ ตันละ 1,300 บาท เพื่อรักษาเสถียรภาพ รวมทั้งมีมาตรการสนับสนุนงบประมาณชดเชยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร พักชำระหนี้เกษตรกรนาเกลือ และขยายระยะเวลาหรือลดดอกเบี้ย สนับสนุนสินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อการปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บรักษาเกลือมียุ้งฉางสำหรับเก็บเกลืออย่างเพียงพอ 

นอกจากนี้ สหกรณ์/วิสาหกิจชุมชนแต่ละแห่ง จะเป็นจุดศูนย์กลางรวมกันซื้อ รวมกันขาย เจรจาต่อรองในการกำหนดทิศทางของราคาเกลือทะเลเพื่อไม่ให้เกิดความผันผวนหรือกำหนดวิธีการจำหน่ายเกลือทะเลโดยวิธีการประมูล ตลอดจนมีการกำหนดนโยบายและวางแผนเขตพื้นที่อนุรักษ์นาเกลือทะเลของประเทศ โดยยกระดับแหล่งทำนาเกลือเป็นมรดกโลกเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์มรดกทางการเกษตร สร้างความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าว สศก. จะรวบรวมเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งเกษตรกรและท่านที่สนใจข้อมูลการผลิตและการตลาดของเกลือทะเล สามารถสอบถามได้ที่ ส่วนสารสนเทศการผลิตปศุสัตว์และประมง ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 0 2579 0617 หรือ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย กรมส่งเสริมการเกษตร โทร. 0 2579 3015 ในวันและเวลาราชการ