ทัพธุรกิจ กวางตุ้ง - ฮ่องกง – มาเก๊า ลงทุนไทย 5 หมื่นล้าน เชื่อม ‘EEC’ – ‘GBA’
ทัพธุรกิจ กวางตุ้ง - ฮ่องกง – มาเก๊า10 บริษัท นำร่องลงทุน 5 หมื่นล้านในไทย “จุฬา” ชี้เป็น โอกาสเชื่อม EEC กับ GBA รับการลงทุนระลอกใหญ่จากจีน เตรียมโรดโชว์เดือนหน้าปิดดีลลงทุน EV สมาร์ทอิเล็กทรอกนิกส์ พลังงานสะอาด ชี้ทิศทางจีนลงทุนในอีอีซีต่อเนื่อง
วานนี้ (28 มิ.ย.) รัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง สาธารณะรัฐประชาชนจีน ร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมณฑลกวางตุ้ง หรือ “CCPIT” จัดงานสัมมนาความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าจีน (กวางตุ้ง) และไทย โดยมีนักธุรกิจจีนจากมณฑลกวางตุ้ง และ กลุ่ม Greater Bay Area (GBA) รวมทั้งฮ่องกง และมาเก๊า กว่า 200 คนร่วมงาน
นายหวัง เว่ย โจง ผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง กล่าวว่ามณฑลกวางตุ้งถือว่าเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ ที่สำคัญของประเทศจีน ปัจจุบันมีขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)กว่า 19.7 ล้านล้านหยวนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของจีนต่อเนื่องมานานกว่า 34 ปี และถือว่ามีความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศไทยสูงมากโดยมูลค่าการค้าไทย – จีน กว่า 25% เกิดขึ้นในมณฑลนี้ และมีมูลค่าที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
โดยในปี 2017 ไทยกับมณฑลกวางตุ้งมีมูลค่าค้าขายระหว่างกันอยู่ที่ 1.52 แสนล้านหยวน แต่ในปี 2022 เพิ่มขึ้นเป็น 2.22 แสนล้านหยวนเติบโตเพิ่มขึ้นถึงกว่า 45% นอกจากนั้นยังมีนักท่องเที่ยวจากมณฑลกวางตุ้งเข้ามาท่องเที่ยวยังประเทศไทยปีละประมาณ 2 ล้านคน
นอกจากนี้มณฑลกวางตุ้ง และพื้นที่ GBA เป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจของจีนที่มีความเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์กับพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจากการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนในการประชุมผู้นำเอเปคเมื่อเดือน พ.ย.ปีก่อน ได้มีการกล่าวยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงเส้นทางสายไหมใหม่ (One Belt One Road) ของจีนมายังภูมิภาคอาเซียนผ่านการเชื่อมโยงกับอีอีซี
โดยในการประชุมสัมมนาครั้งนี้ได้มีการส่งเสริมให้เอกชนของจีนจากมณฑลกวางตุ้ง และ GBA เข้ามาลงทุนและทำธุรกิจในไทยร่วมกับพาร์ทเนอร์ในประเทศไทย โดยมีการลงนามในบันทึกความร่วมมือจับคู่ธุรกิจกว่า 10 โครงการ มูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท
ประกอบไปด้วยโครงการต่างๆได้แก่
1.โครงการนิคมอุตสาหกรรมไทย-กวางตุ้ง มูลค่าการลงทุน 11,000 ล้านบาท
2.โครงการความร่วมมือการค้าอะลูมิเนียม มูลค่า 5,000 ล้านบาท
3.โครงการอาหารเสริมและผลิตภัณฑ์อะมิโน มูลค่า 5,000 ล้านบาท
4.การส่งเสริมการลงทุนของบริษัท GAC Aion เพื่อผลิตรถไฟฟ้า (EV) มูลค่าการลงทุน 6,500 ล้านบาท
5.โครงการความร่วมมือเพื่อนำเข้าส่งออกสมุนไพร มูลค่า 1,500 ล้านบาท
6.โครงการศูนย์โลจิสติกส์ไฮเทค มูลค่า 10,000 ล้านบาท
7.การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ไม้หอมกฤษณา มูลค่า 5,000 ล้านบาท
8.การส่งออกรังนกไปยังประเทศจีน มูลค่า 3,200 ล้านบาท
9.โครงการศูนย์แสดงสินค้า มูลค่า 250 ล้านบาท
และ10.โครงการก่อสร้างศูนย์ E commerce มูลค่า 5,000 ล้านบาท
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่าที่ผ่านมาจีนถือว่าเป็นนักลงทุนสำคัญในพื้นที่อีอีซีโดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีสัดส่วนการลงทุนประมาณ 11% คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 2.2 แสนล้านบาท โดยคาดว่าทิศทางการลงทุนของจีนในประเทศไทยและในอีอีซียังสามารถที่จะเติบโตต่อเนื่องในอนาคต โดยในระยะ 5 ปีข้างหน้า (2566 - 2570) อีอีซีตั้งเป้าดึงการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่าสัดส่วนการลงทุนจากประเทศจีนในพื้นที่อีอีซีจะไม่ลดลงจากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
สำหรับพื้นที่มณฑลกวางตุ้ง และพื้นที่ GBA ถือว่าเป็นพื้นที่สำคัญที่อีอีซีจะเข้าไปดึงนักลงทุนจากพื้นที่เนื่องจากในพื้นที่นี้มีผู้ประกอบการชั้นนำในหลายอุตสาหกรรม มีความก้าวหน้าในทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจของจีนโดยมีขนาดจีดีพีใหญ่กว่าประเทศไทยประมาณ 5 เท่า และมีประชากรมากกว่าไทยถึง 4 เท่าถือว่าเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สามารถเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างกันได้เป็นอย่างดี
โดยในส่วนของความร่วมมือระหว่างอีอีซี กับมณฑลกวางตุ้ง และ GBA มีแผนจะร่วมมือกันในหลายอุตสาหกรรม เช่น รถ EV ที่ยังมีความต้องการลงทุนในไทยมาก นอกจากนั้นยังมีความต้องการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน เทคโนโลยีทางการแพทย์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น โดยในวันที่ 9 – 15 อีอีซีจะเดินทางไปโรดโชว์ที่มณฑลกวางตุ้งและเซี่ยงไฮ้เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการโดยเฉพาะในกลุ่มรถ EV พลังงานสะอาด และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นอุปกรณ์ที่เป็นสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นในอนาคต
“จีนอยู่ในช่วงการออกมาลงทุนครั้งใหญ่นอกประเทศเพื่อแสวงหาโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป ซึ่งประเทศไทยก็ถือว่าเป็นพื้นที่หนึ่งที่จีนสนใจเข้ามาลงทุน ทั้งนี้มองว่าเรื่องของปัจจัยทางการเมืองไม่กระทบ เพราะนักลงทุนดูในเรื่องปัจจัยพื้นฐาน และเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศเป็นสำคัญซึ่งประเทศไทยก็มีความพร้อม”นายจุฬา กล่าว