เปิดข้อมูล 20 จังหวัด ‘หนี้เสีย’พุ่ง ชงรัฐบาลใหม่ใช้ฐานข้อมูล ‘แก้จน’แม่นยำ
ปัญหาหนี้ครัวเรือน เป็นปัญหาใหญ่ในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย นอกจากการก่อหนี้จากการบริโภคมากขึ้น ยังพบว่าระดับหนี้ครัวเรือนของไทยปรับเพิ่มขึ้นทุกครั้งเมื่อเกิดวิกฤติกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นมหาอุทกภัยปี 54 และวิกฤติโควิด-19 ที่เพิ่งผ่านไป
การแก้ไขปัญหาความยากจน และปัญหาหนี้ครัวเรือนยังมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน โดยข้อมูลที่เปิดเผยโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ที่สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หรือ "หนี้เสีย" ในแต่ละจังหวัด (ผิดนัดชำระหนี้เกิน 90 วัน) โดยในส่วน NPL เกิดขึ้นในจังหวัดที่มีรายได้ต่ำและเมื่อเกิดวิกฤติทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงและทำให้ NPL เพิ่มขึ้น ซึ่งการแก้ไขปัญหาความยากจนจะช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วย
นายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาพหุภาคี “สู้ชนะความจน : บนฐานพลังความรู้ พลังภาคี” เพื่อหาทางพาประเทศออกจากปัญหาความยากจน จัดโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนถือปัจจัยที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยคือข้อมูล ณ ไตรมาส 3 ปี 2565 ที่เป็นข้อมูลล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 15 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 87% ของจีดีพี โดยระดับหนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ขึ้น
โดยการมีหนี้ครัวเรือนที่ระดับ 87% หมายความว่าแต่ละครัวเรือนมีรายได้ 100 บาทต้องไปใช้ชำระหนี้ 87 บาทเหลือใช้แค่ 13 บาท ซึ่งยังถือว่าเป็นระดับที่สูงมาก ซึ่งเป้าหมายแรกคือการปรับลดหนี้ครัวเรือนให้ลงมาอยู่ในระดับ 80% ซึ่งเป็นในระดับที่ยอมรับได้ในระดับสากล
นอกจากดูข้อมูลในระดับประเทศยังต้องดูข้อมูลหนี้ครัวเรือนในระดับจังหวัด จากข้อมูลของบริษัทเครดิตแห่งชาติ (NCB) พบว่าจำนวนหนี้ NPL ของจังหวัดที่ครัวเรือนมีรายได้ต่ำ 20 จังหวัด มีจำนวน NPL เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 และ 18 ใน 20 จังหวัด มีหนี้ NPL สูงกว่าค่าเฉลี่ยของ NPL ทั้งประเทศ โดยจำนวนนี้คือหนี้ในระบบที่รวบรวมข้อมูลได้ แต่ถ้ารวมหนี้นอกระบบด้วยจะมากไปกว่านี้ และทำให้การแก้ปัญหาหนี้และการแก้ปัญหาความยากจนทำได้ยากยิ่งขึ้น
20 จังหวัดที่มีปัญหาหนี้ NPL สูง จากการวัดจากสัดส่วนบัญชี NPL ของแต่ละจังหวัด ได้แก่
- จ.กาฬสินธุ์
- จ.อำนาจเจริญ
- จ.นราธิวาส
- จ.ร้อยเอ็ด
- จ.มุกดาหาร
- จ.ยโสธร
- จ.สุรินทร์
- จ.ชัยนาท
- จ.พัทลุง
- จ.ยะลา
- จ.อุบลราชธานี
- จ.บุรีรัมย์
- จ.ศรีสะเกษ
- จ.นครราชสีมา
- จ.สกลนคร
- จ.พิษณุโลก
- จ.เลย
- จ.ลำปาง
- จ.ปัตตานี
- จ.แม่ฮ่องสอน
โดยในจำนวน 20 จังหวัดที่มีจำนวนหนี้ NPL สูงสุดนั้นมี 18 จังหวัดที่มีบัญชีหนี้ NPL สูงกว่าระดับ 15.6% ซึ่งเป็นสัดส่วนหนี้ NPL เฉลี่ยของทุกจังหวัดทั่วประเทศ
โดยมีจังหวัดที่มีระดับหนี้ NPL อยู่ในสัดส่วน 20% หรือมากกว่า 20% อยู่ 3 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ และ นราธิวาส
ขณะที่ยังมีจังหวัดที่มีสีดส่วนบัญชีหนี้ที่เป็น NPL สูงในระดับ 15 – 20% อีกหลายจังหวัดเช่น ร้อยเอ็ด มุกดาหาร ยโสธร สุรินทร์ ชัยนาท พัทลุง ยะลา อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ศรีษะเกษ นครราชสีมา สกลนคร พิษณุโลก เลย และลำปาง
นายจิตเกษม กล่าวต่อว่า ข้อมูล NPL รายจังหวัดสะท้อนปัญหาหนี้สินในระดับพื้นที่ ซึ่งการที่มีหนี้มากๆเป็นสิ่งที่น่ากังวล จะฉุดรั้งการขยายตัวเศรษฐกิจ กระทบเสถียรภาพการเงิน เพราะจะกระทบกับการชำระหนี้ เมื่อความสามารถในการชำระหนี้น้อย ลูกหนี้จ่ายหนี้ไม่ได้ เจ้าหนี้ก็อยู่ไม่ไหว หมายความว่าสถาบันการเงินบางประเภทอยู่ไม่ได้ ธนาคารก็มีสภาพคล่องลดลง นำไปสู่ปัญหาสังคมที่จะตามมาเรียกได้ว่าผลกระทบจะเกิดเป็นวงกว้างทั้งกระทบลูกหนี้ เจ้าหนี้ สังคม และประเทศชาติ
“หากครัวเรือนปลอดจากปัญหากับดักหนี้ ประชาชนสามารถบริหารจัดการภาระหนี้ได้ดีและยั่งยืนขึ้น จะช่วยลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงินในระยะยาว ภาคการเงินจะมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง” นายจิตเกษม กล่าว
แนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนและแก้ไขอย่างยั่งยืน ได้แก่
1.หนี้เสีย 4.5 ล้านบัญชี เป็นหนี้ในช่วงสถานการณ์โควิด และอยู่ในสถาบัน เช่น ธกส. Non-bank ควรจะต้องแนะนำและให้ความช่วยเหลือในการแก้หนี้ เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ในระยะยาว การให้คำปรึกษา การไกล่เกลี่ยหนี้
2.หนี้เรื้อรัง เช่น จ่ายแต่ดอกเบี้ยหรือจ่ายขั้นต่ำนานๆ ดังนั้นควรมีแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกับเจ้าหนี
3.หนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นต้องปล่อยสินเชื่อตามความสามารถในการชำระหนี้ ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ เจ้าหนี้ต้องคำนึงถึงศักยภาพในการชำระหนี้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ชำระหนี้เร็วขึ้น การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนโดยนำความรู้ทางการเงินมาช่วยแก้ไขผ่านระบบการศึกษา
4.หนี้มีอยู่ต้องแก้หนี้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และปัญหาของลูกหนี้ ไม่พักชำระหนี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ปรับโครงสร้างหนี้ ควบคู่กับแนวทางในการให้ความรู้ทางการเงิน Financial Literacy โดยมีการปรับพฤติกรรม การให้ความรู้ การเตรียมความพร้อมเรื่องเครื่องมือต่างๆ
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาใหญ่มากที่ต้องใช้ข้อมูลที่ถูกต้องในระดับพื้นที่เพื่อนำมาสู่การแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ โดยพื้นที่เป้าหมายที่ บพท.ทำงานในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา ได้มุ่งไปยังจังหวัดยากจนที่มีรายได้ต่ำ และมีดัชนีความก้าวหน้าของคนอยู่ในอันดับท้ายๆของประเทศมาเป็นพื้นที่เป้าหมายในการทำงาน โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งหน่วยงานราชการ สถานศึกษา ภาคประชาสังคม ชุมชนพื้นที่มาทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนโดยใช้งานวิจัย และความรู้ทางวิชาการมาใช้แก้ปัญหา
โดยในการทำงานจะเริ่มจากการสอบทานข้อมูล “คนจน” จากฐานข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) พร้อมกับใช้ฐานทุน 5 ด้านในการสอบทานข้อมูลคนจน ซึ่งการมีข้อมูลที่แม่นยำในระดับพื้นที่ทำให้สามารถแก้ปัญหาความยากจนอย่างแม่นยำ รวมทั้งสามารถส่งต่อความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางได้อย่างรวดเร็วและเป็นระบบ
ที่ผ่านมา บพท.ได้มีการลงนามความร่วมมือกับสถานบันการศึกษาในพื้นที่และผู้ว่าราชการจังหวัด ในการทำพื้นที่นำร่องในการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่เป้าหมายจาก 20 จังหวัดได้กำหนดเป้าหมายเป็นพื้นที่แซนด์บ็อกที่จะแก้ปัญหาคนจนแบบยกจังหวัดให้ได้แบบเบ็ดเสร็จภายในปี 2570 โดยกำหนดพื้นที่ 7 จังหวัดเพื่อกำหนดเป็นพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจน และสร้างโอกาสทางสังคม ได้แก่ จ.ลำปาง จ.กาฬสินธุ์ จ.มุกดาหาร จ.ร้อยเอ็ด จ.พัทลุง จ.ปัตตานี และจ.ยะลา
ทั้งนี้แนวทางการแก้ปัญหาความยากจนที่จะเสนอให้กับรัฐบาลใหม่นอกจากทำพื้นที่แซนด์บ็อกใน 7 จังหวัดแล้ว บพท.จะเสนอให้แนวคิดไปทางรัฐบาลใหม่ให้มีการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ควรมีเจ้าภาพในระดับพื้นที่ที่เป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชน และมีหน้าที่ในการบริหารจัดการโดยเพิ่มเรื่องขจัดความยากจนให้เป็นบทบาทหนึ่งในการบริการสาธารณะโดยเป็นบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
รวมทั้งสร้างระบบฐานข้อมูลเพื่อขจัดความยากจนแบบชี้เป้าระดับพื้นที่ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่ที่ จำเป็นต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการสร้าง Pro-Poo ห่วงโซ่การผลิต (Value Chain) เพื่อยกระดับห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจชุมชนแบบฐานทรัพยากรของพื้นที่ เพื่อสร้างงานและอาชีพให้กับครัวเรือนแบบมุ่งเป้าและดึงคนจนเป้าหมายเข้ามาอยู่ใน Value Chain เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน โดยเชื่อมโยงกับธุรกิจชุมชน (Local Business) เข้ามาไว้ด้วยกันเพื่อให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้นในพื้นที่ด้วยซึ่งจะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความยากจนได้สำเร็จเหมือนกับที่ประเทศจีนสามารถทำได้สำเร็จมาแล้ว