เช็คก่อนชัวร์ ! เปิดตารางค่าโดยสาร ‘น้องเก๊กฮวย’ เริ่มเก็บเงิน 3 ก.ค.นี้
พรุ่งนี้ ! รฟม.เตรียมเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ เริ่มจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง พร้อมแนะ 3 วิธี ชำระค่าโดยสาร รับส่วนลดค่าแรกเข้าด้วยบัตร EMV
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ผู้รับสัปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ประกาศเตรียมเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ทั้ง 23 สถานี จากสถานีลาดพร้าว ถึงสถานีสำโรง ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป โดยจะเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00 – 24.00 น. พร้อมทั้งจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 45 บาท โดยมีรายละเอียดอัตราค่าโดยสาร ดังนี้
ขณะเดียวกันผู้โดยสารสามารถชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง ได้ 3 วิธี ดังนี้
บัตรโดยสารประเภทเที่ยวเดียว (Single Journey Card) โดยออกบัตรได้ที่เครื่องจำหน่ายบัตรโดยสาร หรือ ติดต่อเจ้าหน้าที่ ณ ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร ภายในสถานี ทั้งนี้ กรณีผู้ได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถนำบัตรประชาชนติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อออกบัตรโดยสารประเภทเที่ยวเดียว ได้ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร
บัตรแรบบิท (บัตรโดยสารประเภทเติมเงิน)
บัตร EMV Contactless โดยใช้บัตรเครดิตวีซ่า (VISA) หรือมาสเตอร์การ์ด (Mastercard) ของธนาคารใดก็ได้ รวมถึงบัตรเดบิตของธนาคารกรุงไทย บัตรเดบิตของธนาคารยูโอบี และบัตรเดบิต Play Card (สมัครผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังค์) ที่มีสัญลักษณ์ Contactless Payment บนหน้าบัตรหรือหลังบัตร
โดยสามารถแตะเข้าและแตะออกระบบรถไฟฟ้าที่จุดให้บริการเครื่อง EDC บริเวณประตูพิเศษ (Swing Gate) และหลังจากนี้เอกชนผู้รับสัมปทานมีแผนจะขยายจุดให้บริการเพิ่มเติมให้ครบทุกประตูจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (AFC Gate) ในลำดับถัดไป
สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางเชื่อมต่อระหว่างระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง – MRT สายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) ที่สถานีลาดพร้าว และชำระค่าโดยสารด้วยบัตร EMV Contactless ใบเดียวกัน จะได้รับส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบ ยกเว้นค่าแรกเข้า หากเดินทางเชื่อมต่อภายในระยะเวลา 30 นาที ซึ่งการยกเว้นค่าแรกเข้านั้นจะแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
- หากเดินทางจาก “สายสีน้ำเงิน” เข้าไปยัง “สีเหลือง” จะได้รับยกเว้นค่าแรกเข้า 15 บาท
- หากเดินทางจาก “สายสีเหลือง” เข้าไปสู่ “สีน้ำเงิน” จะได้รับยกเว้นค่าแรกเข้า 14 บาท
อย่างไรก็ดี เมื่อผู้โดยสารแตะบัตรเข้าระบบรถไฟฟ้า จะถูกเก็บเต็มราคาก่อน และจะได้รับคืนเงินค่าแรกเข้ากลับเข้าบัตรเครดิต/เดบิต ไม่น้อยกว่า 3 วัน ซึ่งระยะเวลาการได้เงินคืนนั้น ขึ้นอยู่กับธนาคารผู้ออกบัตรด้วย ส่วนบัตรอื่นๆ รวมถึงบัตร/เหรียญของผู้ให้บริการแต่ละราย ยังเสียค่าแรกเข้าตามปกติ
ทั้งนี้ รูปแบบการชำระค่าโดยสารในเบื้องต้นนั้น หากเปรียบเทียบแล้วจะพบว่าการชำระค่าโดยสารด้วยบัตร EMV เป็นทางเลือกของประชาชนที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายจากการจัดเก็บค่าแรกเข้า กรณีต้องเปลี่ยนระบบรถไฟฟ้าระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในจำนวนประมาณ 15 บาท โดยหากประชาชนเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเป็นประจำ จะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือนราว 600 บาท คำนวณจากค่าแรกเข้าที่ถูกลดหย่อนจากการเดินทางวันทำงานไปกลับจำนวน 30 บาทต่อวัน