นักธุรกิจต่างชาติแห่ถามตั้งรัฐบาล ส.อ.ท.ห่วงชะลอลงทุนรอความชัดเจน
นักธุรกิจไทย-ต่างชาติ หวังตั้งรัฐบาลได้เร็ว ส.อ.ท.ชี้ผ่านมาเดือนครึ่ง ฟอร์มรัฐบาลไม่เรียบร้อย ระบุยิ่งช้ายิ่งฉุดความเชื่อมั่น ต่างชาติชะลอลงทุนรอความชัดเจน
ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 พรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลรวม 8 พรรค และที่ผ่านมาได้มีคณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาลที่ร่วมกันหารือเพื่อเตรียมความพร้อมในการบริหารประเทศ
ทั้งนี้ได้มีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการเสนอชื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย รวมทั้งมีประเด็นที่อาจนำไปสู่การยืดเยื้อในการตั้งรัฐบาล
รวมทั้งปัจจัยทางการเมืองที่ภาคธุรกิจกำลังจับตาอย่างใกล้ชิดในขณะนี้มี 4 ประเด็น คือ
1.การเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยต้องการเสนอชื่อ และทำให้การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลไม่เรียบร้อย
2.การตีความคุณสมบัติของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี กรณีการถือหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีการยื่นเรื่องถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้พิจารณา
3.การจัดตั้งรัฐบาลมีความยืดเยื้อและมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่อาจมีความยืดเยื้อในกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ลงคะแนนให้นายพิธา ไม่เพียงพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี และอาจทำให้การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรียืดเยื้อ
4.การชุมนุมทางการเมือง ที่อาจเกิดขึ้นจากทั้งกลุ่มที่สนับสนุนพรรก้าวไกลเป็นรัฐบาลที่จะไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคชนะการเลือกตั้งไม่ได้รับการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งอาจมีการชุมชนจากกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลชุดเดิมที่ไม่ต้องการให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนมีความกังวลต่อปัจจัยทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการจัดตั้งรัฐบาลในปัจจัยดังกล่าว
ทั้งนี้เนื่องจากการที่พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลสามารถรวบรวมเสียงได้ 312 เสียง หรือคิดเป็นสัดส่วน 3 ใน 5 ของสภาผู้แทนราษฎรแต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทั้งที่การได้เสียงระดับนี้ในต่างประเทศจะจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นที่เรียบร้อย
ในขณะที่การชุมนุมทางการเมืองที่มีโอกาสเกิดขึ้นทั้งจากกลุ่มสนับสนุนพรรคก้าวไกลและกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยถึงแม้ว่าลักษณะการชุมชนในช่วงที่ผ่านมาจะไม่ยืดเยื้อ แต่การชุมนุมจะมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ปัจจัยทางการเมืองดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุนในไทย ซึ่งแม้การตัดสินใจลงทุนจะพิจารณาระยะยาว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยทางการเมืองเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่พิจารณา โดยผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) แบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
1.การพิจารณาลงทุนของบริษัทที่ลงทุนในไทยอยู่แล้ว โดยกลุ่มนี้จะมีฐานการผลิตในไทยได้สอบถามสถานการณ์การเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลกับนักธุรกิจไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อรายงานต่อบริษัทแม่ในต่างประเทศ เพราะการจัดตั้งรัฐบาลของไทยถูกจับตาจากนานาชาติอยู่แล้ว และการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าเป็นประเด็นที่ต้องรายงานต่อบริษัทแม่
“ถึงแม้ว่ากลุ่มนี้จะมีฐานการผลิตในไทยมานานแต่ก็กังวลกับความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล จึงได้สอบถามความคืบหน้ามาที่ภาคเอกชนไทยตลอด”
2.การพิจารณาลงทุนของบริษัทที่ยังไม่เคยมาลงทุนในไทย ซึ่งบริษัทข้ามชาติกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ภาครัฐและภาคเอกชนไทยร่วมกันดึงเข้ามาลงทุน โดยกลุ่มนี้จะศึกษาความเหมาะสมในการลงทุนเปรียบเทียบหลายประเทศพร้อมกัน และอาจพิจารณาประเทศในอาเซียน 1-2 ประเทศ
รวมทั้งในช่วงนี้ที่อยู่เลือกตั้งเสร็จแล้วและกำลังจัดตั้งรัฐบาลก็จะรอดูว่าภายใน 3 เดือน จะจัดตั้งเรียบร้อยหรือไม่ และถ้ามีปัญหายืดเยื้อและพิจารณาแล้วไม่มีแรงสนับสนุนการลงทุนจากรัฐบาลไทยก็อาจตัดสินใจไปลงทุนในประเทศอื่น
ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าจะส่งผลต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ในปี 2566 และอาจมีผลต่อเนื่องถึงปี 2567 โดยเฉพาะในกรณีที่มีการชุมชนุมทางการเมือง
1 เดือนครึ่งยังตั้งรัฐบาลยังไม่เสร็จ
“เลือกตั้งมาแล้ว 1 เดือน ครึ่ง แต่การฟอร์มรัฐบาลยังไม่เรียบร้อย ยังไม่แน่นอนว่าพรรคอันดับ 1 จะจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จหรือไม่ เพราะมีข่าวที่เป็นปัจจัยลบต่อการจัดตั้งรัฐบาลเข้ามาตลอด ทำให้บริษัทต่างชาติสอบถามเรื่องนี้เข้ามา”
นอกจากนี้ ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลยังมีผลกระทบถึงการลงทุนภาครัฐ เพราะรัฐบาลชุดปัจจุบันรักษาการมาตั้งแต่เดือน ก.พ.2566 ซึ่งในช่วงรักษาการจะอนุมัติโครงการไม่ได้จึงทำให้ทุกกระทรวงต้องชะลอโครงการใหม่ เพื่อรอรัฐบาลใหม่มาพิจารณาอนุมัติ
รวมแล้วทำให้อาจต้องให้รัฐบาลชุดปัจจุบันรักษาการถึง 5-6 เดือน และเมื่อการลงทุนภาครัฐชะลอจะทำให้การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวตามไปด้วย
"สิ่งที่ภาคเอกชนมีความกังวลสถานการณ์เมืองในอนาคตจะสร้างเงื่อนไขที่ทำให้มีการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งอาจเกิดการชุมนุมได้จากทุกกลุ่ม"
ดังนั้นจำเป็นที่ฝ่ายการเมืองจะต้องไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดการชุมนุม โดยจำเป็นต้องฟังเสียงของคนส่วนใหญ่ เพราะถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปอาจทำให้เกิดการชุมนุม
“ขอให้ทุกคนเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง และเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะสุญญากาศทางเศรษฐกิจ”นายเกรียงไกร กล่าว