‘บีโอไอ’ เร่งดึงอุตสาหกรรมเป้าหมาย ชี้รัฐบาลเปลี่ยนขั้วไม่กระทบการลงทุน
“บีโอไอ” มั่นใจยอดส่งเสริมลงทุนปีนี้แตะ 6 แสนล้านบาท ชี้การเมืองไม่เป็นอุปสรรคดึงลงทุน เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่แก้อุปสรรคการลงทุน โรคโชว์หลายประเทศ ดึงลงทุนชิปต้นน้ำ ดิจิทัล อีวี “สุพัฒนพงษ์” สั่งให้ความมั่นใจนักลงทุน ชี้นโยบายต่อเนื่องแม้รัฐบาลเปลี่ยนขั้ว
ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา (2561-2565) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เข้ามายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากจีนมีมูลค่าอันดับ 1 อยู่ที่ 450,085 ล้านบาท รองลงมาเป็นญี่ปุ่น 320,367 ล้านบาท , สิงคโปร์ 122,332 ล้านบาท
ฮ่องกง 119,289 ล้านบาท และสหรัฐ 107,026 ล้านบาท โดยในปี 2566 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลทำให้บริษัทต่างชาติต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า บีโอไออยู่ระหว่างการจัดทำแผนการดึงการลงทุนเพื่อเสนอรัฐบาลใหม่ โดยส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี แต่จะช่วยสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศน์ภาพรวมที่ดีในการลงทุนในประเทศไทย เช่น การปรับปรุงเรื่องของความจากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of doing business)
รวมถึงจัดทำแนวทางการส่งเสริมและขับเคลื่อน 5 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายที่บีโอไอให้ความสำคัญ ได้แก่
1.เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG)
2.อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
3.สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์
4.ดิจิทัล
และ 5.ครีเอทีฟ
นอกจากนี้จะมีแนวทางการส่งเสริมการตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามชาติในไทย (International Headquarters : IHQ) และการพัฒนาแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต
ลุยแผนโรดโชว์จีน-ญี่ปุ่น
ส่วนแผนการโรดโชว์เพื่อดึงดูดการลงทุนของบีโอไอได้วางแผนไว้ที่จะเดินทางไปอีกหลายประเทศ โดยภายในสิ้นปีงบประมาณ 2566 มีแผนที่จะเดินทางไปโรดโชว์ต่อเนื่อง เพราะขณะนี้มีการเปิดประเทศแล้วหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งทำให้ทุกประเทศแข่งขันกันในการดึงการลงทุนอย่างมาก
ทั้งนี้ บีโอไอมีแผนจะเดินทางไปยังฝั่งตะวันตกของประเทศจีน เช่น เมืองฉงชิ่งและเฉิงตู และจากนั้นจะเดินทางไปโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่นอีกรอบ ก่อนที่จะเดินทางไปโรดโชว์ที่สหรัฐฯทางด้านฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นฐานการผลิตไบโอเทค รถยนต์ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับ BCG และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับแนวโน้มการลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศไทยยังมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ปี 2566 มียอดคำขอรับส่งเสริมการลงทุน 1.8 แสนล้านบาท โดยมูลค่าคำขอการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้คาดว่ามีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง รวมทั้งคาดว่าปีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนของปีนี้จะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท
มั่นใจการเมืองไม่กระทบลงทุน
ทั้งนี้แม้ไทยจะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล แต่นักลงทุนต่างชาติที่ตัดสินใจเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตจะมองปัจจัยที่สนับสนุนการลงทุนระยะยาว ซึ่งทำให้นักลงทุนมองประเด็นอื่นสำคัญมากกว่าปัจจัยทางการเมือง เช่น พื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ ความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความพร้อมของซัพพลายเชน ความพร้อมของสถานที่ในการลงทุน สิทธิประโยชน์ที่จะส่งเสริมการลงทุน
รวมทั้งความพร้อมของแรงงานที่จะรองรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมปัจจัยดังกล่าวมากกว่าเมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค
นืกจากนี้ในปัจจุบันเป็นช่วงเวลาทองของประเทศไทยในการส่งเสริมและดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา เพราะหลายประเทศกำลังมองหาที่ตั้งฐานการผลิตแห่งใหม่ในประเทศที่ 3 ที่ไม่มีความขัดแย้งในเรื่องสงครามการค้า รวมทั้งนักลงทุนจากยุโรปสนใจย้ายการผลิตเข้ามาในภูมิภาค หรือลงทุนโรงงานแห่งใหม่ในไทยเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากสงครามยูเครนและรัสเซีย
“วันนี้เมืองไทยเป็นช่วงยุคทอง มีโอกาสในการดึงการลงทุนอีกมาก ส่วนปัจจัยทางการเมืองมีผลบ้าง แต่นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในส่วนของการสร้างโรงงานตั้งฐานการผลิต ตั้งสำนักงานใหญ่ภูมิภาค มองหลายองค์ประกอบประกอบกัน ซึ่งปัจจัยทางการเมืองเป็นแต่ส่วนนึงเท่านั้น หากมีทิศทางที่ดีชัดเจนก็เป็นผลดีกับการตัดสินใจของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
ดังนั้น ไทยถือว่ามีความพร้อมมากในการรองรับการลงทุน FDI นักลงทุนหิ้วกระเป๋าเข้ามาใบเดียวสามารถลงทุนได้เลย ที่สำคัญคือประเทศไทยมีซัพพายเชนในหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ ปิโตรเคมี และอิเล็กทรอนิกส์ที่สนับสนุนการผลิต
ส่วน FDI ที่ไปยังเวียดนามและอินโดนีเซีย เป็นคนละกลุ่มกันส่วนใหญ่เป็นสาขาการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น หรือเป็นธุรกิิจค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เข้าไปลงทุนรับการเติบโตประชากรที่เพิ่มขึ้น
อุตสาหกรรม“อีวี”มาแรง
นอกจากนี้ การส่งเสริมการลงทุนในปีนี้ นอกจากการลงทุนในโรงงานการผลิตรถไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องซึ่งประเทศไทยมีการเติบโตมาก ทำให้ค่ายรถยนต์ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนมาก โดยเร็วๆนี้จะยังมีการประกาศการเข้ามาลงทุนในไทยของผู้ผลิตรถยนต์เพิ่มเติม อุตสาหกรรมที่มีคำขอส่งเสริมการลงทุนมากก็ คือ อิเล็กทรอนิกส์กลางน้ำ ซึ่งมีการลงทุนทั้งในส่วนไลน์การผลิต และลงทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อยกระดับการผลิตในระดับต่อไป
นอกจากนั้นกิจการที่เข้ามาลงทุนหลายรายเป็นกิจการดาต้าเซนเตอร์ และคลาวคอมพิวเตอร์ ที่เข้ามาลงทุนตามเงื่อนไขการจัดหาพลังงานสะอาดให้กับการผลิตไฟฟ้าตามแนวทางของบริษัทที่เป็นกลุ่ม “RE100” ซึ่งจะมีการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้เข้ามามาอีกมาก ส่วนสิ่งที่ต้องพยายามต่อไปคือการดึงการลงทุนในส่วนของอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ เพื่อสร้างให้ซัพพายเชน ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยให้มีความสมบูรณ์
“สุพัฒนพงษ์”สั่งบีโอไอเพิ่มเชื่อมั่น
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการบีโอไอในฐานะหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของประเทศให้ความมั่นใจกับนักลงทุนว่านโยบายของไทยในการส่งเสริมการลงทุนไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล โดยเร็วๆนี้จะมีนักลงทุนจากจีนเข้าจะมาลงทุนเพิ่มเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และไบโอพลาสติก ซึ่งกำลังหารือเรื่องของสิทธิประโยชน์ในขั้นสุดท้าย
ทั้งนี้จากการประเมินนโยบายเศรษฐกิจในระยะยาวของแต่ละพรรคการเมืองมองว่าทิศทางนโยบายเหมือนกันหมดทั้งเรื่องการส่งออก การส่งเสริมการค้าเสรีโดยการเจรจาเอฟทีเอกับต่างประเทศ หน้าที่ของพรรคการเมืองคือจะทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นในศักยภาพการของไทยที่ยังสามารถรองรับการลงทุนได้อยู่
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากบีโอไอเรื่องการเดินทางไปโรดโชว์ที่เกาหลีใต้ ซึ่งแนวโน้มถือว่าดี โดยนักลงทุนในเกาหลีใต้สนใจเรื่องอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอีวี แต่มีเงื่อนไขบางประการที่ต้องการให้เราส่งเสริมมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะต้องส่งต่อให้รัฐบาลใหม่ไปดำเนินการต่อ ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายต่อเนื่องได้จากรัฐบาลปัจจุบัน
“คาดว่าการจัดตั้งรัฐบาลคงใช้เวลาอีกไม่นาน หน้าที่ที่ดีที่สุดตอนนนี้คือต้องสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุน ในช่วงการเปลี่ยนถ่ายรัฐบาลระหว่างที่จะมีรัฐบาลใหม่เข้ามา นโยบายของทุกพรรคพอมากางดูแล้วแต่ส่วนใหญ่ไม่มีความแตกต่างในเรื่องทิศทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นแนวโน้มการเติบโตในอนาคต ส่วนการพัฒนาคนเป็นหน้าที่ที่ต้องทำเพิ่ม เพื่อเป็นที่พอใจของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในไทย” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว