ธปท. จ่องัดมาตรการรับ 'หนี้ครัวเรือน' พุ่ง 90%

ธปท. จ่องัดมาตรการรับ 'หนี้ครัวเรือน' พุ่ง 90%

ธนาคารแห่งประเทศไทยห่วงหนี้ครัวเรือนทะลุ 90% ของจีดีพี พร้อมติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ผลักดันมาตรการแก้หนี้ระยะยาว ออกแนวทางแก้หนี้อย่างยั่งยืน ครอบคลุมตลอดวงจรหนี้ตั้งแต่การก่อหนี้ใหม่ การดูแลหนี้เดิม รวมถึงช่วยประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในระบบ

ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ระบุ ธปท. ติดตามสถานการณ์หนี้ครัวเรือนใกล้ชิด และผลักดันการดำเนินการตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาวกับเจ้าหนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เจ้าหนี้ยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ให้กลับมาฟื้นตัวได้ 

โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ทยอยลดลงจากที่เร่งตัวสูงในช่วงโควิด โดย ณ ไตรมาส 1 ปี 2566 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อ GDP ขณะที่จำนวนบัญชี และยอดหนี้ของสินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 90 วัน จากผลกระทบของโควิด ล่าสุดได้ทยอยปรับลดลงจากจุดสูงสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2565 แล้ว จากการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

ทั้งนี้ ธปท. จะเร่งออกแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องทำอย่างครบวงจร ถูกหลักการ และร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยแนวทางดังกล่าวจะครอบคลุมตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่การก่อหนี้ใหม่ที่มีคุณภาพ การดูแลหนี้เดิมโดยเฉพาะ NPL และหนี้เรื้อรัง รวมถึงช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในระบบ 

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนอื่น เพื่อขยายผลไปยังอีก 30% ของหนี้ครัวเรือนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ด้วย เช่น การปลูกฝังให้ลูกหนี้มีความรู้ และวินัยทางการเงิน การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบของเจ้าหนี้ทั้งระบบ การพัฒนาฐานข้อมูลที่ใช้ประเมิน และติดตามหนี้ และการแก้จน/ สร้างรายได้ เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์