เศรษฐศาสตร์เพื่อความยั่งยืนที่แท้จริง | วิทยากร เชียงกูล
“การพัฒนาอย่างยั่งยืน” มีความเข้มข้นเอาจริงเอาจังมากกว่าที่นักการเมืองนักธุรกิจ พูดจากันแบบผิวเผิน การพัฒนาอย่างยั่งยืนหมายถึงต้องอนุรักษ์ทรัพยากรรวมทั้งพลังงานไว้ให้ใช้ได้กันถึงรุ่นลูกหลาน ไม่ใช่เรื่องแค่ทำกิจกรรมที่อ้างว่าลดการปล่อยคาร์บอนได้นิดหน่อย
ระบบเศรษฐกิจไทยเป็นทุนนิยมแบบกึ่งผูกขาด ที่มีอำนาจในการซื้อและกำหนดการใช้ทรัพยากรมากที่สุด ผู้บริโภคที่ร่ำรวยก็มีอำนาจในการเลือกซื้อสินค้าที่พวกเขาต้องการ รวมทั้งสินค้าฟุ่มเฟือยได้มาก
ผู้ผลิตจึงสนใจจะเลือกใช้ทรัพยากรเพื่อผลิตสินค้าฟุ่มเฟือยไปขายให้คนรวย คนชั้นกลางผู้มีกำลังซื้อ มากกว่าที่จะผลิตสินค้าที่จำเป็นหรือเป็นประโยชน์ ไปขายให้คนจนที่มีกำลังซื้อน้อยกว่า การผลิตสินค้าและบริการตามแนวคิดของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมจึงเป็นระบบทำลายระบบนิเวศมาก
ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมเน้นเรื่องประสิทธิภาพส่วนตัว (หน่วยผลิตเอกชน) และการแสวงหากำไรสูงสุดของปัจเจกชนส่วนน้อย ทำให้มีการใช้ทรัพยากร ใช้พลังงานในการผลิตและการบริโภคอย่างมากและเร็วเกินไป
ทำให้ทั้งประเทศไทยและโลกมีปัญหาความไม่สมดุลในหลายด้าน เกิดวิกฤตหรือปัญหาใหญ่ทางเศรษฐกิจสังคมการเมือง และวิกฤตสิ่งแวดล้อม เช่น โลกร้อน ภูมิอากาศแปรปรวน ฯลฯ
เศรษฐศาสตร์แนวเพื่อระบบนิเวศ ซึ่งต่างจากเศรษฐศาสตร์แนวทุนนิยมแบบคนละขั้ว ตีความประสิทธิภาพสูงสุดในแง่การตัดสินใจเลือกใช้ทรัพยากรในการผลิตสินค้าและบริการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม และอย่างทั่วถึง เป็นธรรมเพิ่มขึ้น เช่น การลงทุนผลิตพลังงานทางเลือก เช่น ไฟฟ้าจากแสงแดดหรือทางเลือกอื่นๆ นั้น ต้องลงทุนในช่วงแรกสูง
นายทุนเอกชนมองว่าได้กำไรสู้การลงทุนใช้พลังงานฟอสซิล (น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซ) แบบเก่าไม่ได้ (หรือได้ช้าเกินไป) แต่ถ้ามองในแง่ต้นทุนและผลประโยชน์เพื่อส่วนรวมระยะยาว การลงทุนผลิตและใช้พลังงานทางเลือกนั้นมีความคุ้มค่าต่อสังคมมากกว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลที่สร้างมลภาวะที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพสูง
เรื่องนี้รัฐบาลต้องเข้ามาปฏิรูปทั้งระบบ ส่งเสริมให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดเองได้ โดยรัฐบาลช่วยสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และกำหนดให้การไฟฟ้าต้องรับซื้อคืนไฟฟ้าที่ประชาชนผลิตได้แล้วมีเหลือใช้คืนในราคาใกล้เคียงกับที่การไฟฟ้าคิดจากประชาชน (ปัจจุบันรับซื้อในราคาต่ำกว่ามาก)
เศรษฐศาสตร์แนวเพื่อระบบนิเวศ มองว่า ที่ดินที่ปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุด ไม่ได้เป็นแค่ปัจจัยการผลิตหนึ่งในกระบวนการผลิตสินค้าต่างๆ เท่านั้น แต่ที่ดิน (รวมทั้ง ป่าไม้ แหล่งน้ำ สิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ) ยังเป็นทุนทางธรรมชาติ ที่ผลิตอาหาร ปุ๋ย น้ำ ในห่วงใช่อาหาร พลังงาน วัตถุดิบและการให้บริการทางระบบนิเวศ ที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายในโลก รวมทั้งมนุษย์
ที่ดินจึงเป็นทรัพยากรธรรมที่มี “มูลค่าการใช้สอยสูง” กว่า “มูลค่าการแลกเปลี่ยน” มาก หลักคิดของเศรษฐศาสตร์แบบทุนนิยมอุตสาหกรรมกำหนดราคาหรือค่าเช่าที่ดินตามมูลค่าแลกเปลี่ยนในตลาดเท่านั้น แต่เศรษฐศาสตร์แนวระบบนิเวศคิดรวมต้นทุนทางสังคมของที่ดิน ที่มีผลกระทบต่อคนทั้งสังคมในหลายด้านไว้ด้วยเสมอ
เศรษฐศาสตร์แนวเพื่อระบบนิเวศมองว่า เราต้องวัดประสิทธิภาพของการผลิต การบริโภค ในแง่ของการใช้วัตถุดิบและพลังงานให้น้อยที่สุดเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากที่สุด ไม่ใช่วัดในแง่ของต้นทุนและผลตอบแทนที่คิดเป็นตัวเงินของหน่วยผลิตเอกชนแห่งใดแห่งหนึ่ง
เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับมหภาค (ประเทศและโลก) คือ การทำให้ระบบนิเวศ (ระบบธรรมชาติ/สิ่งแวดล้อม) อยู่ได้อย่างยั่งยืน เราจึงต้องหาแนวทางวิธีการใช้วัตถุดิบและพลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม
การกระจายผลผลิตบริการ/รายได้อย่างทั่วถึงเป็นธรรม เศรษฐศาสตร์แนวทุนนิยมอุตสาหกรรมอ้างว่า เมื่อเศรษฐกิจโดยรวมเติบโต กลไกตลาดที่มีการแข่งขันเสรี จะทำให้ทุกคนรวมทั้งคนจน มีส่วนได้รับความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นตามลำดับ
แต่ระบบทุนนิยมที่ดำรงอยู่ในโลกจริงเป็นระบบผูกขาดโดยทุนขนาดใหญ่ เป็นตลาดเสรีแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ทุนใหญ่ได้เปรียบทุนเล็ก นายทุนทั้งหลายเอารัดเอาเปรียบทั้งทรัพยากรธรรมชาติและแรงงาน ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ในคนกลุ่มน้อย คนรวยคนชั้นกลางร่ำรวยขึ้น บริโภคมากขึ้นอย่างฟุ่มเฟือย คนจนส่วนใหญ่ยากจนลง ขาดแคลนปัจจัยที่จำเป็น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก
คนจนในประเทศรายได้ต่ำถูกบีบบังคับให้สถานการณ์ต้องไปบุกรุก ถางป่า ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ไม้ฟืน ถ่าน ฯลฯ และสร้างมลภาวะ อพยพเข้าไปอยู่อย่างแออัดในเมืองเพิ่มขึ้น เกิดปัญหาสงคราม ความรุนแรงทางการเมือง อาชญากรรม ปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอื่นๆ ตามมามากมาย
แนวทางแก้ไขปัญหาคือ ปฏิรูปทั้งระบบโครงสร้างเศรษฐกิจการเมือง เพื่อกระจายความมั่งคั่ง (ของส่วนรวม) ไปสู่คนทั้งประเทศ ทำให้คนทั้งประเทศมีการศึกษาที่มีคุณภาพ มีงานที่เหมาะสมทำและรายได้ที่สูงขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มผลผลิต ทำให้คนทั้งประเทศมีรายได้ในการซื้อผลผลิตและบริการที่จำเป็นเพิ่มขึ้น
แนวทางนี้จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยตกต่ำ ช่วยพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตของคนทั้งประเทศได้อย่างเป็นธรรมทั่วถึง และช่วยลดปัญหาความขัดแย้งทางสังคมลงได้อย่างสำคัญ
ระบบเศรษฐกิจที่เน้นการเก็บภาษีคนรวยและการบริโภคฟุ่มเฟือยมากขึ้น กระจายความมั่งคั่งที่เป็นธรรม ส่งเสริมความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือกัน จะช่วยให้ประชาชนทั้งประเทศหรือส่วนใหญ่มีความสุขความพอใจ, ความมั่งคั่งทางด้านจิตใจ มีคุณธรรม จริยธรรม ได้มากกว่าระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นการแข่งขัน การหาความร่ำรวยแบบตัวใครตัวมัน
ทั้งเรื่องการแบ่งปันอย่างเป็นธรรมและการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศเป็นเรื่องที่ไปด้วยกันได้ดี และต้องทำคู่กันไป ระบบเศรษฐกิจเพื่อระบบนิเวศ ที่เน้นการผลิตและการบริโภคสินค้าและบริการเท่าที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ ใช้ทรัพยากร พลังงานทางเลือก วิธีการผลิตและการบริโภคทางเลือก ฯลฯ
ที่ลดการทำลายระบบนิเวศ/สภาพแวดล้อม ควบคู่ไปกับการแบ่งปันอย่างเป็นธรรมต้องปฏิรูปทั้งระบบโครงสร้างเศรษฐกิจในเท่านั้น ที่จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมเป็นไปอย่างยั่งยืนถึงรุ่นลูกหลานจริง.