จีน เน้นเสริม ความมั่งคั่งในประเทศ ทำประเทศ EM พึ่งพากันเอง หนุน Decouple
“รุแชร์ ชาร์มา” คอลลัมนิสต์จากเดอะไฟแนนเชียลไทมส์ ระบุ จีนยุคใหม่เริ่มให้ความสำคัญกับความมั่งคั่งภายในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Markets) พึ่งพากันเอง หนุนแนวคิด “แยกห่วงโซ่อุปทาน” หรือ Decouple
Key Points
- เศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ยืดหยุ่นท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
- เงินเฟ้อในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ปรับตัวสดใสกว่าในประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา
- จีนยุคใหม่เริ่มสนใจประเทศตัวเองมากขึ้น ทำให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หันมาพึ่งพากันเองมากขึ้น
รุแชร์ ชาร์มา (Ruchir Sharma) นักลงทุน ผู้จัดการกองทุน และคอลัมนิสต์ของสำนักข่าวเดอะไฟแนนเชียลไทมส์(The Financial Times) แสดงความคิดเห็นผ่านบทความในคอลัมน์ว่า
บรรดาตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) อยู่ในช่วงพิสูจน์ให้ทั้งโลกเห็นถึงความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจ จากผลกระทบของภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ขณะเปิดรับกับโอกาสใหม่ท่ามกลางความพยายามแยกห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน(Decoupling)
โดยจากเศรษฐกิจจีนในปัจจุบันที่ยังซบเซาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นนักวิเคราะห์จากวอลล์สตรีทจึงประเมินว่า เศรษฐกิจของบรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อาจซบเซาตามจีนไป ในขณะเดียวกัน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 ก่อให้เกิดวิกฤตในตลาดเกิดใหม่ ดังนั้นนักวิเคราะห์จึงคาดว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยล่าสุดจะให้ผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกัน ยกเว้นเพียงบางประเทศที่อาจไม่เป็นไปตามคาดการณ์
“ในบรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ใหญ่ที่สุด 25 แห่ง จากข้อมูลพบว่าเศรษฐกิจของประเทศราว 3 ใน 4 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในปีนี้ ซึ่งบางประเทศรวมถึงอินเดียและบราซิลมีก็มีแนวโน้มทำกำไรได้อย่างโดดเด่น” ประธานของร็อคกี้เฟลเลอร์ อินเตอร์เนชันแนล (Rockefeller International) กล่าว พร้อมเสริมว่า "คาดการณ์การเติบโตของโลกในปี2566 เพิ่มขึ้น และส่วนใหญ่มาจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งสิ้น"
ด้านบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวเดอะไฟแนนเชียลไทมส์ ระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากเข้าสู่ปี 2563 ด้วยวินัยทางการคลังที่ดีขึ้น ประกอบกับระบบธนาคารที่แข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับทศวรรษที่ผ่าน
ดังนั้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศเหล่านั้นจึงไม่ต้องกู้เงินมากเพื่อใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยมีการขาดดุลเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเพียง 15% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในช่วงปี 2563 ถึง 2565 ซึ่งเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของที่สหรัฐทำการขาดดุลในช่วงดังกล่าว
“แนวคิดเดิมที่มองคำว่า ‘เกิดใหม่’ หรือ ‘เพิ่งเกิดขึ้น’ เป็นที่ให้ความหมายในเชิงลบ ใช้ไม่ได้อีกต่อไปในปัจจุบัน” ชาร์มาระบุ
โดยเมื่อเทียบกับธนาคารกลางสหรัฐแล้ว ธนาคารกลางในตลาดเกิดใหม่ไม่ได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดขึ้น ซึ่งการเข้าไปแทรกแซงตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้หลายประเทศในกลุ่มเกิดใหม่เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว ในขณะที่สหรัฐยังมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในปีนี้
ชาร์มายังตั้งข้อสังเกตว่า อัตราเงินเฟ้อในประเทศกำลังพัฒนามักจะแซงหน้าอัตราของประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ในปัจจุบัน "ไม่เป็นเช่นนั้น"
ทั้งนี้ ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ก็รับมือกับปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่นอุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่งช่วยให้เอเชียเติบโตขึ้น ในขณะที่การส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ทำให้การเติบโตของลาตินอเมริกายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะแต่ละประเทศมีจุดเด่นและ “เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ” ไม่เหมือนกัน
โดยกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ยังได้ประโยชน์จากการ "แยกตัว" หรือ Decoupling จากจีนด้วย ชาร์มากล่าวเสริม“ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อชาติตะวันตกต้องการลดความเสี่ยงจากจีน ซึ่งตอบโต้ด้วยการเริ่มพึ่งพาตนเองมากขึ้น”
“ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เคยเติบโตอย่างคับคั่ง จากอานิสงส์ของจีน ซึ่งเป็นหุ้นส่วนการค้าชั้นนำ แต่ความเชื่อมโยงดังกล่าวอ่อนแอลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” ชาร์มากล่าว "เมื่อปักกิ่งเริ่มสนใจพัฒนาความมั่งคั่งในประเทศมากขึ้นประเทศพัฒนาแล้วจึงพยายามลดการพึ่งพาการค้ากับจีน เพื่อสร้างโอกาสให้กับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ"
อ้างอิง