‘ครม.’ส่งต่อรัฐบาลใหม่เคลียร์หนี้ 'สายสีเขียว' กทม.ดันร่วมทุนส่วนต่อขยาย
ครม.รับทราบรายงานหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ทะลุ 7.8 หมื่นล้าน ส่งต่อรัฐบาลใหม่หาทางเคลียร์หนี้ กทม.ดันแนวทาง PPP แก้ปัญหาแทนให้สัมปทาน เลขาฯ ครม.เผยเรื่องนี้เข้า ครม.แล้ว 7 ครั้ง “อนุพงษ์” ชี้จำเป็นต้องช่วยเอกชน หลังต้นทุนการเงินเพิ่มจากดอกเบี้ย
ปัญหาหนี้ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวยังไม่สามารถแก้ไขได้ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความพยายามมาตั้งแต่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 เรื่อง การดําเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2562 โดยมีการตั้งคณะกรรมกรขึ้นมาและได้ข้อสรุปการแก้ปัญหา และได้มีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) 7 ครั้ง แต่ถูกตีกลับให้มีการจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม
ล่าสุดนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะเสนอจ่ายหนี้ค่าติดตั้งระบบรถไฟฟ้าก้อนแรก 22,800 ล้านบาท ให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “BTSC” โดยจะเสนอสภากรุงเทพมหานครในเดือน ก.ค.2566 เพื่อขอใช้เงินสะสมของกรุงเทพมหานครมาจ่ายหนี้ส่วนนี้ แต่ในการประชุมสภากรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 5 ก.ค.2566 ยังไม่มีการบรรจุวาระ
นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้เสนอ ครม.เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2566 เพื่อรับทราบหนี้ 3 ส่วน รวม 78,830.86 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ค่างานโครงสร้างพื้นฐานและค่าจัดกรรมสิทธิ์ 55,034.70 ล้านบาท 2.ค่าดอกเบี้ย ตั้งแต่ปี 2562-2565 จำนวน 1,508.93 ล้านบาท 3.ค่าจ้างงานซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ 22,287.23 ล้านบาท
นายอนุชา บูรพชัยศรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.มีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นำเสนอผ่านกระทรวงมหาดไทย
ทั้งนี้ ครม.รับทราบภาระหนี้จากงานโครงสร้างพื้นฐานและงานซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบการเดินรถของ กทม.ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณ วงเงินรวม 78,830.86 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มี.ค.2566) ที่ กทม.มีภาระต้องจ่ายให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสำหรับเงินกู้โครงสร้างพื้นฐานที่ กทม.ต้องจ่ายในอนาคต ซึ่งเกิดภายหลังจากที่ กทม.หยุดชำระหนี้มาตั้งแต่เดือน ก.ค.2562
สำหรับหนี้ 78,830.86 ล้านบาทที่ กทม.ต้องจ่ายให้กับ BTSC ประกอบไปด้วย ค่างานโครงสร้างพื้นฐานและค่าจัดกรรมสิทธิ์ 55,034.70 ล้านบาท ค่าดอกเบี้ย ตั้งแต่ปี 2562-2565 จำนวน 1,508.93 ล้านบาท และค่าจ้างงานซื้อขาย พร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ 22,287.23 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมี พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 ไปแล้วการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจึงไม่สามารถเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาได้ เพราะจะเป็นผลผูกพันกับ ครม.ชุดต่อไป ดังนั้นการรับทราบหนี้คงค้างที่ กทม.ต้องจ่าย BTSC นั้นเพื่อเป็นข้อมูลที่จะเสนอต่อไปยังรัฐบาลต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหา
ส่งต่อรัฐบาลใหม่แก้หนี้สายสีเขียว
นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวว่า การรายงานแนวทางการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวในครั้งนี้เนื่องมาจาก ก่อนหน้านี้ กทม.ได้เสนอแนวทางการการแก้ปัญหามาให้ ครม.พิจารณาแล้ว แต่ในขณะนั้นกระทรวงคมนาคมได้มีการทักท้วงในบางประเด็นและให้ กทม.ทำข้อชี้แจงเข้ามายัง ครม.ใหม่ และเมื่อ กทม.มีผู้ว่าราชการคนใหม่ก็มีการทำข้อมูลและข้อเสนอเข้ามา ครม.ใหม่ โดยในเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวเสนอเข้า ครม.มาแล้ว 5 ครั้งโดยเป็นการเสนอในรัฐบาลนี้ แล้วถ้ารวมกับช่วง คสช.ด้วยก็รวมมีการเสนอเข้า ครม.มาแล้ว 7 ครั้ง
“กทม.ได้มารายงานข้อมูลต่างๆ ของโครงการให้ครม.รับทราบว่า เหตุการณ์เรื่องของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวกำลังเดินอยู่อย่างนี้ เพื่อให้ ครม.รับทราบเฉยๆ แต่ไม่ได้อนุมัติอะไร และคงต้องเสนอให้รัฐบาลหน้าพิจารณาต่อไป”
ส่วนประเด็นการเสนอ ครม.ในครั้งนี้ รัฐบาลใหม่สามารถนำไปพิจารณาในการแก้ไขปัญหาให้กับ BTSC ได้หรือไม่ เลขาธิการ ครม.กล่าวว่า กทม.ต้องมีการปรับปรุงตัวเลขให้เป็นข้อมูลล่าสุด ซึ่งต้องรวมทั้งภาระหนี้และดอกเบี้ยเข้ามาให้เป็นตัวเลขล่าสุดอีกครั้งก่อนและต้องขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง
กทม.เสนอใช้“พีพีพี”แก้ปัญหา
สำหรับแนวทางการต่อสัมปทานให้กับเอกชนเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินนั้น ทาง กทม.ได้มีการชี้แจงประเด็นนี้ว่า กทม.อยากให้มีการดำเนินการในรูปแบบให้เอกชนร่วมทุนในโครงการของรัฐ (PPP) ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 แทนการให้สัมปทานเอกชน โดยไม่อยากดำเนินการโดยใช้คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหากดำเนินการในรูปแบบ PPP ขั้นตอนต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด
“กทม.เห็นควรที่จะดำเนินการโครงการฯ ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 เพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนมีความรอบคอบ มีการพิจารณาข้อมูลรอบด้านและตรวจสอบได้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในการได้รับการบริการของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ”
นอกจากนี้ กทม.ระบุว่าเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชนและทำให้การบริการสาธารณะเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน จึงเห็นควรสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและงานติดตั้งระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ของโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ในกำกับดูแลของ กทม. เช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นที่รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ
แนะทำสถานะการเงินเสนอ ครม.ใหม่
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รายงาน ครม.ด้วยว่าการนำเสนอเรื่องนี้เข้า ครม.รับทราบเพื่อให้บริษัทเอกชน ซึ่งรับภาระหนี้แทนรัฐบาลอยู่ในขณะนี้มีทางออกให้ได้หายใจได้ เพราะการจ่ายหนี้หยุดมานาน ขณะที่ต้นทุนทางการเงินของเอกชนสูงประสบปัญหาในการขอกู้เงินที่ต้องเจอดอกเบี้ยแพง ซึ่งการออกหุ้นกู้ลำบากหากยังมีปัญหาเรื่องหนี้ที่รัฐบาลค้างจ้ายอยู่ ส่วนข้อเสนอการร่วมลงทุนระหว่างรับและเอกชน เพราะรัฐทำเองก็ขาดทุน อย่างไรก็ตาม การแก้ไขเรื่องหนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลหน้าต้องตัดสินใจ
ด้านสำนักงบประมาณให้ความ เห็นว่า กทม.ควรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อมูลประมาณการวงเงินภาระหนี้สินที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งหมดจนจบสัญญาสัมปทาน ในปี 2572 เปรียบเทียบกับประมาณการรายได้ สถานะทางการเงินของ กทม. และจัดทำข้อเสนอแผนการชำระหนี้ดังกล่าวเป็นรายปี เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของ ครม.ในโอกาสแรก
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำความเห็นในเรื่องนี้ด้วย โดยกระทรวงคมนาคมเห็นควรเสนอ ครม.ชุดต่อไป และให้ กทม.หารือกับกระทวงคมนาคมเรื่องระบบตั๋วร่วม การกำหนดค่าโดยสาร การเชื่อมโยงโครงข่าย ส่วนความชัดเจนข้อกฎหมายว่ารัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณให้ กทม.ได้เพียงใด ให้ กทม.ประสานกับสำนักงบประมาณในรายละเอียด และแนวทางแก้ปัญหาข้อพิพาท และภาระหนี้ระหว่าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กับเอกชน