เปิดประชุมสภา กทม.นัดแรก ไร้วาระจ่ายหนี้ BTS 2 หมื่นล้าน
สภา กทม.เปิดประชุมสามัญนัดแรก 5 ก.ค.นี้ ยังไร้วาระพิจารณา “หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ขณะที่ “ชัชชาติ” ยืนยันเดินหน้าเสนอเคลียร์หนี้ก้อนแรก งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท จ่อนำเงินสะสมจ่ายขาดไปดำเนินการ
รายงานข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า วันที่ 5 ก.ค.2566 จะมีการเปิดประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม ประจำปีพุทธศักราช 2566 ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) โดยในการเปิดประชุมครั้งนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะรายงานผลการดำเนินงานตามญัตติของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จำนวน 6 เรื่อง โดยพบว่ายังไม่มีการนำวาระเกี่ยวกับหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าพิจารณาในการประชุมครั้งนี้
“เรื่องหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ขณะนี้ กทม.ได้เสนอเรื่องดังกล่าวตามขั้นตอนไปแล้ว โดยที่ผ่านมาเรื่องดังกล่าวผ่านการประชุมในคณะกรรมการวิสามัญมาแล้ว 5 ครั้ง คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาติดขัดแล้ว แต่จะมีการบรรจุวาระเข้าสู่สภา กทม.พิจารณาได้เมื่อไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับการเสนอของคณะกรรมการวิสามัญ”
อย่างไรก็ดี กทม.ยืนยันว่าจะเดินหน้าผลักดันแก้ไขปัญหาหนี้คงค้างในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เนื่องจากเข้าใจปัญหาภาคเอกชนที่ได้ลงทุนดำเนินโครงการดังกล่าว และเห็นเป็นรูปธรรมว่ามีการเปิดให้บริการแก่ประชาชนจริง สร้างความสะดวกสบายในการเดินทาง แต่การนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภา กทม.เป็นอำนาจของคณะกรรมการวิสามัญ อีกทั้งในการประชุมสภา กทม.ครั้งนี้เป็นการประชุมนัดแรก หลังจากนี้ยังมีนัดประชุมอีกทุกสัปดาห์ คาดว่าจะผลักดันเรื่องหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อเนื่อง
สำหรับก่อนหน้านี้ นายชัชชาติ ออกมาระบุว่า กทม.จะผลักดันการแก้ไขปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนของค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) วงเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ที่ครบกำหนดชำระ เป็นหนี้ที่ภาคเอกชนลงทุนจริง ซึ่งหนี้ส่วนนี้ กทม.รับทราบและเตรียมการมาตลอด แต่การจ่ายหนี้ให้ภาคเอกชนจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากทางสภา กทม.ก่อน เบื้องต้นหากสภา กทม.อนุมัติก็มีความพร้อมจ่ายหนี้ทันที โดยจะนำเงินสะสมจ่ายขาดที่มีอยู่ราว 4-5 หมื่นล้านบาทไปดำเนินการ
ส่วนหนี้ที่เกิดจากค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง O&M (Operation and Maintenance) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า) และช่วงที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ปัจจุบันอยู่ขั้นตอนพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด คงต้องรอให้ศาลพิจารณาก่อน อีกทั้งต้องรอสภา กทม.พิจารณามูลหนี้ที่เกิดจากสัญญานี้ที่บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ดำเนินการไว้ และต้องสอบถามรัฐบาลว่ามูลหนี้ส่วนนี้ที่เคยมีคำสั่ง ม.44 เกี่ยวกับสัญญาใหม่จะมีแนวทางอย่างไร
สำหรับปัจจุบันหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่าง กทม. โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว แบ่งออกเป็น
- ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า) และช่วงที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
- ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า/เครื่องกล (E&M) รวมกว่า 2.28 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ หนี้ในจำนวนนี้ ปัจจุบันได้มีการยื่นฟ้องและอยู่ในขั้นตอนศาลปกครองพิจารณา แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1.หนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ศาลปกครองพิพากษาให้ กทม. และเคทีร่วมกัน จ่ายหนี้ให้กับบีทีเอส จำนวนประมาณ 11,755.06 ล้านบาท ทั้งในส่วนค่าเดินรถ และซ่อมบำรุง
2.หนี้ก้อนที่ 2 ส่วนค่าเดินรถ และซ่อมบำรุง ที่บีทีเอสได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้จ่ายหนี้เพิ่มอีก ประมาณ 11,068.5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2565
ขณะที่ก่อนหน้านี้ กทม.ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ให้ใช้หนี้บีทีเอส โดยได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2565 ใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย
1.กทม.ไม่สามารถชำระหนี้สินได้เนื่องจากติดเงื่อนไขการเจรจาตามคำสั่งเดิมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นอกจากนี้ กทม.ไม่มีภาระต้องชำระค่าดอกเบี้ย เนื่องจากสัญญาส่วนต่อขยายที่ 1 ไม่ได้มีการระบุไว้
2.การจ้างเดินรถส่วนต่อชยายที่ 2 ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจาก กทม.เพียงมอบหมายให้กรุงเทพธนาคมไปดำเนินการต่อ โดยไม่ได้ทำสัญญาและไม่ได้เสนอต่อสภา กทม. เพื่อเห็นชอบงบประมาณก่อน ดังนั้นจึงไม่ควรมีการก่อภาระหนี้ผูกพันได้
3.กทม.มีการทำสัญญาแค่กับกรุงเทพธนาคม โดย กทม.มีฐานะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นของกรุงเทพธนาคม ดังนั้นเอกชนไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก กทม.
4.กทม.พบว่ามีข้อผิดปกติในสูตรคำนวณค่าโดยสารตามสัญญา ซึ่งอาจทำให้มูลค่าหนี้มีการเปลี่ยนแปลงได้