กกร.ขอรัฐลดค่าไฟเหลือ 4.25 บาท งวด ก.ย.-ธ.ค. 66

กกร.มีความกังวลภาระต้นทุนของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับสูงมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะต้นทุนค่าไฟฟ้าที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมจะพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดที่ 3/2566 (ก.ย.-ธ.ค.66)

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวถึงผลการประชุม โดยมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เข้าร่วม ว่าที่ประชุม กกร.มีความกังวลภาระต้นทุนของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับสูงมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะต้นทุนค่าไฟฟ้าที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมจะพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดที่ 3/2566 (ก.ย.-ธ.ค.66) ซึ่งหากพิจารณาจากปัจจัยที่นำมาคำนวณค่า ft แล้ว พบว่ามีปัจจัยบวกให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้กว่า 10% จากงวดที่ 2 (พ.ค.-ส.ค.66) และคาดว่าไม่ควรเกิน 4.25 บาท/หน่วย จากเดิม 4.70 บาท/หน่วย เนื่องจาก

1.ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยโดยเฉพาะจากแหล่งเอราวัณทยอยเพิ่มจาก 200 เป็น 600 ล้านล้าน ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (MMBTU) ในช่วงปลายปี

2.ปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG ลดลง

3.ราคา LNG Spot ลดลงมากกว่า 30%

4.ราคาพลังงานโลก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

5.ภาระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งงวดที่ 1 และงวดที่ 2 ลดลงเร็ว กว่าแผนด้วยต้นทุนจริง LNG ต่ำกว่าที่เรียกเก็บ Ft แม้ว่าค่าเงินบาทจะยังอ่อนค่าในระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จึงขอให้พิจารณาขยายเวลาการคืนหนี้ให้ กฟผ. จาก 5 งวด เป็น 6 งวด เพื่อให้ค่า Ft ลดลงอีก 10 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่ง กฟผ.จะได้รับเงินคืนครบภายในเดือนสิงหาคม 2568

รวมทั้งขอให้มีการบูรณาการในการจัดหาเชื้อเพลิง LNG โดยมอบหมายผู้นำเข้าหลักเพียงรายเดียวในการจัดหาเพื่อเป็นการสกัด Demand เทียมจาก Shipper หลายรายที่เข้าจัดหาในตลาด สำหรับนำมาผลิตไฟฟ้าในงวดที่ 3/2566 เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสมตามกลไกตลาด และไม่ให้ประเทศเสียเปรียบ โดยจัดหาในราคาเฉลี่ย LNG ในช่วง 14-16 USD/MMBTU ซึ่ง กกร.มีความกังวลว่าหากเข้าสู่ฤดูหนาวจะทำให้ราคา LNG ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการใช้พลังงานในโลก

รายงานข่าวแจ้งว่า กกร.ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ กกพ. ที่มีแนวโน้มลดค่าไฟไม่ต่ำ 20 สตางค์ต่อหน่วย เพราะต้องนำอีก 28 สตางค์ต่อหน่วยคืนหนี้ กฟผ. ทำให้ค่าไฟงวดปลายปีจะลดเหลือประมาณ 4.50 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบัน 4.70 บาทต่อหน่วย ดังนั้น ภายใน 2-3 วันนี้จะยื่นหนังสือในนาม กกร. นำเสนอข้อมูลต้นทุนค่าไฟ 5 ด้านเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาลดค่าไฟงวดปลายปีช่วยเหลือให้เหลือระดับ 4.25 บาทต่อหน่วย หรือน้อยกว่านั้น

 

หวังเร่งตั้งรัฐบาล ‘ฟื้น’ เศรษฐกิจไทย

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เกรียงไกร เธียรนุกูล ระบุ ภาคเอกชนมองว่าหากมีการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว ตามไทม์ไลน์คือแล้วสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้ เศรษฐกิจจะสามารถฟื้น ความเชื่อมั่นนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ที่ขณะนี้ยังคงรอความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาล แต่หากยังดำเนินการล่าช้าอาจส่งผลให้นักลงทุนกลุ่มนี้ เริ่มต้นลงทุนในจุดหมายปลายทางอื่น

นอกจากนี้ หากมีความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ จะส่งผลบวกต่อการเริ่มต้นเบิกจ่ายงบประมาณ เริ่มการลงทุนในส่วนของภาครัฐ ให้เป็นเครื่องยนต์สำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ภาคส่งออกสะดุด ซึ่งการเร่งการใช้จ่ายและการจัดทำงบประมาณเป็นเรื่องเร่งด่วน การจัดตั้งรัฐบาลให้ได้อย่างรวดเร็วและราบรื่นจึงสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้การใช้จ่ายภาครัฐไม่สะดุด จะช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวท่ามกลางความเสี่ยงรอบด้าน 

การตั้งรัฐบาลต้องให้ได้อย่างช้าในเดือน ส.ค.นี้ เพราะหากเว้นว่างไว้นานจะทำให้เสียโอกาส ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว การส่งออกเพิ่งพาไม่ได้ ซึ่งจากการหารือกับ 20 อุตสาหกรรมก็ออกมายอมรับว่า ขณะนี้ออเดอร์เริ่มหดตัวแล้ว ดังนั้น การจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ นอกเหนือจากการพึ่งพาการท่องเที่ยว การลงทุนจากภาคเอกชน และภาครัฐจากงบประมาณเบิกจ่ายเป็นเรื่องสำคัญ

 

กกร.หั่นเป้าส่งออกติดลบ 2%

ด้านประธานสมาคมธนาคารไทย ผยง ศรีวณิช ระบุ ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยภาคการท่องเที่ยวดีขึ้น คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 29-30 ล้านคน เป็นเครื่องยนต์หลักตัวเดียวที่จะพยุงเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ดี กกร.ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังคงเติบโตประมาณ 3-3.5% ตามกรอบเดิมที่เคยประเมินไว้ เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนถูกกดดันจากค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนในระดับสูงที่ 90.6% ต่อจีดีพี ซึ่งทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย ขณะที่ภาคการผลิตมีแนวโน้มชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลก ส่วนมูลค่าการส่งออกประเมินว่าหดตัวมากขึ้นในกรอบติดลบ 2-0% ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อ แม้ยังมีความเสี่ยงจากภัยแล้ง(เอลนีโญ) และหากมีการปรับค่าแรงแต่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปต่ำลงจากที่ประเมินไว้เดิมตามทิศทางราคาพลังงาน โดยจะอยู่ในกรอบ 2.2-2.7% 

ทั้งนี้ การส่งออกที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวโดยเฉพาะฝั่งตะวันตก ภาครัฐควรเร่งสนับสนุนการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ในประเทศที่ยังขยายตัวได้ เช่น จีน อินเดีย และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เพื่อทดแทนการส่งออกในประเทศหลัก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่อ่อนแอลง นอกจากนี้ ภาครัฐควรเร่งผลักดันการเจรจา FTA เพื่อเปิดตลาดใหม่และเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันให้กับผู้ส่งออกไทย