ไฟฟ้าสะอาดเฟส2 ลุ้น 'รัฐบาลใหม่' หนุน ธุรกิจมีพลังงานใช้ตามเงื่อนไขการค้า
ภาคการผลิตกำลังเผชิญความท้าทายใหม่ เช่น หากจะส่งสินค้าไปยังทวีปยุโรป1 ต.ค. นี้ มาตรการ CBAM จะเริ่มทดลองใช้ การผลิตสินค้าจากพลังงานสะอาดจะลดความเสี่ยงที่จะเข้าเงื่อนไขกติกาการค้าใหม่ ๆ ที่อาจกลายเป็นความเสี่ยงของธุรกิจในอนาคต
คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า บอร์ด กกพ. ได้เห็นชอบให้นำความเห็นของประชาชนที่ สำนักงาน กกพ. ได้เปิดรับฟังเกี่ยวกับหลักเกณฑ์อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว (ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทน) ที่การไฟฟ้าเป็นผู้ขายปลีกให้กับภาคอุตสาหกรรมและประชาชน มาปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ ในโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565
อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนต่อจากนี้ จะต้องรอให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีการคำนวณราคาค่าไฟฟ้าสีเขียวที่จะจำหน่ายปลีกแก่ภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชนให้แล้วเสร็จก่อน เพื่อที่จะกำหนดเป็นหลักเกณฑ์อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวที่สมบูรณ์ และคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ประมาณเดือน ส.ค.-ก.ย. 2566 นี้
สำหรับ อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวนั้น จะมีทั้งรูปแบบราคาขายส่งและขายปลีก โดยอัตราขายส่งไฟฟ้า ผู้ผลิตไฟฟ้าจะขายไฟฟ้าให้กับ กฟน. และ กฟภ. ตามอัตราที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีการกำหนดไว้เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2565 ประกอบด้วย ประเภทก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ที่ราคา 2.07 บาทต่อหน่วย, ประเภทพลังงานลม ราคาที่ 3.10 บาทต่อหน่วย และประเภทพลังงานจากแสงอาทิตย์ ราคาที่ 2.16 บาทต่อหน่วย
ส่วนการขายปลีกนั้น ทาง กฟน. และ กฟภ. จะนำต้นทุนค่าไฟฟ้าดังกล่าวมาบวกรวมกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าสายส่งไฟฟ้า และ ค่าบริหารจัดการไฟฟ้า เป็นต้น และคำนวณเป็นค่าไฟฟ้าที่ กฟน. และ กฟภ. จะขายปลีกให้กับอุตสาหกรรมและประชาชนต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในการเปิดรับซื้อรอบแรกที่ กกพ. ได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวจากผู้ผลิตไฟฟ้านั้น บอร์ดกกพ. เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2566 ได้พิจารณาเห็นชอบรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบ กกพ. สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือก จำนวน 175 ราย ปริมาณเสนอขายไฟฟ้าอยู่ที่ 4,852.26 เมกะวัตต์ จากปริมาณที่เปิดรับซื้อทั้งหมดที่ 5,203 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่กกพ. ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 175 รายไปแล้วนั้น เมื่อผู้ประกอบการยอมรับเงื่อนไขจะต้องมีการเซ็นสัญญาภายใน 180 วัน หรือ 6 เดือน ซึ่งหากคำนวณตามกำหนดการและระยะเวลาคาดว่าจะสามารถทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า SCOD (กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Scheduled. Commercial Operation Date:SCOD)) ตามกำหนดในปี 2567-2568 โดยให้เวลาภายใน 2 ปี นับตั้งแต่ครบกำหนดกระบวนการ กรณีกำหนดวัน SCOD ภายในปี 2569-2573
“กกพ. กังวลว่าหากมีการเซ็นสัญญาล่าช้าจะกระทบต่อการเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพราะเอกชนจะต้องใช้เวลาในเตรียมตัวโดยจะต้องนำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปประกอบการจัดหาแหล่งเงินทุนในการก่อสร้าง ฯลฯ ซึ่งหากสัญญาล่าช้าจะดำเนินการในส่วนนี้ไม่ได้ ดังนั้น เอกชนที่จะ SCOD ในปี 2567-2568 ก็ต้องมาเซ็นสัญญาก่อน ซึ่งตอนนี้ให้การไฟฟ้าทำร่างสัญญามาให้กกพ. เพื่อส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ โดยคิดว่าจะอยู่ภายในเงื่อนไข 180 วัน ก็จะไม่เกินเดือน ก.ย.-ต.ค. 2566”
สำหรับความคืบหน้าในการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม เฟส 2 จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ นั้นได้ทำร่างหลักเกณ์ไปแล้ว แต่จะต้องรอให้หลักเกณฑ์ด้านอัตราขายปลีกค่าไฟฟ้าสีเขียว และสัญญาสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ของเฟสแรกเสร็จสิ้นก่อน จึงจะเดินหน้าออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าต่อไป
“ หากเฟสแรกยังไม่เสร็จสิ้นทุกกระบวนการ การดำเนินงานเฟส 2 หากรัฐบาลใหม่อยากจะยกเลิกก็สามารถมีมติออกมาได้ ตอนนี้กกพ. ก็ดำเนินตามมติเดิมเป็นปกติ เพราะหากไม่ทำอะไรก็จะมีความผิดได้ สำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเฟส 2 จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์"
ขณะนี้มีกลุ่มอุตสาหกรรมหลายรายเข้ามาติดต่อใช้ไฟฟ้าสะอาดในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่มากได้แสดงความประสงค์ขอใช้มารายเดียวก็เกือบจะทั้งหมดที่ได้เปิดประมูลไปแล้ว อาทิ อุตสาหกรรมกิจการเกี่ยวกับดาต้าเซ็นเตอร์ อุตสาหกรรมรถยนต์ ทั้งนี้เพื่อให้เข้าเงื่อนไขทางการค้าใหม่ที่ทยอยบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง