'ภาคเอกชน' ห่วงการเมืองบานปลาย หวั่นชุมนุมฉุดท่องเที่ยว-เชื่อมั่นลงทุน

'ภาคเอกชน' ห่วงการเมืองบานปลาย  หวั่นชุมนุมฉุดท่องเที่ยว-เชื่อมั่นลงทุน

ภาคเอกชนจับตาโหวตเลือกนายกฯ ส.อ.ท.ห่วงชุมนุมกระทบท่องเที่ยวช่วงไฮซีซัน “หอการค้า“ ห่วงปัญหาการเมืองลากยาว แนะชุมนุมต้องอยู่กรอบกฎหมาย ”ธุรกิจท่องเที่ยว” ผวาม็อบลงถนน หวั่นเกิดความวุ่นวาย ฉุดบรรยากาศความเชื่อมั่น “ต่างชาติเที่ยวไทย” ช่วงฟื้นจากวิกฤติโควิด

สถานการณ์การเมืองมีความร้อนแรงมากขึ้น หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเมื่อวันที่ 12 ก.ค.2566 ให้ส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคุณสมบัติ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี กรณีการถือหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) รวมทั้งในวันเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับฟ้องกรณีนายพิธาและพรรคก้าวไกลมีนโยบายการหาเสียงในกระเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 

สำหรับสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 ก.ค.2566 ซึ่งทำให้หลายฝ่ายนัดชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองและสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และ ส.อ.ท.คาดหวังว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 1 จะผ่านพ้นไปด้วยความเรียบร้อยและนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ตามไทม์ไลน์ เพื่อดึงภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นในสายตาของนักลงทุนไทยและต่างประเทศ 

ทั้งนี้ ภาคเอกชนพร้อมที่จะร่วมมือทำงานกับทุกรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในช่วงที่เปราะบางและอ่อนไหว อีกทั้งมีหลายเรื่องที่รัฐบาลตัวจริงจะต้องรีบเร่งเข้ามาฟื้นฟูและพัฒนา จัดสรรงบประมาณปีหน้าและอนุมัติการใช้จ่ายภาครัฐ

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถานการณ์การเมืองจะไม่ลุกลามและไม่เกิดเหตุการณ์ไม่พึงปรารถนา อาทิ การชุมนุมประท้วงที่จะส่งผลด้านลบไปถึงบรรยากาศการท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่่นปลายปีนี้ เพราะภาคการท่องเที่ยวถือเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่การส่งออกทั้งปีประเมินว่าจะติดลบ 2-0%”

รวมทั้งการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ทำให้ไทยกำลังเป็นที่จับตามองบนเวทีโลกว่าจะมีบทสรุปไปในทิศทางไหน ซึ่งคาดหวังให้การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่เป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นไปตามครรลอง โดยไม่เกิดการแทรกแซงก็จะเป็นนิมิตหมายที่ดี และทำให้ไทยมีจุดยืนบนเวทีโลกอย่างเข้มแข็งในการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศในอนาคต

ขอให้ชุมนุมในกรอบกฎหมาย

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวถึงการชุมนุมทางการเมืองว่า จะกระทบบรรยากาศการท่องเที่ยว ไทย โดยนักท่องเที่ยวจะเดินทางไปพื้นที่ต่างๆลำบากขึ้น และหากมีการชุมนุมคงต้องขอให้ทุกฝ่ายเคารพกฎหมาย โดยขอให้อยู่ในกรอบ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ซึ่งจะเป็นการใช้สิทธิการชุมนุมโดยสงบตามที่กฎหมายกำหนด 

ในขณะที่การพิจารณาคุณสมบัตินายพิธาจะเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นทำให้การได้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ล่าช้า และจะกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมถึงกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ โดยเฉพาะการลงทุนใหม่ที่จะเข้ามาจากต่างประเทศ เพราะนักธุรกิจจะต้องรอดูความชัดเจนในนโยบายที่รัฐบาลจะแถลงต่อรัฐสภาว่าจะบริหารประเทศทิศทางใด

นอกจากนี้การตั้งรัฐบาลล่าช้ายังมีผลต่อการจัดทำงบประมาณปี 2567 โดยเฉพาะงบประมาณในส่วนงบลงทุนที่รัฐบาลรักษาการไม่สามารถอนุมัติงบประมาณส่วนนี้ได้ โดยการทำงานของรัฐบาลรักษาการยังคงอยู่ตามกฎหมายจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ แต่หากต้องขออนุมัติงบประมาณจะต้องส่งเรื่องให้ กกต.พิจารณา

ทั้งนี้ กกร.ประเมินว่าการส่งออกปี 2566 ไม่สดใสและกรณีดีที่สุดจะมีอัตราการขยายตัว 0% แต่มีโอกาสที่จะติดลบได้ เพราะเศรษฐกิจโลกไม่ดี โดยประเด็นเงินเฟ้อในหลายประเทศยังกดดันเศรษฐกิจ ดังนั้นเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนได้ดีขณะนี้ คือ ภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 25-30 ล้านคน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจได้ประโยชน์หลายส่วน และรายได้จากการท่องเที่ยวจะกระจายไปถึงเอสเอ็มอีค่อนข้างมาก

ชุมนุมฉุดมู้ด ‘ต่างชาติเที่ยวไทย’

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ต้องการให้ตั้งรัฐบาลเร็วที่สุดและไม่อยากให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น เพราะจัดตั้งรัฐบาลช้าเท่าไร ผลเสียจะตกอยู่ที่ภาคธุรกิจ โดยหลังจากเลือกตั้งมาแล้ว แม้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา แต่ธุรกิจโรงแรมโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ค่อนข้างเงียบ เพราะภาคธุรกิจที่รับงานจากภาครัฐหยุดกิจกรรมการจัดประชุมและสัมมนา

“หากปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการชุมนุมตามมา จะยิ่งไม่ดีต่อบรรยากาศการท่องเที่ยว เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวคนไหนที่อยากเดินทางมาแล้วหวาดระแวงเรื่องความปลอดภัย ยิ่งสมัยนี้มีโซเซียลมีเดีย หากเกิดการชุมนุม มีการถ่ายภาพและวิดีโอออกไปทำให้ข่าวออกไปนอกประเทศรวดเร็วและเป็นเรื่องจริงด้วย นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นจะกังวลในเรื่องเหล่านี้มาก”

นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า กังวลว่านายพิธาจะรอดจากข้อกล่าวหายาก ซึ่งต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ขนาดนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ทำรายการ ชิมไปบ่นไป ยังโดนเลย ยิ่งพรรคก้าวไกลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 112 ก็ถูกสกัดการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีจาก ส.ว. และนายพิธามาเจอกรณีนี้ก่อนวันโหวตนายกรัฐมนตรี ยิ่งทำให้ ส.ว. เอามาเป็นเหตุผลไม่โหวตให้ ที่เป็นห่วงคือหากเกิดการชุมนุมแล้วมีความวุ่นวาย จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัวได้ 

ตั้งรัฐบาลช้ากระทบธุรกิจ-ลงทุน

นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการ แอตต้า กล่าวว่า โดยเบื้องต้นประเด็นหลักของภาคเอกชนคือ ต้องการรัฐบาลใหม่เข้ามาทำงานให้เร็วที่สุด ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นพรรคใดหรือฝ่ายใด แต่อยากให้ผ่านกระบวนการตามขั้นตอนทั้งหมด และจัดตั้งเป็นรัฐบาลใหม่ขึ้นมาให้ได้ เพื่อให้สามารถผลักดันงบประมาณออกมา ทำหน้าที่ขับเคลื่อนประเทศไทยต่อไป ส่วนนี้ถือว่าสำคัญมากที่สุด

“พอเกิดกรณี กกต.ขึ้นมาแบบนี้ อาจทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไป แน่นอนว่าส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยาของทั้งธุรกิจ นักลงทุน และประชาชน รวมถึงส่งผลกระทบในแง่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้อยากให้เข้าสู่กระบวนการของการแก้ไขปัญหา และก้าวผ่านไปให้ได้ เพราะการที่ทุกอย่างจะไปขึ้นอยู่กับนายพิธาเพียงคนเดียว ก็คงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องมากนัก พรรคก้าวไกลและพรรคร่วมรัฐบาลต้องหาวิธีแก้ไขเพื่อเดินข้ามปัญหาตรงนี้ไปให้ได้”

สำหรับความกังวลกรณีนี้จะส่งผลทำให้เกิดการลงถนนชุมนุมประท้วงขึ้นมา และกระทบกับธุรกิจหรือการท่องเที่ยวนั้น ในส่วนของภาคเอกชนท่องเที่ยว จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ณ เวลานี้ยังไม่เห็นความกังวลต่อตลาดการเดินทางท่องเที่ยว เพราะที่ผ่านมาเจอปัญหาแบบนี้ต่อเนื่องมาหลายปี หลังจากมีรัฐบาลทหารมากว่า 8 ปี ภาพเหล่านี้มันหมดไปในช่วงแรกๆ ก็จริง แต่ช่วงหลังๆ ก็มีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ในแง่ธุรกิจ หากมีการประท้วงขึ้นในอนาคต ก็คงไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก เพราะภาคธุรกิจมีประสบการณ์ในการรับมือแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือการประท้วงต้องไม่นำไปสู่ความรุนแรง”

ด้านความคืบหน้าการทำงานร่วมกันของ 7 สมาคมท่องเที่ยวในฐานะสมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย หรือ เฟตต้า (FETTA) ขณะนี้มีการหารือร่วมกันเพื่อจัดทำข้อเสนอถึงรัฐบาลใหม่ ในแง่การสนับสนุนและผลักดันภาคการท่องเที่ยวไทยแล้ว โดยจะหารือร่วมกันอีกครั้ง และเมื่อมีรัฐบาลใหม่จะนำเสนอทันที

มั่นใจรัฐบาลใหม่ดันเศรษฐกิจได้

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวในงานสัมมนา ”จัดทัพลงทุนต้อนรับรัฐบาลใหม่ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกผันผวน” จัดโดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทยและสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยพอไปได้ไม่ว่า พรรคการเมืองใดจะมาเป็นรัฐบาลจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้ไม่ยากลำบากนัก 

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องติดตามสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ คือ จะมีนโยบายอะไรที่จะผลักดันให้ประเทศมีศักยภาพ โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ซึ่งขณะนี้ถือว่าไทยกำลังกินบุญเก่า และเรื่องนี้จะมีผลต่อตลาดหุ้นในอนาคต รวมทั้งยังมีประเด็นเม็ดเงินที่จะไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย จะทำอย่างไรที่จะดึงเม็ดเงินเข้ามาในไทยได้ โดยทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าวยังไม่เห็นว่ามีพรรคการเมืองใดมีนโยบายชัดเจน

นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่จะวางตัวอย่างไรท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศขนาดใหญ่ของโลก ซึ่งไทยจะได้รับแรงกดดันจากประเทศขนาดใหญ่เพื่อให้เลือกข้าง ซึ่งหวังว่ารัฐบาลควรวางตัวเป็นกลาง 

“ผมมองกรณีปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐจะเป็นคู่กรณีที่ต้องจับตานอกเหนือจากสงครามยูเครนกับรัสเซีย”

เศรษฐกิจโลกถดถอยกระทบไทยน้อย

รวมทั้งไทยจะได้รับผลกระทบจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยไม่มากนัก โดยเศรษฐกิจปี 2566 จะขยายตัว 3% บวกลบ ขณะที่ อัตราเงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำ และไม่เป็นแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกมากนัก ดังนั้นปี 2566 จึงเป็นโอกาสของนักลงทุนในหุ้นที่ดัชนีมีโอกาสรีบาวน์ขึ้นมาและในตลาดตราสารหนี้ เพราะทุกครั้งที่ธนาคารกลางสหรัฐต่อสู้กับเงินเฟ้อจะเป็นช่วงที่ตราสารหนี้น่าลงทุน

นอกจากนี้ เมื่อเกิดมรสุมขึ้นไม่จำเป็นที่ทุกประเทศจะได้รับผลกระทบเท่ากัน โดยกรณีเอเชียและไทยได้รับผลกระทบแบบหางแถว ซึ่งเหตุที่ไทยได้รับผลกระทบแบบหางแถว เพราะเป็นประเทศพึ่งการส่งออก และเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลบวกจากภาคการท่องเที่ยวที่ขณะนี้มีทิศทางดีขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยปี 2566 จะมีถึง 29-30 ล้านคน และมีสัญญาณว่านักท่องเที่ยวจากจีนจะเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มเที่ยวบินของสายการบิน

“หัวใจของปีนี้ คือ ขอให้ธุรกิจประคองตัวเองให้ไปได้ ถ้าประคองไปได้จะเป็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ ขณะที่การลงทุนในหุ้นมีโอกาสเยอะ เพราะทุกครั้งที่มีวิกฤติแล้วหุ้นจะรีบาวน์ ตอนนี้รออีกนิด ส่วนตลาดตราสารหนี้ยังเป็นตลาดน่าสนใจ เช่น เงินของโลกวิ่งไปหาตลาดพันธบัตรในสหรัฐถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ในระยะ 12 เดือนที่ผ่านมา เพราะสหรัฐขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนการลงทุนในบิทคอยน์อย่าเพิ่งถอดใจ เพราะตัวหลักๆยังอยู่ ทุกวิกฤติมีโอกาสจึงต้องพยายามมองหา”