เจโทร – หอการค้าญี่ปุ่น พบ 'สภาพัฒน์' มั่นใจศก.ไทยครึ่งปีหลัง-หนุน 'อุตฯ EV'
ผู้บริหาร “เจโทร” – “หอการค้าญี่ปุ่น” เข้าพบ “สภาพัฒน์” มองครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว พร้อมแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องการเพิ่มศักยภาพการลงทุนของไทยทั้งนโยบาย LTR และ EV
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภายหลังหารือกับนาย Kuroda Jun ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ณ กรุงเทพฯ (Japan External Trade Organization, Bangkok) หรือ “JETRO” และMr. Kato Takeo ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (Japanese Chamber of Commerce, Bangkok) หรือ “JCBB” ว่า JETRO และ JCBB ได้เข้าพบ เพื่อนำเสนอผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นและธุรกิจญี่ปุ่นในประเทศไทย ประจำครึ่งปีแรก พ.ศ. 2566
โดยประธาน JETRO กรุงเทพได้รายงานว่า สภาพธุรกิจของบริษัทร่วมทุน และธุรกิจญี่ปุ่นในประเทศไทยในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาซึ่งสะท้อนจากค่าดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ (Diffusion Index: DI) ลดลงจากปีก่อนเนื่องจากสาเหตุหลักมาจากภาวะเงินเฟ้อ และภาคการส่งออกของประเทศไทยที่ลดลง โดยระดับดัชนี DI ครึ่งปีแรกอยู่ที่ระดับ 21 จุดลดลงจากปลายปี 2565 ที่อยู่ที่ระดับ 24 จุด
อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่าค่าดัชนีในช่วงครึ่งหลังของปีเดียวกันจะปรับตัวเป็นบวกโดยคาดว่าจะอยู่ในระดับ 26 จุด โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกที่จะฟื้นตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้
นอกจากนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้แทนภาคเอกชนของญี่ปุ่น ยังได้ร่วมหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในหลายประเด็นต่างๆที่จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยมีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน เช่น การใช้ประโยชน์จากวีซ่าพำนักระยะยาว (Long-Term Resident Visa: LTR Visa)
เพื่อดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทย ควบคู่ไปกับการสร้างและยกระดับทักษะแรงงานในประเทศเพื่อผลิตกำลังคนสมรรถนะสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย การสร้างประเทศไทยให้เป็นเป้าหมายการค้าการลงทุนที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็งสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตชิปต้นน้ำ การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และยานยนต์ไฮบริด (Hybrid)
ซึ่งในเรื่องนี้ต้องทำไปควบคู่กับการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในประเทศให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยด้วย