'เจโทร' ยกทัพสินค้า-อาหารญี่ปุ่น รุกตลาดไทย ขยายไปต่างประเทศ
'เจโทร' ยกทัพสินค้า-อาหารญี่ปุ่น รุกตลาดไทย ขยายไปต่างประเทศ โดยงาน'เจแปน พาวิลเลียน'ปีนี้ เจโทรตั้งเป้าสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารญี่ปุ่น ได้มากกว่าหรือเทียบเท่ารายได้ครั้งก่อน ประมาณ 1,900 ล้านเยน
“ไทยเฟ็กซ์ เอนูก้า เอเชีย 2023” (THAIFEX – ANUGA ASIA 2023) หนึ่งในงานมหกรรมจัดแสดงสินค้าและอาหารนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับมาแล้ว องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ไม่พลาดจัดแสดงสินค้าเกษตรและอาหารญี่ปุ่นผ่านบูธ “เจแปน พาวิลเลียน” ติดต่อกันเป็นปีที่ 11 ไม่นับรวมปี 2563 และ 2564 ที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ปีนี้เจโทรยกทัพสินค้าเกษตรและอาหารญี่ปุ่นหลากหลายประเภท มานำเสนอให้กับลูกค้าชาวไทยและลูกค้าต่างชาติ อาทิ เนื้อวากิว อาหารทะเล มันเทศ ส้มยูซุและส้มชีกวาซ่า ชาเขียว ขนม และเหล้าญี่ปุ่น จากทั้งหมด 33 บริษัท และ 4 องค์กร มาให้ผู้ประกอบการเลือกสรรไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน
ส่วนธนาคารญี่ปุ่นก็เชิญธุรกิจอาหารอีก 16 บริษัทเข้าร่วม เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่น และขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารญี่ปุ่นให้มากยิ่งขึ้น
กรุงเทพธุรกิจสัมภาษณ์ “คุโรดะ จุน” ประธานเจโทร เกี่ยวกับความคาดหวังในการจัดงานปีนี้ รวมทั้งประเด็นที่ว่า เจโทรมีสินค้าญี่ปุ่นประเภทใดที่อยากผลักดันและส่งเสริมการขายในไทยมากที่สุด
คุโรดะ บอกว่า "เจโทรต้องการขยายตลาดสินค้าญี่ปุ่นไปยังต่างจังหวัดของไทยมากกว่าที่จะผลักดันสินค้าตัวใดตัวหนึ่ง เนื่องจากตลาดสินค้าและอาหารญี่ปุ่นในกรุงเทพฯค่อนข้างอิ่มตัวแล้ว"
นอกจากนี้ เจโทรยังพยายามผลักดันและส่งเสริมสินค้าอาหารญี่ปุ่นไปยังตลาดเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาวและกัมพูชาเพิ่มด้วย
ข้อมูลจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงญี่ปุ่น ระบุว่า สินค้าเกษตรและอาหารญี่ปุ่นที่เป็นที่นิยมและต้องการในตลาดไทยมากที่สุด คือ เนื้อวัว มันญี่ปุ่น เหล้าบ๊วย และสตรอว์เบอร์รี
ส่วนสินค้าที่สร้างรายได้มากที่สุดในประเทศไทยเมื่อปี 2564 คือ ปลาทูนา โดยมีมูลค่าการค้าสูงถึง 7,700 ล้านเยน รองลงมาเป็นหนังหมู มูลค่าการค้า 5,400 ล้านเยน อันดับที่ 3 ปลาซาร์ดีน มูลค่าการค้า 3,300 ล้านเยน อันดับที่ 4 ปลาซาบะ 2,700 ล้านเยน และอันดับที่ 5 เนื้อวัว 1,800 ล้านเยน ในส่วนของปลาที่จำหน่ายในไทย มีทั้งปลาที่ผ่านการแปรรูปเพื่อนำไปผลิตปลากระป๋องในไทย และปลาสดที่นำไปแร่เนื้อเพื่อทำเป็นซูชิหรืออาหารญี่ปุ่นในร้านอาหารต่าง ๆ
ทั้งนี้ หนังหมูที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่นจะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหนัง
งานเจแปน พาวิลเลียนปีนี้ เจโทรตั้งเป้าว่า จะสามารถสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารญี่ปุ่นได้มากกว่าหรือเทียบเท่ารายได้จากครั้งก่อน ซึ่งการจัดแสดงสินค้าเมื่อปี 2565 สร้างรายได้ประมาณ 1,900 ล้านเยน หรือราว 506 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาในไทยยังมีอุปสรรคอยู่ 2 ด้าน ได้แก่ กฎระเบียบที่ไม่อนุญาตนำเข้าสินค้าบางชนิด และมาตรการควบคุมการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ เช่น การตรวจสอบศัตรูพืชในสินค้าเกษตร หรือการตรวจสอบสารตกค้างในอาหาร นอกจากนี้ ผู้ประกอบการญี่ปุ่นบางแห่งยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับกฎระเบียบนำเข้าสินค้าของไทยได้
ด้วยอุปสรรคเหล่านี้ เจโทรและสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย จึงร่วมกันจัดตั้งแพลตฟอร์มให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าญี่ปุ่นมายังประเทศไทยให้ราบรื่นมากขึ้น
ขณะที่เยี่ยมชมบูธสินค้าญี่ปุ่น พบว่า มีทั้งผู้ประกอบการหน้าใหม่และหน้าเก่าเข้าร่วมงานในครั้งนี้ โดยธุรกิจที่เคยจัดแสดงสินค้ามาก่อน กลับมางานนี้อีกครั้งเพราะต้องการขยายฐานลูกค้าเพิ่ม ขณะที่ธุรกิจที่มางานครั้งแรก ต้องการเปิดตัวสินค้าให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
สำหรับสินค้าที่ได้รับความนิยมในวันแรก คาดว่า เป็นส้มยูซุและส้มชีกวาซ่า ที่ธุรกิจสายรักสุขภาพอาจถูกใจ ขณะเดียวกัน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ญี่ปุ่น ก็มีผู้ประกอบการเข้าชมบูธอยู่ไม่น้อยเช่นกัน
เมื่อถามถึงกลุ่มลูกค้าที่ต้องการ ผู้ประกอบการญี่ปุ่นส่วนใหญ่บอกว่า อยากได้กลุ่มลูกค้าที่เป็นร้านอาหารหรือบริษัทนำเข้า
ทั้งนี้ การคัดเลือกบริษัทเข้าร่วมงาน เจโทรประเทศญี่ปุ่นจะเปิดรับสมัครบริษัทที่สนใจ จากนั้นก็คัดเลือกสินค้าที่คาดว่าเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการไทย โดยให้คะแนนและจัดอันดับ บริษัทใดได้คะแนนสูงจะได้มาจัดแสดงสินค้าที่นี่ ซึ่งการให้คะแนนพิจารณาจาก ประเภทของบริษัท ความพร้อมของธุรกิจ ดูว่าธุรกิจมีสินค้าอะไรบ้าง หรือมีสินค้าที่กฎหมายไทยห้ามนำเข้าหรือไม่
คุโรดะ กล่าวว่า “ประเทศไทยถือเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารญี่ปุ่นที่สำคัญมาก เนื่องจากญี่ปุ่นส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้ ประมง และอาหารของญี่ปุ่นมาไทยในปี 2565 มีมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 8"
ส่วน 3 อันดับแรกที่ญี่ปุ่นส่งออกไปมากที่สุดคือ จีน ฮ่องกง และสหรัฐ เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารญี่ปุ่นมากเป็นอันดับที่ 3 รองจากเวียดนาม และสิงคโปร์
นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมายาวนาน และไทยมีร้านอาหารญี่ปุ่นจำนวนมาก ทำให้การส่งออกสินค้าเหล่านี้มากขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันคนไทยค่อนข้างชื่นชอบประเทศญี่ปุ่น จึงคาดว่าสินค้าเกษตรและอาหารของญี่ปุ่นจะสามารถเติบโตยิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต
คุโรดะ ฝากถึงผู้ประกอบการ ร้านอาหาร ตัวแทนจำหน่ายหรือธุรกิจนำเข้าใดที่สนใจสินค้าญี่ปุ่น สามารถเข้ามาพูดคุยหรือเจรจาทางธุรกิจได้ที่เจแปน พาวิลเลียน ตั้งแต่วันนี้จนถึง 26 พ.ค. สำหรับบุคคลทั่วไปสามารถเยี่ยมชมได้ในวันเสาร์ที่ 27 พ.ค. ที่อิมแพค เมืองทองธานี กรุงเทพฯ