กรมประมงแนะเลี้ยงกุ้งขาวสิชล 1 โตไว ปลอดโรค

กรมประมงแนะเลี้ยงกุ้งขาวสิชล 1 โตไว ปลอดโรค

"กุ้งขาวสิชล1" จากกรมประมง เผยเลี้ยงง่าย โตไว ปลอดโรค ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมการเลี้ยงในประเทศไทยได้ดี อีกหนึ่งทางเลือก สร้างรายได้ให้เกษตรกร

          กุ้งขาวสิชล 1... ผลงานวิจัยของกรมประมงที่ศึกษาวิจัยพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554 ผ่านการทดสอบการเลี้ยงจริงในบ่อดินจนประสบความสำเร็จ กรมประมงผลิตกุ้งขาวสิชล 1 พันธุ์ขยายเพื่อส่งต่อลูกพันธุ์คุณภาพให้กับเกษตรกรมาตั้งแต่ปี 2564 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลไทยให้รองรับกับความต้องการของตลาด ตลอดจนเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก เพราะกุ้งขาวนับเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศษฐกิจของประเทศไทยปีละไม่ต่ำกว่าห้าหมื่นล้านบาท 
          นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงพัฒนากุ้งขาวสิชล 1 ขึ้น โดยชูคุณสมบัติที่โดดเด่น คือ เลี้ยงง่าย โตไว ไร้โรค ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมการเลี้ยงในประเทศไทยได้ดี ให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้เกษตรกรได้ทดลองเลี้ยง กรมประมงได้กระจายพันธุ์กุ้งสิชล 1 สู่ภาคการเพาะเลี้ยง ด้วยการแจกจ่ายพ่อแม่พันธุ์กุ้งไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งทั่วประเทศ เพื่อเพาะขยายพันธุ์และจำหน่ายลูกพันธุ์ให้กับเกษตรกรได้นำไปทดลองเลี้ยงในฟาร์ม

กรมประมงแนะเลี้ยงกุ้งขาวสิชล 1 โตไว ปลอดโรค กรมประมงแนะเลี้ยงกุ้งขาวสิชล 1 โตไว ปลอดโรค กรมประมงแนะเลี้ยงกุ้งขาวสิชล 1 โตไว ปลอดโรค

 

มั่นใจว่าด้วยคุณสมบัติพันธุ์และระบบการอนุบาลที่ได้มาตรฐานการผลิตกุ้งที่ปลอดเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค 8 โรค ได้แก่ โรคตัวแดงดวงขาว (WSSV) โรคทอร่า (TSV) โรคกล้ามเนื้อขาวหรือกล้ามเนื้อตาย (IMNV) โรคแคระแกร็น (IHHNV) โรคหัวเหลือง (YHV) โรค covert mortality nodavirus (CMNV) โรคตายด่วนเนื่องจากแบคทีเรียที่ทําให้เกิดตับวายเฉียบพลัน (EMS-AHPND) และเชื้อ Enterocytozoon hepato penaei (EHP) อีกทั้งยังสามารถเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปโดยไม่จำเป็นต้องใช้อาหารสดเพื่อลดการติดเชื้อต่างๆ เข้าสู่พันธุ์กุ้ง จึงส่งผลให้เกษตรกรได้เปิดใจลองเลี้ยงกุ้งสายพันธุ์นี้เพิ่มมากยิ่งขึ้น 
            กรมประมงส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งขาวสิชล 1 พร้อมแนะนำให้ใช้จุลินทรีย์ของกรมประมง ในการช่วยควบคุมคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อมในบ่อให้สมดุล ตลอดจนติดตามผลการเลี้ยงของเกษตรกรอย่างใกล้ชิดมาตลอดระยะเวลา 2 ปี ซึ่งจากการรายงานในปี 2564 - 2565 พบว่า มีเกษตรกรมากกว่า 50 รายเริ่มเลี้ยงกุ้งขาวสิชล 1 ในพื้นที่ 32 จังหวัด สามารถผลิตกุ้งได้ประมาณ 3,000 ตัน รวมมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท 

" จากผลการตอบรับของเกษตรกรในหลายๆ พื้นที่ กล่าวได้ว่า “กุ้งขาวสิชล 1 เป็นทั้งทางเลือกและทางรอด” สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่ต้องการเลี้ยงกุ้งฝ่าวิกฤตในช่วงนี้ นอกจากนี้กรมประมงได้จัดอบรมให้เกษตรกรได้มีความรู้ในการเพาะเลี้ยงกุ้งสิชล 1 เพื่อให้ได้กุ้งคุณภาพและมาตรฐาน ตลอดจนการสร้างช่องทางการตลาดเพื่อเพิ่มโอกาสในการขายให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น สำหรับเกษตรกรผู้สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง โทร. 0-2579-4496 "

กรมประมงแนะเลี้ยงกุ้งขาวสิชล 1 โตไว ปลอดโรค กรมประมงแนะเลี้ยงกุ้งขาวสิชล 1 โตไว ปลอดโรค

 

นางนภัทร ธราพร เจ้าของกุ้งเพชรฟาร์ม จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ทางฟาร์มได้ทดลองเลี้ยงกุ้งขาวสิชล 1 ประมาณกลางปี 2564 เนื่องจากมีนักวิชาการกรมประมงลงพื้นที่มานำเสนอและให้คำแนะนำให้ทดลองเลี้ยงกุ้งสายพันธุ์คุณภาพ ปลอดโรค ที่กรมประมงได้มีการปรับปรุงพันธุ์ได้ล่าสุด โดยเริ่มต้นทางฟาร์มได้ซื้อลูกพันธุ์กุ้งสิชล 1 มาทดลองเลี้ยงและปล่อยลงในบ่อดินพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ จำนวน 2 บ่อ จำนวน 180,000 ตัว สามารถจับผลผลิตขนาด 50 ตัว/กก. จำนวน 3,400 กก. คิดเป็นมูลค่า 697,000 บาท ปัจจุบันทางฟาร์มฯ ยังคงใช้พันธุ์กุ้งขาวสิชล 1 อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไว้วางใจเรื่องสายพันธุ์กุ้งของกรมประมง ซึ่งเป็นการช่วยป้องกันปัญหาเรื่องโรคระบาดในการเลี้ยงกุ้งทะเล  นอกจากนี้ทางฟาร์มยังให้ความสำคัญในเรื่องของการจัดการของเสียภายในฟาร์มโดยใช้จุลินทรีย์ของกรมประมงเพื่อผลิตกุ้งทะเลคุณภาพจากฟาร์มออกสู่ตลาดต่อไป 
          นางอรัญญา ประมวลสุข เจ้าของอรัญญาฟาร์ม จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ประมาณปี 2565 ทางฟาร์มได้ทดลองเลี้ยงกุ้งขาวสิชล 1 เนื่องจากทราบมาว่าเป็นกุ้งขาวสายพันธุ์ใหม่ของกรมประมงที่โตไว ซึ่งเดิมทางฟาร์มประสบปัญหาเรื่องกุ้งโตช้า บางครั้งเลี้ยงมา 90 วัน กุ้งขาวยังโตไม่ได้ขนาด จึงลองเปิดใจลงลูกพันธุ์กุ้งขาวสิชล 1 ในบ่อดิน จำนวน  2 บ่อ พื้นที่ประมาณ 4 ไร่ ควบคู่ไปกับการใช้จุลินทรีย์ของกรมประมงอาทิตย์ละ 2 ครั้ง และการเตรียมความพร้อมบ่อเลี้ยงก่อนลงพันธุ์กุ้ง ซึ่งผลจากการเลี้ยงออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจอย่างมากพันธุ์โตไว ส่งผลให้จับผลผลิตขายได้เร็วขึ้นเป็นการช่วยลดต้นทุนได้มากขึ้น และจากการเก็บข้อมูลการเก็บเกี่ยวผลผลิตในปี 2565 ทางฟาร์มสามารถลงเลี้ยงกุ้งได้ 3 รอบ ผลิตกุ้งขาวได้รวม 10.5 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,787,500 บาท   
          ว่าที่ร้อยตรี อวยชัย สุภัตราภรรณ์ เจ้าของฟาร์มกุ้งทอง และฟาร์มสาธิตการเลี้ยงกุ้งขาวสิชล 1 จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า  ทางฟาร์มฯ ได้ทดลองเลี้ยงกุ้งขาวสิชล 1 ในปี 2565 เนื่องจากเจ้าหน้าที่กรมประมงได้ลงพื้นที่มาเสนอให้ทดลองเลี้ยงกุ้งขาวสิชล 1 โดยชูจุดเด่นที่ว่า เป็นสายพันธุ์กุ้งคุณภาพ ปลอดโรค โตไว น้ำหนักดี ทางฟาร์มจึงสนใจและทดลองเลี้ยงในบ่อดินเริ่มต้น 2 บ่อ ซึ่งผลออกมาเป็นที่พึงพอใจ เนื่องจากกุ้งโตไวและน้ำหนักดี จากปกติเลี้ยงกุ้งขาวสายพันธุ์อื่นจะใช้เวลาในการเลี้ยง ประมาณ 4 เดือน

แต่สำหรับ กุ้งขาวสิชล 1 ใช้เวลาในการเลี้ยงเพียง 3 เดือน ส่งผลให้ประหยัดต้นทุนการเลี้ยงได้มากยิ่งขึ้น โดยรอบแรกสามารถลงกุ้งประมาณแสนกว่าตัว/ไร่ สามารถได้ผลผลิต 23 ตัว/กิโลกรัม ถือเป็นขนาดที่ตลาดต้องการและได้ราคาอยู่ที่ประมาณ 230/กก. ปัจจุบันทางฟาร์มเลี้ยงกุ้งขาวสิชล 1 ประมาณ 10 กว่าบ่อ ซึ่งผลผลิตออกมาเป็นที่พึงพอใจจะเห็นได้จากปี 2565 ทางฟาร์มฯ สามารถจับผลผลิตได้ประมาณ 13,168.25 กิโลกรัม  คิดเป็นมูลค่า 2,931,061 ล้านบาท 
          นายมานพ รัตนเดโช เจ้าของมานพฟาร์ม จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ทางฟาร์มได้ทราบข้อมูลผลการเลี้ยงกุ้งขาวสิชล1 จากเพื่อนๆในกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งทะเลจึงมีความสนใจและได้ซื้อลูกกุ้งขาวสิชล 1 จากกรมประมงมาทดลองเลี้ยงในบ่อขนาด 4 ไร่ จำนวน 400,000 ตัว โดยพื้นที่การเลี้ยงอยู่ในพื้นที่ที่น้ำมีความเค็มต่ำโดยเฉลี่ยประมาณ 5 พีพีที การเลี้ยงจะใช้จุลินทรีย์ของกรมประมง ควบคุมคุณภาพน้ำตั้งแต่เริ่มปล่อยกุ้งจนถึงการจับ โดยพบว่าขี้เลนในบ่อมีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด กุ้งขาวสิชล1 มีสุขภาพแข็งแรงดี การเจริญเติบโตจัดเป็นกุ้งที่โตเร็ว สามารถเลี้ยงได้ตามแผนการผลิตที่วางไว้ กุ้งขาวสิชล1 สามารถเลี้ยงได้นานเกิน 60 วัน โดยไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ  จนกระทั่งเมื่อกุ้งมีอายุ 83 วัน ทางฟาร์มก็เริ่มจับกุ้งจำหน่าย สามารถได้ผลผลิตขนาดเฉลี่ย 57 ตัวต่อกิโลกรัม ได้น้ำหนักผลผลิตจำนวนทั้งสิ้น 4,200 กิโลกรัม ราคาจำหน่าย 170 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 714,000 บาท ได้กำไรเกินเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ แม้จะเป็นการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่ที่มีความเค็มต่ำก็ตาม