'บีโอไอ' กางแผนดึงโรงงาน 'เซลล์แบต EV' เป้าหมายกำลังผลิต '40GWh' ในปี2030
“บีโอไอ”กางแผนดึงลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ EV เป้าหมาย 40 กิกะวัตต์ชั่วโมงภายในปี 2030 เน้นเทคโนโลยีระดับเซลล์หลังส่งเสริมในไทยแล้วกว่า 14 โครงกาารเตรียมดันมาตรการEV 3.5 เสนอรัฐบาลใหม่รักษาโมเมนตั้มตลาดรถในประเทศ ชี้ค่ายรถเตรียมเพิ่มการลงทุน EV อีกหลายรายวางไทยเป็นฐาน
Key points
- ไทยประสบผลสำเร็จในการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศ จากมาตรการEV3.0 ทำให้ยอดจดทะเบียนรถ EV เพิ่มขึ้นเกิน 100%
- เป้าหมายของไทยในปี 2030 คือมีการผลิตรถ EV30% ของปริมาณการผลิตรถทั้งหมดในประเทศ
- นอกจากการส่งเสริมการผลิตรถEV รัฐยังส่งเสริมอุตสาหกรรมและชิ้นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะโรงงานผลิตแบตเตอรี่
- แบตเตอรี่ที่รัฐส่งเสริมคือระดับเซลล์ และเน้นไปที่โรงงานขนาดใหญ่ เพื่อส่งเสริมให้มีกำลังการผลิตได้ถึง 40GWh ภายในปี 2030
"อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า" หรือ "อีวี" ของไทยกำลังเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว จากมาตรการเชิงรุกในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะรถยนต์ BEV เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การเดินบนเส้นทางอุตฯอีวียังมีต่อ
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ตลาดรถอีวีในประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดดโดยใน 2 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตเกิน 100% การขยายตัวนี้ยังทำให้ประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตรถอีวีของภูมิภาค โดยปัจจุบันมีบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนรถอีวีในไทยแล้วกว่า 14 โครงการ มีกำลังการผลิตรวมกว่า 2.76 แสนคันหากมีการผลิตครบเต็มจำนวน รวมทั้งมีการส่งเสริมให้มีการลงทุนในสถานีชาร์จอีวีซึ่งปัจจุบันมีการส่งเสริมการลงทุนแล้ว 10 โครงการ รวม 11,600 หัวจ่าย
โครงการแบ่งเป็นโครงการที่ภาคเอกชนจะลงทุนผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถอีวีและโครงการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ที่ใช้ได้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น การผลิตแบตเตอรี่ที่เป็นุปกรณ์กักเก็บพลังงาน (energy storage)
เน้นส่งเสริมโรงงานแบตเตอรี่ระดับเซลล์
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการส่งเสริมการลงทุนการผลิตแบตเตอรี่หลายโครงการแล้วแต่ปัจจุบันการเข้ามาลงทุนในไทยยังเป็นเทคโนโลยีที่เป็นการประกอบแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถอีวีในลักษณะที่เป็น Cell to Pack และ Cell to Module ซึ่งประเทศไทยมีการส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ประเภทนี้ แต่เป้าหมายหลักของไทยในระยะต่อไปคือส่งเสริมให้มีการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่เป็นเทคโนโลยีต้นน้ำคือส่งเสริมให้มีการลงทุนโรงงานที่ผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์แบตเตอรี่
เป้าหมายมีกำลังการผลิตแบตเตอรี่ 40 GWh ภายในปี 2030
ทั้งนี้ โรงงานแบตเตอรี่ที่เป็นเทคโนโลยีระดับเซลล์สอดคล้องกับเป้าหมายการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศหรือเป้าหมาย “30@30” หรือการมีการผลิตรถไฟฟ้าให้ได้ 30% ของยอดการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศหรือต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (BEV)ได้ประมาณ 7.25 แสนคัน นั้นหมายความว่าต้องมีกำลังการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศเพื่อรองรับการผลิตรถอีวีประมาณ 40 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) โดยขนาดของแต่ละโรงงานการผลิตแบตเตอรี่ควรจะมีขนาดโรงงานละไม่ต่ำกว่า 8 GWh
ถือว่าเป็นเป้าหมายในการทำงานของคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่จะสร้างระบบนิเวศน์การเป็นฐานการผลิตรถอีวีอย่างครบวงจรในประเทศไทย ซึ่งมาตรการสนับสนุนที่บอร์ดอีวีจะให้เงินสนับสนุนผู้ผลิตแบตเตอรี่จะเน้นไปที่โรงงานขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 8 GWh
ตั้งเป้าดึงรายใหญ่สร้างโรงงานเซลล์แบตฯในไทย
โดยในประเทศไทยมีการให้การส่งเสริมการลงทุนไปหลายราย สำหรับ บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับโลกบางรายที่เข้ามาลงทุนผลิตโรงงานประกอบแบตเตอรี่ในไทย เช่นบริษัท Contemporary Amperex Technology Co. Limited (CATL) และบริษัท SVOLT Energy Technology (SVOLT) ต่างก็มีเทคโนโลยีในระดับเซลล์ แต่จากการหารือถึงโอกาสที่จะเข้ามาตั้งโรงงานมที่ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในไทยนั้นจำเป็นที่จะต้องมีดีมานต์รถอีวี ในประเทศไทยในระดับ 1 – 1.5 แสนคันต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่สูง แต่ประเทศไทยต้องพยายามผลักดันให้ดีมานต์ของรถอีวีในประเทศให้อยู่ในระดับที่มากเพียงพอ
ค่ายรถตบเท้าลงทุน EV ในไทย
ล่าสุดมียอดจดทะเบียนรถอีวี แล้วประมาณ 6 หมื่นคัน และตามมาตรการส่งเสริมอีวี 3.0 การผลิตรถอีวีในประเทศไทยเพื่อทดแทนการนำเข้ามาจำหน่ายก็จะเริ่มขึ้นในปี 2567 – 68 ซึ่งก็จะเริ่มมีความต้องการใช้แบตเตอรี่รถอีวี ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นตามลำดับ
“มีอีกหลายค่ารถยนต์จากประเทศต่างๆที่จะเข้ามาเริ่มลงทุนสร้างโรงงาน เช่น บริษัทฉางอัน ออโตโมบิล บริษัท GACAION จากประเทศจีนซึ่งจีนนั้นจะมีอีกหลายรายที่เข้ามาลงทุนในไทยเนื่องจากตามยุทธศาสตร์จีนให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถอีวีพวงมาลัยขวานอกประเทศ”
ขณะที่ค่ายรถยนต์จากที่อื่นๆก็สนใจที่จะเข้ามาลงทุนผลิตรถอีวีในประเทศยุโรป โดยบริษัทเมอร์ซิเดสเบนท์เริ่มลงทุนแล้ว บริษัท BMW มีแผนที่จะเริ่มการลงทุน ส่วนค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทยก็มีความสนใจที่จะเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจากรถสันดาปไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นซึ่งบีโอไอก็พร้อมให้การสนับสนุนในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น
เตรียมเสนอแผนอีวี 3.5 ให้รัฐบาลใหม่พิจารณา
สำหรับมาตรการการส่งเสริมรถอีวี 3.0 ที่จะหมดอายุลงในปีนี้บอร์ดอีวีเตรียมจะเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณามาตรการอีวี 3.5 ซึ่งยังคงมีมาตรการในการสนับสนุนและอุดหนุน เพื่อเป็นการรักษาโมเมนตั้มของตลาดรถอีวีในประเทศให้ยังคงเติบโตต่อเนื่อง เช่นเดียวกับมาตรการสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ในประเทศที่จะมีการให้เงินสนับสนุนซึ่งเป็นเรื่องที่ได้มีการเสนอผ่านมาตรการและได้ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดอีวีแล้วแต่จะต้องรอเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่พิจารณาตามที่บอร์ดอีวีเสนอ
ตามแผนส่งเสริมการลงทุนที่เน้นการขับเคลื่อนทั้งระบบนิเวศของอุตสาหกรรมนั้นๆ ซึ่งในส่วนของอีวีการส่งเสริมการตั้งโรงงานและเทคโนโลยีแบตเตอรี่ การส่งเสริมการผลิตอีวี และการส่งเสริมการใช้อีวี ทั้งหมดมีความเกี่ยวเนื่องและสอดคล้องกัน ขณะนี้รอเพียงรัฐบาลใหม่จะมาเป็นผู้เชื่อมโยงแผนต่างๆให้เดินหน้าสู่เป้าหมายได้ตามความตั้งใจ