กองทุนแบกหนี้อุ้ม “ดีเซล” 32 บาท งัดแผนสำรองเตรียมวงเงินกู้ 5.5 หมื่นล้าน

กองทุนแบกหนี้อุ้ม “ดีเซล” 32 บาท งัดแผนสำรองเตรียมวงเงินกู้ 5.5 หมื่นล้าน

กบน.มีมติใช้กองทุนน้ำมันตรึงราคาดีเซล 32 บาทต่อลิตร บรรเทาผลกระทบประชาชนหลังมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลสิ้นสุด 20 ก.ค.นี้ เผยสถานะกองทุนยังติดลบ 4.9 หมื่นล้าน รอชงรัฐบาลใหม่ต่อมาตรการลดภาษี ชี้สถานการณ์ราคาตลาดโลกยังผันผวน มีวงเงินกู้เหลือรับมือ 5.5 หมื่นล้าน 

หลังจากที่รัฐบาลใช้มาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลมารวม 7 ครั้ง เริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ.2565 ส่งผลกระทบต่อรายได้รัฐ158,000 ล้านบาท โดยการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลจะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ค.2566 และรัฐบาลประกาศชัดเจนที่จะไม่ต่ออายุมาตรการภาษี ซึ่งทำให้กระทรวงพลังงานจำเป็นต้องเตรียมแผนรองรับ โดยเฉพาะการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อดูแลราคาน้ำมัน

ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 16 ก.ค.2566 มีสถานะติดลบ 49,829 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 4,316 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 45,513 ล้านบาท ในขณะที่น้ำมันดีเซลมีการสมทบเงินเข้ากองทุนในปัจจุบันลิตรละ 4.04 บาท โดยการเก็บเงินเข้ากองทุนลดลงตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกที่สูงขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเคยเก็บเงินเข้ากองทุนเกินลิตรละ 6 บาท ในช่วงเดือน พ.ค.2566

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เห็นชอบให้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ 32 บาทต่อลิตร ภายหลังจากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตรจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 ก.ค.2566

สำหรับแนวทางการใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อบริหารจัดการราคาน้ำมันดีเซลดังกล่าว จะดำเนินการตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.2566 ต่อเนื่องไปอีกเป็นระยะเวลาหนึ่งตามสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะดำเนินการได้

ทั้งนี้ คาดการณ์ ณ วันที่ 21 ก.ค.2566 หากราคาน้ำมันดีเซลสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์อยู่ที่ 99.69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้ 1.65 บาทต่อลิตร โดยยังมีเงินจากน้ำมันเบนซินและก๊าซ LPG ไหลเข้ากองทุน 8-9 ล้านบาทต่อวัน อย่างไรก็ตามการตรึงราคาดีเซลที่ 32 บาท จะทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสถานะติดลบ 14.54 ล้านบาทต่อวัน

นอกจากนี้ หากราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกพุ่งขึ้นสูงกว่า 110-125 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องกลับมาทบทวนการใช้กลไกการตรึงราคาอีกครั้ง เนื่องจากภาระอุดหนุนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 บาทต่อลิตร 

สำหรับการรักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในครั้งนี้ เป็นการช่วยเหลือประชาชนไม่ให้เกิดผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในยามที่เศรษฐกิจประเทศกำลังฟื้นตัว และจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยจะพิจารณาบริบทของปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบในการบริหารเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากยังคงมีความเสี่ยงในตลาดน้ำมัน และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็ต้องเตรียมพร้อมสภาพคล่องเพื่อรองรับความผันผวนนั้น รวมถึงต้องคำนึงถึงการบรรเทาผลกระทบต่อรายจ่ายด้านพลังงานของประชาชน

แผนสำรองมีวงเงินกู้ 5.5 หมื่นล้าน

รวมทั้งปัจจุบันแม้ว่าฐานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะยังคงติดลบ แต่สถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นหลังจากได้เงินกู้ยืมเข้ามาเติมในระบบ ตามกรอบวงเงิน 150,000 ล้านบาท ปัจจุบันบรรจุเป็นหนี้สาธารณะแล้ว 110,000 ล้านบาท โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชำระหนี้ให้ผู้ค้ามาตรา 7 ไปแล้ว 55,000 ล้านบาท คงเหลืออีก 55,000 ล้านบาท ที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องกู้เงินเพิ่ม

อีกทั้ง สามารถเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ผ่อนคลายลง โดยเก็บเงินจากน้ำมันดีเซลได้เฉลี่ย 3-4 บาทต่อลิตร 

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงมีความผันผวนด้วยปัจจัยจากทั้งฝั่งดีมานต์และซัพพลาย อาทิ กำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก ภาวะสงคราม และความกังวลในเศรษฐกิจที่ยังคงถดถอย รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวน้อยกว่าคาดเป็นตัวแปรสำคัญในฝั่งดีมานต์ โดยราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลในตลาดโลกช่วง ม.ค.-มิ.ย.2566 อยู่ที่ 98.64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลง 29.38 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจากช่วงสิ้นปี 2565

“กบน.จะใช้กลไกของกองทุนน้ำมันในการตรึงราคาดีเซลไว้ที่ 32 บาทต่อลิตร ให้ได้นานที่สุดจนกว่าจะกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนน้ำมัน เพื่อไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ โดยหลังจากนี้เมื่อมีการตั้งรัฐบาลใหม่แล้วกองทุนจะเสนอไปยังกระทรวงการคลังให้คณะรัฐมนตรีต่อมาตรการลดภาษีสรรพสามิต เนื่องจากเข้าเงื่อนไขกองทุนน้ำมันที่อยู่ในสถานะติดลบและสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังอยู่ในวิกฤติ” นายวิศักดิ์ กล่าว

ส.อ.ท.ชี้ลดผลกระทบประชาชน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ราคาพลังงานถือเป็นต้นทุนหลักของภาคการขนส่งซึ่งจะสะท้อนไปยังราคาสินค้า โดยที่ผ่านมาได้มีการปรับราคาสินค้าขึ้นจากราคาค่าไฟที่เพิ่มขึ้นแล้วครั้งหนึ่งในขณะที่รายได้ของประชาชนยังเท่าเดิมและหากไม่มีการช่วยพยุงราคาน้ำมันอีกก็จะกลายเป็นภาระหนักของผู้บริโภค 

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น 5 บาท จะส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 8-10% สำหรับสินค้าที่ได้รับผลกระทบเยอะจะเป็นสินค้าที่มีน้ำหนักมากบรรทุกเยอะ เช่น พืชผลทางการเกษตร ปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง ในขณะที่บางอุตสาหกรรมอาจไม่ได้รับผลกระทบเลย หรือได้รับผลกระทบเล็กน้อย 2-3% เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 32 บาทต่อลิตรจะช่วยให้บรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจในภาพรวม ประเมินว่าหากราคาน้ำมันโลกอยู่ในระดับที่คาดการณ์ไว้บวกกับแนวโน้วค่าเงินบาทแข็งตัวกองทุนน้ำมันน่าจะช่วยตรึงราคาไว้ได้ถึงสิ้นปี

คาดราคาน้ำมันไม่เกิน 80 ดอลลาร์

นายอิศเรศ กล่าวว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเนื่องจากดีมานต์น้ำมันดิบจากสหรัฐ ยุโรป รวมถึงจีนไม่สูงอย่างที่เคยคาดการณ์ไว้ ตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างซบเซา จึงคาดว่าราคาน้ำมันจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก อย่างไรก็ตามสถานการณ์ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ยังต้องจับตาว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะหรือไม่

รายงานข่าวจาก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent สิ้นสุด ณ วันที่ 14 ก.ค.2566 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 3.18 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 79.69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบดูไบเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 3.80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

รวมทั้งในสัปดาห์นี้คาดการณ์ราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวในกรอบ 78-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากการลดปริมาณการผลิตของซาอุดีอาระเบีย และการลดปริมาณการส่งออกของรัสเซีย ประกอบกับสถานการณ์ในลิเบียและไนจีเรีย ที่ส่งผลให้อุปทานในตลาดโลกตึงตัวมากขึ้น สวนทางกับอุปสงค์

ในขณะที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกมีการปรับขึ้นเช่นกัน โดยน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 5.62 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 99.64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล